thansettakij
จับตา สนค. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มี.ค. ลุ้นตัวเลขไตรมาสแรก

จับตา สนค. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มี.ค. ลุ้นตัวเลขไตรมาสแรก

03 เม.ย. 2568 | 23:40 น.

"พูนพงษ์" ผอ.สนค. แถลงดัชนีเศรษฐกิจ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปช่วงไตรมาสแรก (มกราคม - มีนาคม) คาดการณ์ว่าจะสูงกว่า 1%

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 4 เมษายน 2568 เวลา 10.30 น. นายพูนพงษ์ นัยนาภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสต์ จะเป็นผู้แถลงดัชนีเศรษฐกิจการค้าเดือนมีนาคม 2568

ทั้งนี้ต้องติดตามว่าดัชนีการบริโภคของไทยในเดือนมีนาคม 2568 และไตรมาสแรก (ม.ค. -มี.ค.) หลังจากดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 1.08% 

ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนมกราคม 2568 พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยสูงขึ้น 1.23% ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปช่วงไตรมาสแรก (มกราคม - มีนาคม) คาดการณ์ว่าจะสูงกว่า 1% ขณะที่ภาพรวม ปี 2568 ยังคงคาดการณ์ ว่าจะอยู่ระหว่างร้อยละ 0.3 - 1.3 (ค่ากลางร้อยละ 0.8) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันโดยมีปัจจัยที่สนับสนุนให้ทั่วไปปรับสูงขึ้น

ขณะที่แนวโน้มแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมีนาคม 2568 คาดว่าจะอยู่ระดับใกล้เคียงกับเดือนกุมภาพันธ์ 2568 โดยมีปัจจัยสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย 

  • ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศที่กำหนดเพดาน ไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร โดยสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 29.92 บาทต่อลิตร 
  • การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าโดยสารเครื่องบิน
  • วัตถุดิบต้นน้ำของสินค้าเกษตรบางชนิดราคายังอยู่ระดับสูง โดยเฉพาะพืชสวน เช่น กาแฟ ปาล์มน้ำมัน และมะพร้าว ส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์ขั้นกลางหรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปปรับตัวสูงขึ้น เช่น กาแฟ น้ำมันพืช และกะทิ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีปัจจัยสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ประกอบด้วย 

  • การลดลงของราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลกซึ่งต่ำกว่าปีก่อนหน้า และคาดว่าจะส่งผลให้ราคาแก๊สโซฮอล์ภายในประเทศปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกัน 
  • ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง  
  • ฐานราคาผักสดในปีก่อนหน้าอยู่ในระดับสูง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ขณะที่ในปี 2568 สภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ระบบมากขึ้น
  • การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ