"ทรัมป์" เปิดเกมภาษี ไทยโดนเต็มๆ กระทบเศรษฐกิจ สะเทือนแบงก์

04 เม.ย. 2568 | 06:30 น.

ภาษีทรัมป์ 36% กระแทกเศรษฐกิจไทย นักวิเคราะห์ชี้ แม้แบงก์ไม่ได้รับผลกระทบตรง แต่ลูกค้าธนาคาร-ธุรกิจส่งออกอาจเจอแรงกดดันหนัก แนะจับตาสัญญาณการเปิดทางเจรจา จุดกลับตัวทุนต่างชาติไหลกลับเข้าตลาดหุ้น

นายวทัญ จิตต์สมนึก ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากกรณีสหรัฐฯ ประกาศมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tarrifs) และมาตรการภาษีศุลกากรแบบครอบจักรวาล (Universal Taffifs) ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าไปสหรัฐฯสูงขึ้น โดยไทยจะถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น 36% 

ในความเห็นของทางฝ่ายนั้น มองว่าจากมาตรการของสหรัฐฯ ดังกล่าวจะเป็นลบต่อกลุ่มการเงิน แม้กลุ่มธนาคารจะไม่ได้รับผลกระทบทางตรง แต่ได้รับผลทางอ้อม เพราะลูกค้าของธนาคารอาจกระทบจากคำสั่งซื้อสินค้าที่ลดลง หรือผู้ประกอบการไทยถูกผลกระทบจากสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น รวมถึงอาจมีสินค้าจากคู่แข่งในต่างประเทศทะลักเข้ามาขายในไทยมากขึ้น ซึ่งจะกระทบกับทั้งยอดขาย และความสามาถทำกำไรของผู้ประกอบการไทยลดลงได้

อีกทั้งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นทั้งจากเศรษฐกิจไทยชะลอตัว, การแข่งขันทางการค้าในประเทศสูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยแนวโน้มปรับลดลงในอนาคตเพื่อลดกระทบด้านเศรษฐกิจจะกระทบต่อกำไรของธนาคาร และอาจส่งผลต่อคุณภาพสินเชื่อที่อ่อนแอลงได้ อย่างไรก็ดี ธนาคารมีระดับสำรองหนี้ฯ และเงินกองทุนสูง แข็งแกร่งรับมือกับความไม่แน่นอนได้

รวมถึงผลกระทบทางตัวเลขต่อธนาคารที่ยังประเมินได้ยาก เพราะต้องรอดูการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ ผลกระทบทั้งทางบวกและลบจากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เนื่องจากสินค้าของไทยบางส่วนอาจเป็นลบ แต่บางส่วนอาจได้รับอานิสงค์จากค่าเงินบาทอ่อนค่า และหากสินค้าไทยมีราคาถูกกว่าคู่แข่งก็อาจได้คำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นได้

ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยว กลุ่มการบริโภคในประเทศ และการลงทุนที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศอาจได้รับผลกระทบที่จำกัด นอกจากนี้ โดยเชื่อว่ารัฐบาลอาจต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น

ขณะที่กลุ่มไฟแนนซ์ที่ฐานลูกค้าหลักอยู่ในไทยนั้น มองว่าได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ น้อยกว่าธนาคาร แต่เศรษฐกิจที่ชะลอตัวก็อาจกระทบความสามารถการใช้จ่าย และคุณภาพสินค้าอ่อนแอลงได้เช่นกัน แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นยังยากที่จะประเมินตอนนี้

"แน่นอนในระยะสั้น ราคาหุ้นกลุ่มธนาคาร และไฟแนนซ์ในระยะสั้นมีแนวโน้มผันผวนเพิ่มขึ้นจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นด้านเศรษฐกิจ แนะนำระมัดระวังการลงทุน ทางฝ่ายจะ update สถานการณ์ถึงผลกระทบต่างๆ ที่มีต่อเศรษฐกิจ กลุ่มธนาคารและไฟแนนซ์ หากมีความคืบหน้าต่อไป"

นายวทัญ จิตต์สมนึก กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อถามถึงผลกระทบต่อหุ้นไทยจะมากน้อยแค่ไหนนั้น ส่วนตัวมองว่าผลกระทบน้อยกว่าในระยะสั้น แต่ระยะถัดไปตลาดหุ้นยังมีความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจ การปรับลดกำไร ปรับลดเศรษฐกิจ การผันผวนของ Supply Chain และเป็นไปได้ที่อาจเห็นการลดดอกเบี้ย เพราะภาษีของทรัมป์จะเป็นความเสี่ยงกับเศรษฐกิจ ขณะที่เงินเฟ้อไทยค่อนข้างต่ำ การลดดอกเบี้ยจึงไม่เป็นปัญหา นอกจากนี้ภัยธรรมชาติล่าสุดเป็นอีกปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทย

ส่วนการขึ้นผลกระทบต่อ GDP ไทย และดัชนีตลาดหุ้นมากน้อยแค่ไหน มองว่าในขณะนี้ยังคงเป็นเรื่องที่ประเมินได้ยาก อาจต้องรอดูท่าทีของการเจรจาต่อรองก่อนว่าเป็นไปในทิศทางใด ส่วนโอกาสที่ ธปท. จะลดดอกเบี้ยในปี 2568 หรือไม่นั้น มองว่าเป็นไปได้ที่อาจเห็นการลดดอกเบี้ย เพราะภาษีของทรัมป์จะเป็นความเสี่ยงกับเศรษฐกิจ ขณะที่เงินเฟ้อไทยค่อนข้างต่ำ การลดดอกเบี้ยจึงไม่เป็นปัญหา นอกจากนี้ ภัยธรรมชาติล่าสุดเป็นอีกปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทย

จับตาสัญญาณการเปิดทางเจรจา

บล.บัวหลวง เปิดมุมมองต่อประเด็น "โดนัลด์ ทรัมป์" ประกาศมาตรการภาษีตอบโต้ทางการค้า ว่า ภาษีแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1) การเก็บภาษีขั้นต่ำ (Baseline) 10% ซึ่งจะเรียกเก็บกับสินค้าจากทุกจากประเทศที่สหรัฐฯ นำเข้าสินค้า และ 2) การเก็บภาษีส่วนเพิ่ม (Additional) 10-49% กับหลายประเทศที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูง

สำหรับประเทศหลักที่พึ่งพาการส่งออก ได้แก่ ไทย 36%, เวียดนาม 46%, อินเดีย 26%, เกาหลีใต้ 25%, ไต้หวัน 32%, อินโดนีเซีย 32%, มาเลเซีย 24% กล่าวคือ กลุ่มอาเซียน-เอเชียแปซิฟิก โดนถ้วนหน้า และอยู่ในระดับที่ “เปลี่ยนโครงสร้างการค้า” ได้เลย

กลุ่มประเทศที่เดิมเคยเกินดุลทางการค้ามาก เช่น ไทย, เวียดนาม กลับกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก นอกจากนี้ ยังไม่มีการยกเว้นแม้แต่ประเทศพันธมิตร เช่น อียู, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ สะท้อนว่าแนวทางนี้เป็นเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่ tactical เท่านั้น

ผลกระทบ

  • มาตรการภาษีครั้งนี้เทียบได้กับจุดเริ่มต้นของ “Trade War 2.0” ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงและมีผลกระทบเชิงโครงสร้างมากกว่า Trade War ครั้งแรกในปี 2018
  • บริษัทข้ามชาติจำนวนมากอาจชะลอการลงทุนเพื่อตีความท่าทีของสหรัฐฯ และประเมินความเสี่ยงทางธุรกิจใหม่ ส่งผลต่อ กระแส FDI และวัฏจักรการลงทุน (Capex Cycle) ในภูมิภาคต่างๆ
  • ความเชื่อมั่นใน Global Supply Chain ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในภาคการผลิต ส่งผลต่อ คำสั่งซื้อใหม่ (New Orders) และแผนการขยายกำลังการผลิต
  • แรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้านำเข้าที่สูงขึ้น บั่นทอนความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศผู้นำเข้า
  • ความเสี่ยงของการเกิด “Fragmentation of Trade” หรือการแบ่งขั้วการค้าระหว่างกลุ่มประเทศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจเป็นปัจจัยฉุดการเติบโตของการค้าโลก

สรุปภาพรวม

  • มาตรการภาษีชุดนี้ไม่ใช่แค่กลยุทธ์กดดันเชิงการเมือง แต่ถือเป็นแรงกระแทกเชิงโครงสร้างต่อระบบการค้าโลก หลายประเทศอาจจำเป็นต้องเร่งเข้าสู่กระบวนการเจรจาการค้าใหม่กับสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบในระยะยาว
  • หากการเจรจาการค้าของหลาย ๆ ประเทศล่าช้า หรือไร้ความชัดเจน อาจนำไปสู่ภาวะการลงทุนชะงักงัน การบริโภคหดตัว และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ล่าช้ากว่าคาดการณ์
  • มาตรการนี้จึงอาจกลายเป็น “จุดเปลี่ยนของโครงสร้าง Supply Chain โลก” ที่ผลักดันให้ธุรกิจต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคใหม่ของการค้า ซึ่งเน้นความยืดหยุ่นมากกว่าประสิทธิภาพและการประหยัดต้นทุนการผลิตเพียงอย่างเดียว
  • ในระยะสั้น เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเข้าสู่ภาวะ mid-depth recession หากกระบวนการเจรจาการค้ายืดเยื้อและไร้ความคืบหน้า โดยเราประเมินว่า GDP อาจหดตัวในกรอบ -1.5% ถึง -2.0% ซึ่งถือว่ารุนแรงกว่ากรณี mild recession ที่เคยเป็นสมมติฐานหลักก่อนหน้านี้
  • แรงกระทบหลักจะมาจากการบริโภคที่อ่อนแรงลงจากราคาสินค้านำเข้าที่สูงขึ้น, ความไม่แน่นอนทางนโยบายที่บั่นทอนความเชื่อมั่นภาคเอกชน และความเสี่ยงด้านการค้าโลกที่กดดันคำสั่งซื้อใหม่

กลยุทธ์การลงทุน

แม้ว่าก่อนหน้านี้ฝ่ายวิจัยได้ลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นโลกลงมาแล้ว แต่ผลกระทบจากมาตรการภาษีมีแนวโน้มรุนแรงกว่าคาดการณ์ของตลาด จึงแนะนำให้ปรับน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นต่างๆ ลงเพิ่ม เพื่อลดความเสี่ยงในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหลายๆ ประเทศจะเข้าสู่โต๊ะเจรจากับสหรัฐฯ ทำให้ผลกระทบอาจไม่รุนแรงอย่างที่กังวลกันในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยคาดว่า Turning Point สำคัญของตลาดหุ้นโลก คือ “สัญญาณการเปิดทางเจรจา” ซึ่งคาดจะเป็นจุด Peak ของ Escalation Phase, เป็นจุดกลับตัวของกระแสเงินทุนต่างชาติ (Fund Flow) ที่จะกลับมาเข้าสินทรัพย์เสี่ยง และเป็นจุด Bottom ของตลาดหุ้นทั่วโลกหลังสงครามการค้าคลี่คลาย ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาราว 3 เดือน (เทียบเคียงกับสงครามการค้าปี 2018) โดยจะติดตามพัฒนาการเชิงบวกก่อนกลับมาเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นต่างๆ ต่อไป