กรณีกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างหาแนวทางซื้อหนี้ประชาชน โดยจะเน้นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ในกลุ่มสินเชื่อไม่มีหลักประกันหรือ คลีนโลน (สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล) ที่มีมูลหนี้ต่อรายต่ำกว่า 1แสนบาท อายุหนี้ที่ค้างชำระเกิน 1ปี ซึ่งมียอดคงค้าง 1.24แสนล้านบาท ประมาณ 3.5ล้านราย คิดเป็น 10%ของหนี้เสียรวม 1.2ล้านล้านบาท
โดยเบื้องต้นจะซื้อหนี้ออกมาบริหารด้วยราคาที่ไม่แพง เพราะธนาคารพาณิชย์ต้องการล้างบัญชีเหล่านี้ออก ซึ่งที่ขายกันในปัจจุบันได้กำไรไม่มาก ไม่ถึง 1%และอาจจะใช้แนวทางจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์หรือ AMC ขึ้นมา เพื่อรับซื้อหนี้ดังกล่าว
แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกตุกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า กรณีราคาซื้อที่ไม่แพง ถ้ากรณีที่เป็นตามข่าวไม่ถึง 1% ถ้ารัฐตั้งต้นที่ 1บาทหรือ 1% ส่วนตัวมองว่า รัฐจะสามารถช่วยลูกหนี้ลดหนี้ได้เยอะมาก แต่หากรัฐบังคับซื้อในราคา 1% เป็นราคาต่ำ สถาบันการเงินอาจจะรับได้สำหรับลูกหนี้ขาดอายุความหนี้ค้างชำระเกิน 5ปีขึ้นไปมาแล้ว ส่วนหนี้เสียคลีนโลนที่ค้างชำระไม่เกิน 1 ปี(ประมาณ 4-8เดือน) ราคาที่ 8%เป็นราคาที่บางธนาคารพอจะรับได้
ประเด็นสำคัญคือ ที่มาของเม็ดเงินที่จะซื้อเฉพาะลูกหนี้ที่มีปัญหา 1.24แสนล้านบาท ซึ่งเท่าที่ติดตามจากสื่อ ดูเหมือนรัฐจะต้องใช้เงินทั้งการซื้อหนี้และเติมเงินให้ลูกหนี้ด้วย
ถ้ารัฐบาลตั้ง AMC ขึ้นมาใหม่ อย่างน้อยทุนจดทะเบียน 25 ล้านบาท แค่เพียงธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ให้ความยินยอม แล้วขอจดทะเบียนจัดตั้งกับกระทรวงพาณิชย์ น่าจะแล้วเสร็จภายใน 1เดือน จากนั้น เมื่อดำเนินงานต้องราย งานธปท.เป็นรายไตรมาส
“กระบวนการจดทะเบียนจัดตั้ง AMC ไม่นาน แต่ส่วนตัวเชื่อว่า AMC ใหม่ต้องทำทั้งระบบงานและเตรียมฝึกคนในการเจรจากับลูกหนี้ เพราะทุกวันนี้หาคนติดตามหนี้ไม่ง่าย ซึ่งต้องใช้เวลา"
ในทางปฎิบัติ AMC ที่รัฐจะจัดตั้งขึ้นมาใหม่ จำเป็นต้องว่าจ้าง Out Source ซึ่งเป็น AMC ที่มีในระบบอยู่แล้ว เพราะแต่ละแห่งมีความพร้อมทั้งบุคลากรและที่สำคัญ AMC รายเดิมล้วนมีประสบการณ์ทั้งในส่วนที่รับจ้างธนาคารและซื้อหนี้จากธนาคารมาบริหาร
ส่วนความยากในการติดตามหนี้คือ ลูกหนี้ไม่มีเงิน (ลูกหนี้เป็นหนี้เยอะเกินไป) ยกตัวอย่าง 1 คนมีสิทธิกู้ 50,000บาทต่อราย หากลูกหนี้ยื่นกู้พร้อมกันหลายสถาบันการเงินก็มองไม่เห็น ซึ่งทำให้ลูกหนี้ก่อนหนี้ทุกสถาบันการเงินได้ เพราะกว่ารายงานประวัติเครดิตเป็นเดือน เหตุผลที่ธนาคารให้ส่วนลด เพราะรู้ว่าลูกหนี้มีเจ้าหนี้หลายราย ไม่งั้นลูกหนี้ไปจ่ายหนี้รายอื่น
“ทุกวันนี้ธนาคารให้ส่วนลดลูกหนี้ค่อนข้างมาก 30-50% บางแห่งลดให้ถึง 60% ขึ้นอยู่กับเหตุผลของลูกหนี้ ซึ่งลูกหนี้ทุกคนต่างมีเหตุผลทั้งนั้น ทุกวันนี้ธนาคารพาณิชย์จึงเริ่มฟื้นตัวแล้ว เพราะการให้ส่วนลดลูกหนี้ดีกว่าการขายหนี้ออก ซึ่งจะถูกกดราคา”
อย่างไรก็ตาม การที่รัฐจะซื้อหนี้ออกไปจากสถาบันการเงินนั้น ถือเป็นข้อดี สำหรับลูกหนี้กับ AMC เพราะลูกหนี้ทุกวันนี้น้อยรายจะจ่ายชำระหนี้ ยกเว้นจวนตัวฟ้องบังคับ เพราะลูกหนี้ 1 รายมักจะก่อหนี้มากกว่า 1ประเภทหรือ 1แห่ง ดังนั้น AMCใหม่ รัฐจะต้องออกแบบวิธีการให้ส่วนลดกับลูกหนี้ ราคาซื้อที่เหมาะสม ไม่ทุบระบบธนาคาร หากไม่มีแนวทางบริหารจัดการให้ดีอาจจะเป็นความเสี่ยงต่อระบบ
โดยเฉพาะกระบวนการด้านประวัติเครดิตลูกนั้น ฐานข้อมูลมีความจำเป็นต่อการพิจารณาคุณภาพลูกค้า หากการขายลูกหนี้ออกจากระบบธนาคาร ควรมีมาตรการให้ AMC เข้าสู่ฐานข้อมูลของเครดิตบูโรควบคู่กันไปด้วย เพื่อรักษาระบบฐานข้อมูลไม่ให้หลุดหายไปจากระบบ เพราะมองว่าจะเป็นผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของไทยในอนาคต
“อยากให้ย้อนไปดูวิกฤตปี40 ความสูญเสียมหาศาล ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีฐานข้อมูล ขณะที่ปัจจุบันความเสี่ยงเกิดขึ้นรอบด้าน จึงควรจะจะดึงหน่วยงานต่างๆหรือต่อยอดเครือข่ายให้เครดิตบูโรมีฐานข้อมูลมีความครอบคลุม”
นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวิอร์ค เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า รัฐบาลยังไม่มีรูปแบบ วิธีการเป็นอย่างไรที่ชัดเจนเกี่ยวกับการซื้อหนี้ จึงไม่สามารถให้ความเห็นเรื่องนี้ได้คงต้องรอความชัดเจนก่อน ส่วนสัญญาณการขายหนี้ปีนี้ที่ คาดว่า ครึ่งปีแรกไม่เยอะ น่าจะเริ่มทยอยประมูลขายเอ็นพีแอลออกมาในครึ่งปีหลัง
นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวิอร์ค เซอร์วิส จำกัด(มหาชน)
บรรยากาศคงจะคล้ายกับช่วงธปท.ออกมาตรการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม(RL: Responsible Lending)ต้นปี66 ต่อมาปลายปี67 ธปท.ออกโครงการ”คุณสู้เราช่วย”เพิ่มเติม ส่วนตัวจึงมองว่า ต้องรอให้มาตรการดังกล่าวคืบหน้าจึงจะมีเอ็นพีแอลค่อยไหลลงมาประมูล
"คล้ายกับการแก้ไขหนี้ปีที่แล้ว คงต้องรอให้รัฐบาลแก้ภาพเศรษฐกิจใหญ่ เพื่อทำให้กำลังซื้อหรือกำลังการจับจ่ายใช้สอยกลับมา”
สำหรับเจเอ็มทีปัจจุบันมีพอร์ตลูกหนี้ราว 95% เป็นพอร์ตที่ไม่มีหลักประกัน โดยยังรับซื้อหนี้เพิ่มเข้ามาได้อีกซึ่งปีนี้วางงบประมาณซื้อหนี้ไว้ที่ 2,000 ล้านบาท โดยจะซื้อทั้งหนี้มีหลักประกันและหนี้ไม่มีหลักประกัน แต่ส่วนใหญ่จะไม่มีหลักประกัน ส่วนราคาซื้อจะแปรผันตามคุณภาพลูกหนี้ ซึ่งเราซื้อได้ทุกรูปแบบ
“การบริหารจัดการหนี้ที่เจเอ็มทีซื้อมานั้นจะใช้เวลาเกิน 10ปีในแต่ละพอร์ต ถามว่า กรณีศึกษาการบริหารหนี้ต่างประเทศนั้น ส่วนตัวมองว่า เมืองไทยถือว่าบริหารหนี้ได้เก่งแล้ว เราสามารถ ผ่านประสบการณ์ต้มยำกุ้งมาได้ เพียงให้ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกก็จะดีที่สุดสำหรับการจะซื้อหนี้และบริหารหนี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ”
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,085 วันที่ 6 - 9 เมษายน พ.ศ. 2568