รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยประกาศให้การแก้หนี้ภาคประชาชนเป็น 1 ใน 10 มาตรการเร่งด่วน แต่ดูเหมือนว่า มาตรการต่างๆ ที่ออกมาจะยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นการลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ โครงการ คุณสู้ เราช่วย ที่จำนวนคนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการยังน้อยนิด
ยอดล่าสุดจากการรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)พบว่า ณ 15 มี.ค.68 มีคนที่ลงทะเบียนและคุณสมบัติผ่านเกณฑ์เพียง 4.5 แสนราย ลูกหนี้คิดเป็น 23% ของเป้าหมายที่ 1.9 ล้านราย เป็นเงิน 3.4 แสนล้านบาท คิดเป็น 38% ของเป้าหมายที่ 8.9 แสนล้านบาท
ล่าสุดจึงมีแนวคิดที่จะรับซื้อภาคประชาชนออกจากระบบทั้งหมด แต่ก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า จะดำเนินการอย่างไร ที่จะทำให้หนี้ประชาชนทั้งหมด หรือที่ดูหนี้ครัวเรือนทั้งหมดมีถึง 16.3 ล้านล้านบาทออกจากระบบได้
เพราะยอดหนี้ครัวเรือนดังกล่าว ไม่เพียงเป็นหนี้ในระบบสถาบันการเงินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหนี้ในสหกรณ์ออมทรัพย์ และหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
ล่าสุด กยศ.ก็ถึงขั้นต้องมาขอใช้งบกลางในรายจ่าย ฉุกเฉินหรือจำเป็นถึง 2,838.65 ล้านบาท เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายและให้เงินกู้กับนักเรียน นักศึกษา เมื่อเงินที่จะหมุนเวียนมาปล่อยกู้จากการชำระหนี้ของลูกหนี้กยศ.ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกมาระบุว่า มาตรการดังกล่าวจะออกมาในรูปแบบซื้อหนี้เสียหรือ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เหมือนปี 2540 และเป็นมูลหนี้ที่่มีมูลค่าต่ำกว่า 1 แสนบาท
“กลุ่มนี้จะเป็นหนี้เสียที่ค้างเกิน 1 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อบุคคลหรือนำไปใช้อุปโภคบริโภคที่มีวงเงินไม่มาก มีคนที่เกี่ยวข้องประมาณ 3.5 ล้านคนหรือคิดเป็น 65% ของคนที่เป็นหนี้เสีย มีมูลหนี้ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท คิดเป็น 10% ของ NPL”
ขณะที่เครดิตบูโร หรือ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัดออกมาเปิดเผยตัวเลข ณ เดือนมกราคม 2568ว่า หนี้ในระบบเครดิตบูโรอยู่ที่ 13.6 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้เสีย 1.22 ล้านล้านบาท จำนวน 9.5 ล้านบัญชี คิดเป็น 9% ของยอดหนี้ในระบบเครดิตบูโร และยังมีหนี้ที่กำลังจะเสียหรือ หนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) อีก 5.8 แสนล้านบาท จำนวน 1.9 ล้านบัญชี คิดเป็น 4.3% ของยอดหนี้ในระบบเครดิตบูโร
นอกจากนั้น มีหนี้ที่เคยเสียไปแล้ว นำมาปรับโครงสร้างหนี้อีก 1 ล้านล้านบาท จำนวน 3.7 ล้านบัญชีครับ และยังหนี้
ที่เริ่มค้างชำระหรือเริ่มมีปัญหายังไม่เกิน 90วัน แต่แบงก์เร่งนำมาปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน เพื่อให้กลับมาเป็นหนี้ปกติอีก
9.2 แสนล้านบาท จำนวน 1.7 ล้านบัญชี
ปัญหาหนี้ต่างๆ เหล่านี้ สะท้อน การฟื้นตัวของรายได้ไม่มากพอที่จะรองรับกับภาระหนี้ต่างๆ จนทำให้ภาวะหนี้เข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า วิกฤติและจุดเปราะบางเศรษฐกิจ เพราะไม่ว่าจะกระตุ้นมาตรการอะไรถูกออก ก็จะถูกฉุดรั้งด้วยภาระหนี้สินที่มี ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยทำได้ไม่เต็มที่
โดยเฉพาะหลังการระบาดของโควิด-19 ที่รายได้ประชาชนหยุดชะงักไป ส่งผลให้หนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ กลุ่มนี้มียอดคงค้าง 2แสนล้านบาท จำนวน 2.9 ล้านบัญชี คิดเป็น 2.2 ล้านลูกหนี้
ประเด็นของการซื้อหนี้ประชาชน ก็ยังมีคำถามตามมาว่า จะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่ว่า รัฐบาลจะไม่ใช้เงินเลยสักบาท หรือใช้เงินให้น้อยที่สุด ทั้งการเปิดให้บริษัทบริหารสินทรัพย์หรือ AMC ของรัฐดำเนินการแทน หรือ การเปิดให้ AMC เอกชนดำเนินการ
รูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น AMC รัฐ หรือ AMC เอกชน ปัจจุบันต่างก็ดำเนินการอยู่แล้ว เพียงแต่จะติดขัดเรื่องราคา และเงินทุนในการรับซื้อหนี้เหล่านั้น จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ณ ไตรมาส 4 ปี 2567 มีจำนวนบริษัท AMC ในระบบถึง 87 แห่ง มีการรับซื้อหรือรับโอนหนี้ 275,960 สินทรัพย์รอการขาย 68,035 แต่ที่แอคทีฟจริงๆ มีเพียง 5-6 แห่งเท่านั้น
ดังนั้น หากจะให้ AMC เอกชนที่จะเข้ามารับซื้อหนี้เหล่านี้ จะมี “ศักยภาพทางการเงิน” และ “เครื่องมือจัดการ” มีประสิทธิภาพมากพอหรือไม่ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยืนยันว่า การเข้าไปซื้อหนี้ครั้งนี้ จะใช้งบน้อยที่สุด เพราะยังมีเงินที่ใช้ไม่หมดจากโครงการคุณสู้ เราช่วย 2-3 หมื่นล้านบาทที่กันมาจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF)
"การเข้าไปซื้อก็จะใช้เงินไม่เยอะ อาจจะขอซื้อจากแบงก์ในราคา 1% ของมูลหนี้เสียเท่านั้น เพราะสถาบันการเงินตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญไปครบถ้วนแล้ว"นายพิชัยระบุ
ความสำเร็จของนโยบายนี้ อยู่ที่การจัดหาแหล่งเงินทุน ขณะที่การบริหารหนี้รายย่อย ซึ่งมีจำนวนมาก เป็นจุดแตกต่างกับการแก้ปัญหาสินเชื่อธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันธนาคารพาณิชย์มีการบริหารหนี้เสียผ่านการขายให้กับ AMC อยู่แล้ว
แม้การ "ซื้อหนี้ประชาชน” จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นชีวิตของประชาชนและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่คำถามที่ตามมา รัฐบาลจะวางกลไกให้เป็นการแก้หนี้ระยะยาว ไม่ใช่หวังเพียงผลระยะสั้น แต่สร้างภาระต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว
วิเคราะห์ หน้า 8 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,082 วันที่ 27 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2568