Eco-Anxiety เมื่อโลกป่วย ใจก็เลยป่วยตาม

13 ก.ย. 2566 | 11:44 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2566 | 11:44 น.

Eco-Anxiety เมื่อโลกป่วย ใจก็เลยป่วยตาม : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย...ผศ.ดร.วัชรพงศ์ รติสุขพิมล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,922 หน้า 5 วันที่ 14 - 16 กันยายน 2566

จากวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ มลภาวะประเภทต่างๆ ที่เกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ภาวะโลกรวน ภัยธรรมชาติ รวมไปถึงปัญหาขยะ

โดยที่วิกฤตการณ์ต่างๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนรับทราบ แต่ว่ายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างจริงจัง การรับทราบข่าวสารเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชนจากสื่อต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสื่อสังคมออนไลน์ที่ฉายภาพซํ้าแล้วซํ้าเล่า ทำให้ผู้คนบางส่วนเกิดความรู้สึกหดหู่ใจ เกิดความเศร้าใจ หรือ อาจจะเกิดความรู้สึกวิตกกังวลต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในอนาคตของโลกใบนี้ 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

การที่ผู้คนมีความรู้สึกไม่มั่นคง (unsecured) ต่อชีวิตและโลกใบนี้ และต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ มากมาย จึงเกิดอาการที่เรียกว่า Eco-Anxiety นั่นเอง

โรควิตกกังวลท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ล่มสลาย หรือ Eco-Anxiety นั้น ย่อมาจากคำว่า Ecological Anxiety มีชื่อเรียกอื่นๆ ว่า Eco-Distress หรือ Climate Anxiety

 

โดยการศึกษาเกี่ยวกับ Eco-Anxiety นั้น เริ่มมีมากขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 2007 แต่ว่ายังไม่ได้เป็นที่แพร่หลาย จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2018 นักเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดนที่ชื่อว่า Greta Thunberg ได้ออกมาพูดถึงอาการวิตกกังวลจากวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ที่ตนเองกำลังเผชิญอยู่ จึงทำให้คำว่า Eco- Anxiety เริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น 

ความหมายของคำว่า Eco- Anxiety นั้น สมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychology Association: APA) อธิบายไว้ว่า เป็นความกลัวเรื้อรังต่อความหายนะด้านสิ่งแวดล้อม ที่มาจากการเฝ้าสังเกตผลกระทบที่ดูเหมือนไม่สามารถแก้ไขได้ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยมีความกังวลต่อความเป็นอยู่ในอนาคตของคนในรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นต่อไป หรือสามารถอธิบายได้ว่า เป็นอาการวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่นำมาซึ่งความเครียด ว่าโลกของเราในอนาคตจะเป็นอย่างไร จนเกิดเป็นอาการป่วยทางจิตใจขึ้นมา

ถ้าหากความวิตกกังวลดังกล่าวมีมากจนเกินไป ก็จะทำให้เกิดอาการต่างๆ ที่ส่งผลทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไล่ตามระดับความรุนแรงจากน้อยไปมาก เช่น เริ่มรู้สึกผิดต่อการกระทำของตนเองที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นำไปสู่ปัญหาการนอนไม่หลับ

ระดับต่อมา ก็คือ การไม่สามารถให้ความสนใจกับสิ่งสำคัญอื่นๆ ได้ เช่น การทำงาน การเรียน ความสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆ เปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง และเมื่อเกิดความกังวลขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถมีส่วนช่วยในการแก้ไขในสิ่งที่เกิดขึ้นได้ จึงนำมาสู่การตื่นตระหนก (Panic Attack) เมื่อเห็นเหตุการณ์ที่สิ่งแวดล้อมโดนทำลาย

และสุดท้าย อาจนำไปสู่ความรู้สึกสิ้นหวัง และ เฉื่อยชาต่อสิ่งที่เกิดขึ้น จนไม่อยากออกมาดำเนินชีวิตในแต่ละวัน

โดยอาการเหล่านี้ มักเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่มีความผูกพันต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติมาก เช่น นักนิเวศวิทยา นักสิ่งแวดล้อม นักเคลื่อนไหวทางสังคม เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่ตระหนักถึงผลกระทบมากที่สุด ซึ่งทำให้คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรค Eco-Anxiety มากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ

นอกจากนี้ ความรุนแรงของอาการจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เยาวชนที่เกิดมาพร้อมกับวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอยู่ทั่วโลกแล้ว  

อย่างไรก็ตาม ภาวะวิตกกังวลจากสิ่งแวดล้อมที่พังทลายนั้น ไม่ใช่อาการที่มาจากการวินิจฉัยทางการแพทย์ แต่เป็นเพียงอาการจากอารมณ์หงุดหงิดทางใจ ที่จิตใจตอบสนองต่อความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน

โดยภาวะวิตกกังวล หรือ ความหงุดหงิดใจนั้น สามารถส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมทั้งในแง่บวก หรือ แง่ลบ ถ้าบุคคลนั้นๆ รู้สึกว่า ตนเองยังสามารถเป็นส่วนช่วยในการขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมได้ ก็จะนำไปสู่พฤติกรรมเชิงบวก และความวิตกกังวลก็จะบรรเทาลงด้วยการลงมือ ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม

แต่ถ้าบุคคลนั้น ไม่สามารถมีส่วนที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ ก็จะนำไปสู่พฤติกรรมเชิงลบ ความรู้สึกสิ้นหวัง และเพิ่มความรุนแรงของภาวะวิตกกังวลมากขึ้น 

                             Eco-Anxiety เมื่อโลกป่วย ใจก็เลยป่วยตาม

แล้วเราจะดูแลตัวเองอย่างไร และดูแลโลกของเราอย่างไร เพื่อให้เราไม่เป็น Eco-Anxiety คำตอบที่ง่ายที่สุดก็คือ ให้ลองเริ่มจากการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ หรือ การใช้ชีวิตของตัวเอง ค่อยๆ เปลี่ยนให้เป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น ให้ตัวเราเองได้มีส่วนช่วยโลกใบนี้ให้รู้ว่าโลกยังมีความหวัง ยังไม่พังถึงจุดที่เราไม่สามารถทำอะไรได้

ความคิดนี้จะช่วยทำให้เรามีความสุขกับการได้ช่วยโลก ไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม การฝึกไตร่ตรอง หรือ วิเคราะห์ข่าว บทความออนไลน์ หรือข้อมูลต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาเกี่ยวกับเรื่องวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเลือกรับเฉพาะเรื่องที่มีประโยชน์ต่อเรา และไม่ทำให้เรารู้สึกวิตกกังวลมากไปกับการรับผิดชอบร่วมกันในปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้

การมีสังคม หาเพื่อนเพื่อพูดคุย แบ่งปันประสบการณ์แนวคิดร่วมกัน การลดการรับรู้ข่าวสารจากสื่อต่างๆ การรู้ข้อจำกัดของตนเองว่า ช่วยแก้วิกฤตได้ระดับใดที่ไม่ทำให้ตนเองเดือดร้อน หรือ ลำบาก การเข้าไปมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งเนื่องจากจะช่วยให้เราสามารถ มองเห็นความเป็นไปได้ในการรักษาไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมในอนาคต

และอีกหนทางหนึ่งที่ต้องช่วยกันทำ คือ พยายามส่งเสียงไปถึงภาครัฐ หน่วยงานต่างๆ และบรรดาผู้ผลิตทั้งหลายให้ลงมือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจริงๆ จังๆ ไปด้วยกัน ภาครัฐจึงควรเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ให้เกิดความยั่งยืนหรือเพิ่มความเข้มงวดในการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการก่อมลพิษจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 

ท้ายสุดนี้ การเรียนรู้ชีวิตและมองโลกอย่างที่เป็น รวมไปถึงการทำความเข้าใจถึงอนิจจัง หรือ ความไม่แน่นอน ตามหลักทางพระพุทธศาสนาก็อาจเป็นอีกหนทางหนึ่ง ที่ทำให้เรามองการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมชาติของทุกสรรพสิ่ง ปล่อยวาง อย่ายึดติดว่าโลกใบนี้เป็นของเรา

เพราะว่าท้ายที่สุดแต่ละคนก็ต้องจากโลกนี้ไป แต่ว่าโลกใบนี้ก็ยังคงอยู่สำหรับลูกหลาน เดินทางสายกลาง อย่าดำเนินการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแบบสุดโต่ง จนเบียดเบียนตนเอง จนทำให้เกิดความทุกข์

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะเพิกเฉยต่อการเปลี่ยนแปลงที่แย่ลงนั้น ตรงกันข้าม ถ้าเรามีปัญญา เราควรจะต้องหาสาเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลง และพยายามแก้ไขวิกฤตการณ์ต่างๆ อย่างสุดกำลังความสามารถที่มีอย่างมีสติ โดยไม่ต้องกังวลกับผลลัพธ์ที่จะตามมาว่าจะ สำเร็จหรือไม่อย่างไร ก็อาจจะทำให้ลดความวิตกกังวลกับปัญหาความไม่เที่ยงของโลกใบนี้ของเราได้เช่นกัน