รางวัล Ig Noble และเศรษฐศาสตร์

16 ส.ค. 2566 | 11:29 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2566 | 11:29 น.

รางวัล Ig Noble และเศรษฐศาสตร์ : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ดร.ปฐมวัตร จันทรศัพท์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,914 หน้า 5 วันที่ 17 - 19 สิงหาคม 2566

ในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี นักวิชาการทั่วโลกจะเฝ้ารอการประกาศผลรางวัลโนเบล (Noble Prize) รางวัลที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติในสาขาต่างๆ แต่ก่อนหน้านั้นช่วงกลางเดือนกันยายน มีรางวัลที่สำคัญอีกรางวัลหนึ่งที่อาจจะไม่เป็นที่รู้จักมากนักแต่ก็มีความน่าสนใจมาก นั่นคือ รางวัล อิก โนเบล (Ig Noble Prize) 

เกณฑ์ในการมอบรางวัล อิก โนเบล คือ “หัวเราะก่อน คิดทีหลัง (First make people laugh, and then make them think)” รางวัลนี้มีการแบ่งแยกเป็นสาขาคล้ายกับรางวัลโนเบล เช่น ชีววิทยา, เคมี, แพทย์, ฟิสิกส์, สันติภาพ, วรรณกรรม รวมทั้ง เศรษฐศาสตร์

 

 

ตัวอย่างของความ “หัวเราะก่อน คิดทีหลัง” เช่น แมวเป็นของแข็งและของเหลวในเวลาเดียวกันหรือไม่? (ได้รับรางวัลในสาขาฟิสิกส์ประจำปี 2017), เมื่อไหร่ขาเม้าท์จะพูดเรื่องจริงและเมื่อไหร่ที่จะพูดโกหก (ได้รับรางวัลในสาขาสันติภาพประจำปี 2022), การเล่นรถไฟเหาะตีลังกาเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดหินปูนที่ไตหรือไม่ (ได้รับรางวัลใน สาขาการแพทย์ประจำปี 2018)

และแน่นอนว่า อิก โนเบล ในสาขาเศรษฐศาสตร์ มีความ หัวเราะก่อน คิดทีหลัง ไม่แพ้ด้านอื่นๆ โดยผู้เขียนจะเล่าถึงงานวิจัยที่ได้รางวัลในสามปีหลังสุด ในปี 2020
 


 

งานวิจัยที่ได้รับรางวัลทำเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมการจูบในแต่ละประเทศ ว่ามีความสัมพันธ์กับการ กระจายรายได้ หรือไม่

งานวิจัยนี้มาจากฐานคิดที่ว่า ความรักจะทรงคุณค่ามากขึ้นในยามที่อยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก (อาจจะนึกถึงการเป็นกำลังใจให้กันและกัน) เพราะฉะนั้นผู้วิจัยจึงตั้งสมมติฐานว่า คู่รักที่อยู่ในประเทศที่ยากจนซึ่งสะท้อนได้จากความเหลื่อมลํ้าในรายได้ น่าจะมีการแสดงความรัก เช่น การจูบ, การกอด, การมีเพศสัมพันธ์มากกว่าคู่รักที่อยู่ในประเทศที่รํ่ารวย

ผู้วิจัยพบว่า ในบรรดาวิธีการแสดงความรักต่อกัน การจูบมีความสัมพันธ์ต่อค่าสัมประสิทธิ์จินี (ค่าสัมประสิทธิ์จินีคือ ค่าสัมประสิทธิ์ที่ใช้วัดความเหลื่อมลํ้าในรายได้ในแต่ละประเทศ) ยิ่งไปกว่านั้น การจูบยังมีความสัมพันธ์กับค่าสัมประสิทธิ์จินีมากกว่าการกอดและการมีเพศสัมพันธ์ถึงห้าเท่า  

 

 

รางวัล Ig Noble และเศรษฐศาสตร์

 

ถัดมารางวัล อิก โนเบล ในทางเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2021 เป็นการศึกษาถึงความอ้วนของคณะรัฐมนตรี และ การคอร์รัปชันของนักการเมืองในกลุ่มประเทศที่เคยเป็นสมาชิกของสหภาพโซเวียต 15 ประเทศ

ผู้วิจัยใช้ระบบ AI (Artificial Intelligent) คำนวณดัชนีมวลกาย (Body Mass Index) ของรัฐมนตรีแต่ละคนในแต่ละประเทศจากรูปที่ปรากฎต่อสาธารณะ โดยมีสมมติฐานว่า ความอ้วนของรัฐมนตรีส่งผลในทิศทางบวกกับขนาดการคอร์รัปชันของนักการเมืองในประเทศนั้น

โดยพบว่า คณะรัฐมนตรีของประเทศในแถบทะเลบอลติก ได้แก่ เอสโตเนีย, ลิทัวเนีย และ ลัทเวีย มีดัชนีมวลกายน้อยที่สุด

ในขณะที่คณะรัฐมนตรีของประเทศในแถบเอเชียกลาง ได้แก่ เติร์กเมนิสถาน, ทาจิกิสถาน และ อุซเบกิสถาน มีดัชนีมวลกายมากที่สุด ซึ่งเมื่อนำผลดังกล่าวไปเทียบกับดัชนี TICP (Transparency International Corruption Perception Index) ซึ่งเป็นดัชนีคอร์รัปชันที่ได้รับการยอมรับก็พบว่า สอดคล้องกัน 

และงานวิจัยชิ้นสุดท้ายที่ผมจะขอกล่าวถึงคือ รางวัล อิก โนเบล ในทางเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2022 นักวิจัยตั้งคำถามง่ายๆ ว่า ปัจจุบันนี้เรายอมรับกันว่า จำนวนของคนฉลาด และคนโง่มีเท่าๆ กัน แต่ทำไมคนที่ประสบความสำเร็จจึงมีน้อยกว่าคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ

เพราะฉะนั้น คำถามของนักวิจัยกลุ่มนี้คือ ความฉลาดและการทำงานหนัก กับโชคอะไรมีผลต่อความสำเร็จในชีวิตมากกว่ากัน? 

นักวิจัยได้ข้อสรุปที่ค่อนข้างประหลาดว่า โชคมีผลมากกว่าความฉลาดตั้งต้นและการทำงานหนัก

อย่างไรก็ตาม ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งด่วนสรุปว่า เพราะฉะนั้น พวกเราเลิกทำงานหนักและตั้งหน้าตั้งตารอโชควาสนาแต่เพียงอย่างเดียวดีกว่า เพราะผู้วิจัยกล่าวถึงข้อจำกัดในงานของเขาคือ โชคของพวกเขาเกิดจากการสุ่มแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ในขณะที่โชคในชีวิตจริงอาจมาในรูปของโอกาสที่เกิดจากการทำงานหนัก ซึ่งประเด็นนี้ผู้เขียนเชื่อว่ามีส่วนจริง ดังจะเห็นได้จากผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตแทบทุกคนล้วนแต่ไม่เคยถูกลอตเตอรีรางวัลใหญ่ 

สุดท้ายนี้ สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามการประกาศผลรางวัล อิก โนเบล ประจำปี 2023 ที่จะจัดขึ้นในเวลา 05.00 น. ของวันที่ 14 กันยายน 2566 ตามเวลาในประเทศไทย