ระเบิดเวลาประชานิยม

02 ส.ค. 2566 | 13:21 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ส.ค. 2566 | 13:22 น.

ระเบิดเวลาประชานิยม : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย...ดร.กติกา ทิพยาลัย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,910 หน้า 5 วันที่ 3 - 5 สิงหาคม 2566

นโยบายจากภาคการเมืองเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้ประชาชนสามารถรับรู้และรับทราบได้ว่า พรรคการเมืองมีแนวคิดอย่างไรต่อการพัฒนาประเทศในแง่มุมต่าง ๆ หรือ จะให้อะไรกับพวกเขาบ้างหลังจากการเข้ามาทำงานเป็นตัวแทนของประชาชนในฐานะรัฐบาล

โดยนโยบายนั้นก็จะมีหลากหลายรูปแบบ แต่นโยบายที่ประชาชนให้ความสำคัญมากที่สุด น่าจะเป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการสังคม และส่วนใหญ่ก็จะครอบคลุมตั้งแต่ เด็ก จนถึง วัยชรากันเลยทีเดียว ซึ่งนโยบายที่ภาคการเมืองพูดถึงกันนั้น ส่วนใหญ่จะใช้งบประมาณกันต่อปีค่อนข้างมาก โดยรวมอาจจะใช้ถึงหลายแสนล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว

 

 

ในมุมหนึ่งนโยบายทางสังคมนั้น เป็นนโยบายที่น่าสนใจ เป็นกลไกที่สามารถเข้ามาช่วยลดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มความเท่าเทียมได้เป็นอย่างดี

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เหรียญ ย่อมมี 2 ด้าน ในอีกมุมหนึ่งนั้นการออกนโยบายทางสังคมถ้ามากจนเกินไปจนกลายเป็น “นโยบายประชานิยม” หรือ “Populism” ย่อมจะส่งผลร้ายเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นในทางสังคม หรือ ในเชิงผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจ
 

นโยบายประชานิยมได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมานี้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ในอดีตเคยต่อต้านการนำนโยบายประชานิยมมาใช้ อาทิเช่น ประเทศเยอรมัน ญี่ปุ่น และ สวีเดน แต่ในปัจจุบัน ผู้นำของประเทศเหล่านี้ล้วนหันมาใช้นโยบายประชานิยมในการรักษาฐานเสียงของตนไว้ทั้งสิ้น

ถึงอย่างไรก็ตาม หากเราย้อนกลับไปมองในอดีต นโยบายประชานิยมนั้น ได้ถูกนำมาใช้กันยาวนานหลายพันปี เริ่มต้นครั้งแรกในยุคโรมัน ซึ่งในตอนนั้นการปกครองถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนระหว่าง Populares หรือ กลุ่มการเมืองที่ให้ความสำคัญกับประชาชนผ่านการใช้นโยบายที่เกี่ยวข้อง และ กลุ่ม Optimates ที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้มีอำนาจชั้นสูงเท่านั้น ซึ่งยุคโรมันกลุ่มผู้มีอำนาจเก่านั้นก็คือ กลุ่มสมาชิกวุฒิสภา (Roman Senate)

 

 

 

ระเบิดเวลาประชานิยม

ถึงอย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนโยบายประชานิยมได้เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่น เหล่านโยบายที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการเก็บภาษีในอัตราที่สูง และการเพิ่มเงินช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ ที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มประเทศแถบยุโรปตะวันตก

มากไปกว่านั้นนโยบายประชานิยมได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลังการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลก ในปี 2007-2008 ซึ่งตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ นโยบายการลดอัตราภาษี และนโยบายการเพิ่มอิสระในการบริหารจัดการให้กับภาคธุรกิจที่รู้จักกันดีในชื่อของ Tea Party Movement โดยมีเจตนารมณ์ในการตอบสนองต่อความยากลำบากทางเศรษฐกิจ และปากท้องของประชาชนในประเทศสหรัฐอเมริกา

อีกทั้งในช่วงปี 2014 พรรคการเมืองในยุโรปส่วนใหญ่ ที่เน้นนโยบายประชานิยม ต่างก็ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส หรือ อังกฤษ

มากกว่านั้น ยังมีอีกหลายประเทศที่ได้เดิมตามเส้นทางของนโยบายประชานิยม โดยเฉพาะผู้นำจากกลุ่มประเทศในแถบอเมริกาใต้ ไม่ว่าจะเป็น Hugo Chavez และ Nicolas Maduro จากเวเนซุเอลา Refael Correa แห่งเอกวาดอร์ Evo Morales แห่งโบลิเวีย หรือ Juan Peron ของอาร์เจนตินา

โดยผู้นำประเทศทั้งหมดที่ได้กล่าวมานี้ ได้มีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับประชานิยมทั้งสิ้น โดยจะใช้หลักการมุ่งเน้นไปที่การลดความเหลื่อมล้ำ และการกระจายความมั่งคั่งอย่างทั่วถึงของประชาชนในประเทศ 

มาถึงตรงนี้ผู้อ่านทุกท่าน อาจจะสงสัยถึงความหมายของคำว่า “ประชานิยม” ว่าจริงๆ แล้วหมายถึงอะไร นักวิชาการบางสำนักได้กล่าวว่า ประชานิยม คือ แนวคิดทางการวางโครงสร้างนโยบายที่มุ่งเน้นการต่อต้านผู้นำสังคม (Anti-elitism) และจะเน้นไปที่การออกนโยบายที่มีผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก (People-centrism) ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดที่เรียกว่า “Thin-centered ideology”

โดยจะเป็นวิธีการคิดที่แบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนบริสุทธิ์ (the pure people) และ กลุ่มชนชั้นสูง (the corrupt elite) โดยมองว่าคนทั้ง 2 กลุ่มมีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยจะดีมากนักระหว่างกัน ซึ่งสุดท้ายแล้วกลุ่มนักวิชาการส่วนใหญ่ก็ได้สรุปว่า ไม่ว่าแนวคิดประชานิยมจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่แนวปฏิบัติของการออกนโยบายประชานิยมนั้น ก็ควรที่จะตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของคนส่วนใหญ่ในสังคม

และถึงแม้ว่าแนวคิดของการออกนโยบายประชานิยมนั้น จะค่อนข้างดี แต่ในอีกแง่มุมนึงก็มีนักวิชาการหลายท่าน ได้ให้ความคิดเห็นในประเด็นของผลกระทบจากการใช้นโยบายประชานิยมไว้มากมายเช่นเดียวกัน 

อาร์เจนตินา

อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้นแล้วว่า นโยบายประชานิยมได้แพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในแถบอเมริกาใต้ ไม่ว่าจะเป็นในประเทศบราซิล เปรู เวเนซุเอลา หรือ โบลิเวีย แต่หนึ่งในประเทศที่ได้รับประสบการณ์ที่น่าจะลืมไม่ลงจากนโยบายประชานิยม และจะขอหยิบยกมากล่าวถึง ก็คือ ประเทศอาร์เจนตินา

จุดเริ่มต้นของนโยบายประชานิยมของประเทศอาร์เจนตินา เกิดมาจากประธานาธิบดีที่ชื่อว่า Juan D. Peron (ฮวน เปรอง) ผู้นำที่มีแนวคิดทางด้านการสร้างความสามัคคีในสังคมผ่านการกระจายความมั่งคั่งระหว่างคนต่างชนชั้นในสังคม (หรือที่เรียกว่า Peronism)

โดยเส้นทางการเมืองของคุณเปรองนั้น มาจากการรัฐประหารในปี 1943 และจากการทำรัฐประหารครั้งนั้น คุณเปรอง ก็ได้รับตำแหน่งรองประธานาธิบดี ซึ่งหลังจากได้ตำแหน่งดังกล่าวคุณเปรอง ก็ได้ออกนโยบายประชานิยมทางสังคม และเศรษฐกิจมากมาย

เช่น การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้กับแรงงาน พัฒนาระบบประกันสังคม การกำหนดให้นายจ้างพัฒนาสภาวะการทำงานของลูกจ้างให้ดีขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างสหภาพแรงงานในประเทศ และด้วยผลจากนโยบายดังกล่าว คุณเปรอง ก็ได้กลายมาเป็นประธานาธิบดีอย่างเต็มตัวในปี 1946

ถึงอย่างไรก็ตาม ในที่สุดนโยบายประชานิยมในประเทศอาร์เจนตินา ก็มากจนเกินกว่าความสามารถทางการคลังของประเทศจะแบกรับได้ จากจุดเริ่มต้นของการทำนโยบายขาดดุลทางการคลังตลอดช่วงระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของคุณเปรองส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อทางการเงินอย่างมหาศาลของประเทศอาร์เจนตินา

โดยเฉพาะในช่วงปี 1989-1990 ที่ประเทศอาร์เจนตินาประสบปัญหาเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (Hyperinflation) ซึ่งส่งผลต่อหนี้สินในสกุลเงินดอลลาห์ที่ได้กู้ยืมเงินมากจาก IMF เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

และในที่สุดในช่วงปี 2001 รัฐบาลอาร์เจนตินาที่นำโดยประธานาธิบดี Fernando de la Rúa’s ได้มีการผิดนัดการชำระหนี้ รวมไปถึงการแก้ปัญหาการใช้หนี้ในสกุลเงินต่างประเทศในรูปแบบของการกำหนดค่าเงิน (Currency Peg) แทนที่การลดรายจ่ายของภาครัฐ

ทั้งหมดนี้จึงทำให้วิกฤติเศรษฐกิจของอาร์เจนตินายิ่งเลวร้ายขึ้น และอาจจะเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศก็เป็นได้ โดยจากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อเศรษฐกิจและสังคมในประเทศอาร์เจนตินาเป็นอย่างมาก

กล่าวโดยสรุปคือ ผลกระทบที่ 1 กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศลดลงกว่าร้อยละ 10

ผลกระทบที่ 2 การเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงของอัตราการว่างงาน

ผลกระทบที่ 3 เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงกว่าร้อยละ 40-50 และ

ผลกระทบที่ 4 อัตราความยากจนในประเทศสูงขึ้นกว่าร้อยละ 50 

อันที่จริง อาร์เจนตินา เคยเป็นประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง และมีระดับ GDP ขนาดใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ในแถบลาตินอเมริกา

โดยข้อมูลจากธนาคารโลกในปี 2023 ได้ระบุว่า ในปัจจุบันแม้ว่าประเทศอาร์เจนติน าจะผ่านมรสุมทางเศรษฐกิจและสังคมมาได้ระยะหนึ่งแล้ว และมีการขยายตัวของ GDP ค่อนข้างดี (ประมาณร้อยละ 10 ในปี 2021 และร้อยละ 5.2 ในปี 2022)

แต่ปัญหาเงินเฟ้อยังคงรุนแรงอยู่มาก โดยมีตัวเลขเงินเฟ้อสูงมากกว่าร้อยละ 100 ต่อปีเลยทีเดียว ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลอาร์เจนตินาก็ยังคงต้องใช้เครื่องมือทางการเงินการคลัง เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดมาจากสภาวะเงินเฟ้อที่เป็นอยู่นี้อย่างต่อเนื่อง

ผู้เขียนเองก็หวังว่าระบบเศรษฐกิจในประเทศนี้ จะกลับมามั่นคงเหมือนเดิมในเร็ววัน

ให้แล้วยกเลิก/เปลี่ยนแปลงยาก

ฝรั่งเศส

อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจในประเด็นของนโยบายประชานิยมก็คือประเทศฝรั่งเศส ฝรั่งเศสถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสวัสดิการทางสังคมค่อนข้างดี และสามารถรักษาระดับของอัตราความยากจนของประชากรในประเทศไว้ได้ดี โดยมีระดับความยากจนที่ใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียน

จากข้อมูลของสำนักข่าว Reuters ได้เคยสรุปว่า ถ้าหากรัฐบาลฝรั่งเศสไม่มีสวัสดิการสังคมที่ครอบคลุมและมีคุณภาพ ประชากรกว่าร้อยละ 42 จะมีรายได้อยู่ภายใต้เส้นความยากจนไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจากรายจ่ายทางด้านสวัสดิการสังคมที่มีมูลค่ามหาศาลนั้นก็ได้ทำให้ประชาชนชาวฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในประเทศที่เสียภาษีมากที่สุดในโลก

แม้ว่าฝรั่งเศสจะมีสวัสดิการทางสังคมค่อนข้างดีและครอบคลุม แต่ในยุคสมัยของประธานาธิบดีมาครง เราอาจจะได้เห็นการประท้วงครั้งรุนแรงหลายครั้ง ในประเด็นของการความไม่เท่าเทียม ค่าแรงขั้นต่ำ และค่าครองชีพ โดยเฉพาะในเรื่องความเพียงพอของสวัสดิการและการปรับเปลี่ยนรายละเอียดในสวัสดิการทางสังคมต่าง ๆ

โดยล่าสุดในเรื่องของการปรับรายละเอียดในระบบบำนาญฯ เช่น การขยายอายุเกษียณจาก 62 ปี เป็น 64 ปี (แต่กฎหมายดังกล่าวได้ถูกปัดตกโดยรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว) ผ่านการประท้วงที่เรียกว่า “Yellow Vest Movement” หรือ “ขบวนการเสื้อกั๊กเหลือง” (เสื้อกั๊กเหลืองคือตัวแทนของประชาชนผู้ใช้แรงงาน) ซึ่งกลุ่มผู้ประท้วงได้ใช้เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองในการประท้วง และจากเหตุดังกล่าว ได้ส่งผลให้เกิดความไม่สงบในประเทศ

ทั้งนี้ หากกล่าวโดยสรุปคือ นโยบายทางสวัสดิการสามารถให้ง่าย ประชาชนส่วนมากชอบ นักการเมืองเองก็ชอบ แต่จะยกเลิกและปรับเปลี่ยนได้ค่อนข้างยาก

สุดท้ายนี้ผู้เขียนอยากจะขอฝากถึงผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับนโยบายทางสังคมทุกท่านนะคะ ว่า การออกนโยบายทางด้านสังคมเป็นสิ่งที่จำเป็น และสำคัญอย่างมากในแง่มุมของการลดความเหลื่อมล้ำในด้านต่าง ๆ รวมไปถึงการลดความยากจนของประชาชนกลุ่มเปราะบาง

ถึงอย่างไรก็ตาม การออกนโยบายทางสังคมนั้น ส่วนใหญ่จำต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล ซึ่งย่อมที่จะส่งผลกระทบทั้งในเชิงบวกและลบอย่างมหาศาลเช่นเดียวกัน

ผู้เขียนอยากจะให้ท่านที่ดูแลเรื่องนโยบายพิจารณาในประเด็นของบทเรียนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะบางประเทศที่มีการดำเนินนโยบายประชานิยมอย่างสุดกู่ และได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ประชาชนในประเทศรอคอยเพียงแค่สวัสดิการจากภาครัฐ และกลายเป็นรัฐล้มเหลวในที่สุด

โดยการออกนโยบายจำพวกนี้ ในมุมหนึ่งก็เปรียบได้กับระเบิดเวลาที่รอคอยวันระเบิด ซึ่งเราแค่ไม่รู้ว่าจะระเบิดเมื่อไหร่ รุนแรงขนาดไหน และใครอยู่ใกล้กับระเบิดลูกนี้มากที่สุด