" นโยบายประชานิยม " อุบัติเหตุครั้งใหม่ ของ "เศรษฐกิจไทย"

18 เม.ย. 2566 | 10:32 น.
อัปเดตล่าสุด :18 เม.ย. 2566 | 10:46 น.

เกาะสนามเลือกตั้ง 2566 ผ่า นโยบายประชานิยม พรรคการเมือง ผ่านมุมมอง นักเศรษฐศาสตร์การคลัง อุบัติเหตุทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ที่ต้องระวัง เมื่อ หารายได้ไม่พอรายจ่าย ภาระการคลังในอนาคต แนะประชาชนจับกิ๋นนักการเมือง

18 เมษายน 2566 - เข้มข้นเข้าไปทุก ขณะ สำหรับการเลือกตั้ง ที่จะเกิดขึ้นวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ชี้ชะตาประเทศไทย เดินหน้าหรือถอยหลัง พร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังอื้ออึง ถึงการประชัน นโยบายหาเสียง ในรูปแบบ นโยบายประชานิยม ที่ถูกนำมาใช้มากกว่าการเลือกตั้งทุกๆครั้งที่เคยเกิดขึ้น โดยต่างกังวลถึงผลกระทบต่อภาระทางการคลังของประเทศระยะยาว

เช่นเดียวกับ มุมมองของ รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กล่าวว่า ในระบอบประชาธิปไตย การแข่งขันทางนโยบายในสนามเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ดี แต่บางนโยบายในฤดูการหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 นี้ อาจเป็นการหวังผลความนิยมในระยะสั้น ข้อห่วงใยคือ นโยบายเหล่านั้นมีแนวโน้มสร้างภาระการคลังอย่างมีนัยสำคัญ และอาจกลายเป็นอุบัติเหตุที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย

\" นโยบายประชานิยม \" อุบัติเหตุครั้งใหม่ ของ \"เศรษฐกิจไทย\"
 

ผ่า ฐานะ "การคลังไทย" เทียบ เหมือนธุรกิจพึ่งพาหนี้
 

หากเปรียบเทียบรัฐบาลเป็นธุรกิจ ประเทศไทยกำลังเป็นธุรกิจที่หาเงินได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย พึ่งพาการสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง มากว่าสิบปี รัฐบาลไทยขาดดุลการคลังหรือมีงบประมาณรายจ่ายสูงกว่ารายรับที่จัดเก็บได้ เฉลี่ยประมาณ 3% ต่อ GDP 

ในมิติรายได้ รายได้ภาษีที่รัฐจัดเก็บได้ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจาก 16% ของ GDP ในปี 2556 มาอยู่ที่ 14% ของ GDP ในปัจจุบัน ซึ่งข้อสังเกตสำคัญคือการลดลงนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนวิกฤตโควิด ทั้งนี้ รายได้ภาษีของรัฐบาลไทยยังถือว่าต่ำกว่ารายได้ภาษีของประเทศที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน (กลุ่ม Upper middle-income countries) พอสมควร 

ในมิติรายจ่าย งบประมาณของรัฐบาลไทยมีขนาดโดยเฉลี่ยประมาณ 18-19% ของ GDP ข้อสังเกตสำคัญคือ เรามีรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับบุคลากร เช่น เงินเดือน บำเหน็จบำนาญ สวัสดิการต่าง ๆ สูงราว 40% ของงบประมาณทั้งหมด 

นอกจากนี้ในแผนการคลังระยะปานกลาง รัฐบาลประมาณการว่ารายจ่ายจะลดลงเรื่อย ๆ จาก 17% ในปี 2566 มาเป็น 16% ต่อ GDP ในปี 2570 ในขณะเดียวกันในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ งบชำระหนี้ต่องบประมาณรายจ่ายจะเพิ่มขึ้นจาก 9.6% ในปี 2566 เป็น 15% ในปี 2570 

“ภาพการคลังนี้หมายความว่ารัฐบาลที่เข้ามาใหม่จะมีความยืดหยุ่นในการสร้างนโยบายสวัสดิการอื่น ๆ ไม่มากนัก และจะต้องอาศัยการจัดหาแหล่งเงินมาสนับสนุน ซึ่งคงหนีไม่พ้นรายได้ภาษี ซึ่งคิดเป็นประมาณ 90% ของรายได้รัฐบาลไทย”

\" นโยบายประชานิยม \" อุบัติเหตุครั้งใหม่ ของ \"เศรษฐกิจไทย\"

หวั่น นโยบายประชานิยม ก่ออุบัติเหตุทางเศรษฐกิจครั้งใหม่

นักเศรษฐศาสตร์การคลัง จากรั้วจุฬา ยังได้แสดงความกังวลต่ออุบัติเหตุทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นซ้ำอีก เมื่อพิจารณาการเลือกตั้งตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา เราเห็นการนำเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน การแข่งขันทางนโยบายเป็นไปอย่างเข้มข้นระหว่างพรรคการเมือง ตัวอย่างได้แก่ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ นโยบายคืนภาษีรถคันแรก การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การให้สวัสดิการในรูปแบบต่าง ๆ 

ความแตกต่างของการเลือกตั้งครั้งนี้จากครั้งก่อน ๆ คือ สถานการณ์การคลังของประเทศไม่สู้ดีนัก ในยุคก่อนโควิด ระดับหนี้สาธารณะของไทยห่างจากเพดานที่ 60% ค่อนข้างมาก ถึงแม้ว่ารัฐบาลไทยในอดีตจะขาดดุลการคลังอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาลในอดีตสามารถพูดกับนักลงทุนต่างชาติว่าเรามีประวัติ (track record) เรื่องวินัยการคลังเป็นอย่างดี สะท้อนจากพื้นที่การคลังที่มีอยู่ประมาณ 20% 

\" นโยบายประชานิยม \" อุบัติเหตุครั้งใหม่ ของ \"เศรษฐกิจไทย\"

อย่างไรก็ตาม ข้อสนับสนุนนี้ใช้ไม่ได้แล้วในปัจจุบัน ภาระการคลังของไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากวิกฤตโรคระบาด กรอบความคิดเรื่องเพดานหนี้แทบจะไม่สำคัญอีกต่อไปแล้วในสายตาของนักลงทุน เพดานหนี้และพื้นที่การคลังกลายเป็นตัวเลขสมมติที่รัฐบาลแต่ละประเทศสามารถกำหนดกันได้เอง นักลงทุนต่างชาติเปลี่ยนมาให้ความสนใจที่แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของหนี้สาธารณะและวินัยทางการคลังของรัฐเป็นหลัก

เมื่อพิจารณาการประเมินความเสี่ยงของประเทศไทย (Country risk assessment) จากสถาบันจัดอันดับเรตติ้งยักษ์ใหญ่ เช่น Fitch และ Moody’s ต่างมองว่าภาคการคลังของไทยค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่ถ้าวิเคราะห์ลึกลงไป จะพบว่าสถาบันเหล่านั้นคาดหวังให้รัฐบาลไทยค่อย ๆ รัดเข็มขัดตัวเองขึ้นเรื่อย ๆ และทำให้การขาดดุลการคลังน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยเสี่ยงที่สถาบันเหล่านั้นมองว่าจะมีผลต่อการลดอันดับ (Downgrade) ประเทศไทยมากที่สุดคือ การที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมการใช้จ่ายของตัวเองได้ สะท้อนการขาดวินัยการคลัง 

\" นโยบายประชานิยม \" อุบัติเหตุครั้งใหม่ ของ \"เศรษฐกิจไทย\"

ปลุกประชาชนจับตา  "พรรคการเมือง" ใช้เหตุและผลทำนโยบาย 

สิ่งที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งของการเลือกตั้งครั้งนี้คือ หลายนโยบายมีแนวโน้มสร้างภาระการคลังอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งถ้านโยบายเหล่านั้นไม่ได้มีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ที่เข้มแข็งพอ และการหางบประมาณที่สะท้อนความเป็นไปได้จริง อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงที่ตลาดอาจมองว่าสุ่มเสี่ยงต่อวินัยการคลัง และความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลไทยในระยะยาว 

รศ.ดร.อธิภัทร ชวนคนไทยมาช่วยกันสร้างการเมืองที่รับผิดชอบต่อสังคมด้วยการตั้งคำถามสำคัญ เช่นเดียวกับที่คนไทยจำนวนไม่น้อยกำลังมองหาอยู่จากพรรคการเมืองตอนนี้คือ ความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว โดยดูได้จาก 

  1. พรรคการเมืองมีวิธีการหารายได้มารองรับที่สะท้อนความเป็นไปได้จริง และ 
  2. เม็ดเงินที่ใช้ไปนั้นเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าต่อสังคมทั้งในมิติของความเท่าเทียมและการเติบโตระยะยาว 

“การนำเสนอนโยบายการให้เงินอุดหนุนหรือสวัสดิการต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก สิ่งที่จะวัดกึ๋นของพรรคการเมืองคือ การทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเชื่อได้ว่า มีการประเมินผลกระทบของนโยบายอย่างสมเหตุสมผล และหาเงินมาจ่ายที่เป็นไปได้จริง”