จัดตั้งรัฐบาลล่าช้า นโยบายไม่ชัด กระทบเศรษฐกิจไทยหลายภาคส่วน

24 ก.ค. 2566 | 12:05 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ค. 2566 | 11:28 น.

กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลยังคงไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัด การจัดทำงบประมาณยังคงต้องรอนโยบายที่ชัดเจน ส่งผลกระทบด้านความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างประเทศ ภาคเอกชน-นักวิชาการหลายฝ่ายหวั่นกระทบเศรษฐกิจไทย

หลังจากผ่านการเลือกตั้งมาร่วม 2 เดือน ตลอดจนได้มีการร่วมประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยมาแล้ว 2 รอบ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 และวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 แต่ก็ยังคงไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งสิ่งที่ทุกฝ่ายเป็นกังวลมากที่สุดคือ ผลที่จะกระทบต่อประเทศชาติมหาศาล หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้า และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผย เอกชนยังคงคาดหวังว่าทุกฝ่ายจะช่วยสนับสนุนกันให้เกิดรัฐบาลใหม่โดยเร็วที่สุด ไม่ยืดเยื้อ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ระหว่างรอจัดตั้งรัฐบาล สิ่งที่เห็นคือนักลงทุนต่างประเทศมีความลังเล และชะลอการลงทุน ชี้ให้เห็นว่านักลงทุนให้ความสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และยังคงห่วงว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไปจากกำหนดการ จะส่งผลต่อการจัดทำงบประมาณ นโยบายเศรษฐกิจ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆต้องล่าช้าไปด้วย ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย 
 

ข้อเสนอเร่งด่วน 3 ประการ จากภาคเอกชน
ภาคธุรกิจเอกชนในประเทศต้องปรับรูปแบบและแนวทางการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับหลายนโยบายของว่าที่รัฐบาลใหม่ เพื่อนำมาใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ ทั้ง ค่าแรงขั้นต่ำ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และนโยบายภาษีล้วนต้องรอความชัดเจน จึงได้มีข้อเสนอเร่งด่วนที่อยากให้รัฐบาลใหม่เข้ามาดำเนินการ 

1.เร่งใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 
โดยเฉพาะการรวบรวมและเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐในส่วนต่างๆ ให้รวดเร็วมากที่สุด และเร่งจัดทำงบประมาณที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวเศรษฐกิจ 
2.รักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้อยู่ที่ 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 
ในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินบาทของไทยมีความผันผวนไม่แน่นอน การรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทจะช่วยลดความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจ และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ โดยมองว่าเป็นระดับที่มีความเหมาะสมในการแข่งขันของภาคส่งออก 
3. เตรียมแผนรับมือภัยแล้งทั้งในระยะสั้นและระยะยาว  
เนื่องจากสัณญาณภัยแล้งจากเอลนีโญมีความชัดเจน โดยในระยะสั้นควรมีการบูรณาการแผนการใช้น้ำ และการกักเก็บน้ำอย่างมีระบบ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ โดยเฉพาะในภาคการเกษตรและพื้นที่อุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้น้ำมาก เชื่อว่าหากมีการวางแผนที่ดี จะช่วยให้ภาคเกษตรมีผลผลิตที่เพียงพอ ไม่ขาดแคลน ซึ่งจะสามารถเติบโตและเป็นส่วนเสริมภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย 
 

การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า ไม่ได้กระทบเฉพาะเศรษฐกิจด้านใดด้านหนึ่ง แต่ยังส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเช่นกัน ฐานเศรษฐกิจ ได้มีการสัมภาษณ์ภาคเอกชนและนักวิชาการจากหลากหลายภาคส่วน เพื่อชี้ให้เห็นถึงความกังวลและผลกระทบต่างๆ ดังนี้

นักลงทุนต่างประเทศชะลอการลงทุน
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้า ให้ความเห็นว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้านำไปสู้ความวุ่นวาย เศรษฐกิจไทยปี 2566 จะต่ำกว่า 3% ส่งผลให้กำลังซื้อหด นักลงทุนชะลอ การลงทุนไม่เพิ่ม และการส่งออกจะติดลบ ในระยะ 3 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่ไม่น่ามาลงทุน ด้วยสาเหตุที่ว่า การเมืองไม่มีความเสถียรภาพ ทำให้นโยบายเศรษฐกิจไม่มีความแน่นอน ชี้ทางออก คือให้ทุกฝ่ายยอมรับการตัดสินใจของประชาชน การปล่อยให้ประเทศพัฒนาตามผลการเลือกตั้ง และแก้รัฐธรรมนูญปัจจุบันให้เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย ตามนานาชาติที่พัฒนาแล้ว 

การจัดทำงบประมาณยืด กระทบต่อโครงการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง จนถึงต้นปีหน้า 
นายสุวิทย์ สรรพวิทยศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง(สวค.) กล่าว การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจะไม่ราบรื่น แม้จะมีการจัดตั้งรัฐบาลตามไทม์ไลน์ที่กำหนดไว้ เพราะการใช้จ่ายงบประมาณไม่สามารถทำได้เร็ว ส่งผลกระทบต่อโครงการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังต่อเนื่องจนถึงต้นปีหน้า และยังคงมีความกังวลต่อการใช้จ่ายลงทุนรัฐ ในส่วนของการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2566 กรณีที่แย่ที่สุด เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เพียง 3% อย่างดีอาจแตะ 3.2-3.3% เท่านั้น นับว่ายังต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริงของเศรษฐกิจที่จะต้องโตได้ไม่ต่ำกว่า 5%  ประเด็นความกังวลคือ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทยมีสัญญาณจะชะลอตัวชัดเจน โดยเฉพาะประเทศจีน เนื่องจากปัญหาสงครามการค้ากับสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยแน่นอน

สถานการณ์ตลาดหุ้นไทย 
ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุนฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุนสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์จีซีเอส-ซีไอเอ็มบี(ประเทศไทย) จำกัด หรือ CGSCIMB เผย หลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา หุ้นไทยไม่ได้เปลี่ยนไปมากในแง่พื้นฐาน หากตลาดหุ้นโลกไปต่อ หรือมีการลงทุนกลับเข้ามาในเอเชีย เพียงแต่ราคาหุ้นอาจจะไม่ขึ้น ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ลงไปมากกว่านี้ การที่หุ้นมีผลตอบแทนดีและผลตอบแทนแย่ในปีนี้ จึงไม่เกี่ยวกับการเมือง เพราะสำหรับนักลงทุน การเลือกหุ้นรายตัวมีผลต่อการลงทุนมากกว่าผลกระทบทางการเมือง “ถ้าบริษัทดี การเมืองไม่ดี บริษัทยังดีอยู่”

ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่า
ด้านการเคลื่อนไหวของเงินบาท อ่อนค่าลง 3.3% ซึ่งมีผลกระทบมาจากการเลืองตั้งอยู่บ้าง ทำให้เงินทุนไหลเข้าน้อยลง เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติระมัดระวังสูง และเงินทุนเคลื่อนย้ายจากนักลงทุนต่างชาติ(Fund Flow) ยังไม่ไหลเข้านัก ในขณะที่เงินบาทยังคงผันผวนอ่อนค่า สวนทางกับสกุลเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า หากตลาดการเงินโลกปิดรับความเสี่ยงตามสมมติฐาน ในระยะยาวเงินบาทมีโอกาสแข็งค่า ขณะที่ตลาดหุ้นโลกมีโอกาสปรับฐาน โดยมองว่าเงินบาทปลายปีจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 33.30-33.50 บาทต่อดอลลาร์ 

ภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว กำลังซื้อที่อยู่อาศัยเปราะบางสูง
นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ PS สะท้อนว่าความยืดเยื้อของการจัดตั้งรัฐบาลที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งถึงขั้นลงถนน มีส่วนกระทบการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จากปัจจุบัน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ ศสช. ประมาณการตัวเลข GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการเติบโตของเศรษฐกิจจากมูลค่าสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตในประเทศ ประจำปี 2566 ต่ำกว่า 4% หรือมีค่ากลางที่ 3.2% จึงต้องยุติปัญหาความขัดแย้งโดยเร็ว เพื่อไม่ให้กระทบเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่แล้วให้อ่อนแอลง

ผู้นำประเทศในมุมมองควรเป็นผู้นำที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับ เพื่อที่จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ ต่อยอดเศรษฐกิจให้เติบโตได้ในระยะยาว นายปิยะประเมินว่า กำลังซื้อที่อยู่อาศัยกลุ่มระดับล่างยังมีความเปราะบางสูงและต้องใช้เวลา การจะให้กลุ่มเหล่านี้กลับมาซื้อที่อยู่อาศัยได้เหมือนเดิม คือการสร้างเศรษฐกิจทั้งระบบให้ฟื้นตัวดีอย่างถาวร ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเห็นได้ในเร็ววัน สอดคล้องกับ นายวิษณุ เทพเจริญ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) หรือ NUSA ที่กล่าวว่า หากประชาชนมีการประท้วงเรื่องการเมืองลงถนนจะส่งผลกระทบด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลงในระยะสั้น แต่ยังคงเชื่อว่าในระยะยาวจะสามารถแก้ไขได้

การจัดทำงบประมาณกระตุ้นการท่องเที่ยว
นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เผย สถานการณ์การเมืองของไทยขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบทางจิตวิทยาใดๆ สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย เนื่องจากไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการมีความกังวลคือ งบประมาณภาครัฐในการทำการประชาสัมพันธ์ หรือการกระตุ้นตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพราะงบประมาณในการบริหารจัดการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและบุคลากร ย่อมมีผลกระทบต่อการดำเนินการ

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวประเด็นในเรื่องความล่าช้าของงบประมาณประจำปี 2567 ขณะที่ความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาลยังคงไม่เป็นที่แน่ชัด แม้จะเคยเจอสถานการณ์การล่าช้าของงบประมาณมาแล้ว แต่ก็เป็นการนำงบประมาณมาใช้ได้ในสัดส่วน 50% ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้จ่ายประจำปี 2566 ไปพลางก่อน ซึ่งก่อนที่รัฐบาลจะทำการยุบสภา ททท. ได้เสนอของบประมาณปี 2567 เป็นจำนวน 5,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากของปี 2566 จำนวน 1,500 ล้านบาท แต่ส่วนนี้ยังคงไม่สามารถใช้ได้ และหากมีการปรับเปลี่ยนวิธีจัดทำงบประมาณใหม่ก็ยังมองภาพไม่ออก โดยมองว่าแม้งบประมาณจะมาช้า แต่ก็ยังดีกว่าไม่มา ซึ่งททท. จะเดินหน้าตามแผนงานที่วางไว้ต่อไป 
 

มุมมองจากทางภาคเอกชนและนักวิชาการหลายฝ่าย ถือเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่า การจัดตั้งรัฐบาลมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ และยังส่งผลกระทบในด้านของเศรษฐกิจ อาทิ การจัดทำงบประมาณในส่วนต่างๆ การเกษตรและอุตสาหกรรม การส่งออก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจด้านการลงทุน การท่องเที่ยว และผลประกอบการต่างๆ ยังไม่รวมไปถึงด้านความเป็นอยู่และปากท้องของประชาชนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด