เขตการค้าเสรีนำร่องจีน เอื้อประโยชน์เศรษฐกิจไทย

23 ก.ค. 2566 | 15:33 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ค. 2566 | 10:34 น.

เขตการค้าเสรีนำร่องจีน เอื้อประโยชน์เศรษฐกิจไทย คอลัมน์ลวดลายมังกร โดย พลโท ดร.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,907 หน้า 5 วันที่ 23 - 26 กรกฎาคม 2566

 

พลโท ดร.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ ได้ประมวลและนำเสนอข้อพิจารณาในการปฏิรูปเชิงลึก จากการที่ นายสี จิ้นผิง ในฐานะเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประธานประเทศ หรือประธานาธิบดีแห่งรัฐ และประธานคณะกรรมาธิการการทหารกลางของจีน ชี้ให้เห็นว่า จำเป็นต้องเชื่อมโยงการสร้างรูปแบบการพัฒนาใหม่ กับ การดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และการสร้างโครงการเขตการค้าเสรีนำร่อง ตลอดจนเป็นผู้นำในการสำรวจการก่อตัวของการพัฒนาใหม่ในภูมิภาค ที่จะยกระดับรูปแบบการพัฒนาสำหรับการปฏิรูปและการเปิดกว้าง  

 

โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการดำเนินการเปิดในระดับสูง ใช้ประโยชน์จากตลาดต่างประเทศและในประเทศ ตลอดจนทรัพยากรทั้งสองแห่งให้เต็มที่ และส่งเสริมนวัตกรรมอย่างแข็งขันตามมาตรฐานระดับสูงของระเบียบเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ ด้วยความพยายามมากขึ้น

 

ส่งเสริมการพัฒนาเขตการค้าเสรีนำร่องคุณภาพสูง “ความพยายามที่มากขึ้น” และ “การพัฒนาคุณภาพสูง” ซึ่งเป็นข้อกำหนดใหม่ สำหรับการสร้างสรรค์เขตการค้าเสรีนำร่อง 

 

 

ทั้งนี้ นับตั้งแต่การก่อตั้งเขตการค้าเสรีนำร่องแห่งแรกที่มหานครเซี่ยงไฮ้ในปี พ.ศ. 2556 จนปัจจุบัน ประเทศจีนมีเขตการค้าเสรีนำร่อง 21 แห่ง ก่อตัวเป็นโครงการนำร่องที่ครอบคลุมทั้งทางตะวันออก ตะวันตก ใต้ และเหนือ ซึ่ง “การสร้างเขตการค้าเสรีนำร่องเป็นมาตรการเชิงยุทธศาสตร์ของคณะกรรมการกลางของพรรค เพื่อส่งเสริมการปฏิรูปและการเปิดประเทศในยุคใหม่ รวมทั้งเป็นก้าวสำคัญในกระบวนการปฏิรูปประเทศและการเปิดประเทศของจีน” 

 

เขตการค้าเสรีนำร่องของจีน 21 แห่ง (1+3+7+1+6+3) ประกอบด้วย มหานครเซี่ยงไฮ้ (พ.ศ. 2556) มหานครเทียนจิน มณฑลกว่างตง และฝูเจี้ยน  (พ.ศ. 2558) มหานครฉงชิ่ง มณฑลเหลียวหนิง เจ้อเจียง เหอหนาน หูเป่ย ซื่อชวน (เสฉวน) และส่านซี (พ.ศ. 2560)  

 

 

เขตการค้าเสรีนำร่องจีน เอื้อประโยชน์เศรษฐกิจไทย

 

มณฑลไห่หนาน (พ.ศ. 2561) เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (กวางสี) มณฑลซานตง เจียงซู เหอเป่ย หยุนหนาน (ยูนนาน) และเฮยหลงเจียง (พ.ศ. 2562) รวมทั้งกรุงปักกิ่ง มณฑลหูหนาน และอานฮุย (พ.ศ. 2563)  

 

 

ทั้งนี้ เขตการค้าเสรีนำร่องจีน (มณฑลยูนนาน) เป็นเขตการค้าเสรีที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับประเทศไทยได้อย่างมาก จากการที่ได้จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2562 โดยมีพื้นที่รวม 119.86 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย

 

1. พื้นที่ย่อยคุนหมิง (Kunming Sub-area) ขนาด 76 ตารางกิโลเมตร ซึ่งรวมพื้นที่เขตปลอดอากรนครคุนหมิง (Kunming Free Trade Zone) และเขตเศรษฐกิจท่าอากาศยาน มุ่งส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตระดับสูง โลจิสติกส์การบิน เศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงสร้างศูนย์กลางการเชื่อมโยง ศูนย์โลจิสติกส์และสารสนเทศ รวมทั้งศูนย์วัฒนธรรมและการศึกษา ที่มุ่งเชื่อมโยงกับภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

2. พื้นที่ย่อยหงเหอ (Honghe Sub-area) มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่อำเภอเหอโข่ว ขนาด 14.12 ตารางกิโลเมตร ซึ่งรวมพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมของเขตฯ หงเหอ เช่น เขตปลอดอากรหงเหอและเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เหมิงจื้อ มุ่งส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม อาทิ การแปรรูปและการค้า การบริการเพื่อสุขภาพ การท่องเที่ยวข้ามแดน และอีคอมเมิร์ซข้ามแดน รวมถึงสร้างฐานการผลิตและแปรรูป ศูนย์การค้าและโลจิสติกส์ รวมทั้งเขตสาธิตความร่วมมือด้านนวัตกรรมบนระเบียงเศรษฐกิจจีน-เวียดนามที่มุ่งเชื่อมโยงกับอาเซียน

 

3. พื้นที่ย่อยเต๋อหง (Dehong Sub-area) ขนาด 29.74 ตารางกิโลเมตร มุ่งส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม อาทิ อีคอมเมิร์ซข้ามแดน ความร่วมมือด้านกำลังการผลิตข้ามแดน และการเงินข้ามแดน ที่มุ่งการเป็นประตูของระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา (China-Myanmar Economic Corridor: CMEC)

 

นอกจากนี้ เขตการค้าเสรีนำร่องยูนนานเป็นเขตการค้าเสรีนำร่อง (Pilot Free Trade Zone: FTZ) กลุ่มที่ 5 ซึ่งคณะรัฐมนตรีจีนอนุมัติให้จัดตั้งเมื่อวันที่ 2 ส.ค. 62 พร้อมกับอีก 5 มณฑล ได้แก่ มณฑลซานตง มณฑลเจียงซู มณฑลเหอเป่ย มณฑลเฮยหลงเจียง และเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง  

 

โดยนับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีนำร่อง ในพื้นที่ชายแดนจีนที่เน้นการพัฒนารูปแบบความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามแดน (modes of cross-border economic cooperation) เพื่อเชื่อมโยงจีนกับภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

 

ดังนั้น ควรได้พิจารณาถึงการสร้างเครือข่ายความเชื่อมโยง เพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อประเทศไทย อันจะขยายผลไปสู่ความร่วมมือด้านความมั่นคงต่อไป

 

(ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://xitheory.china.com.cn/202.../12/content_77621363.html  และเว็บไซต์ http://yn.yunnan.cn/system/ 2021/01/14/031234986.shtml ซึ่งอ้างในเว็บไซต์ https://thaibizchina.com/)