การช่วยเหลือสังคมของคนไทย ทำไม อย่างไร ใคร

19 ก.ค. 2566 | 13:42 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ค. 2566 | 14:27 น.
1.0 k

การช่วยเหลือสังคมของคนไทย ทำไม อย่างไร ใคร : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย รศ.ดร.นพพล วิทย์วรพงศ์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,906 หน้า 5 วันที่ 20 - 22 กรกฎาคม 2566

การช่วยเหลือสังคมเป็นปรากฏการณ์ที่พบบ่อยในสังคมไทยในสภาวะปกติ เราจะเห็นเงินหมุนเวียนในองค์กรทางศาสนาและองค์กรการกุศลจำนวนมาก และในสภาวะไม่ปกติ การช่วยเหลือก็จะยิ่งทวีคูณ

ดังจะเห็นได้จากการบริจาคเงิน อาหาร เวลา และสิ่งของให้แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากในช่วงนํ้าท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 หรือในช่วงของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่คาดว่าน่าจะมีมูลค่าหลายพันล้านบาท 

 

การช่วยเหลือสังคมเป็นพฤติกรรมที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ อาจเป็นเพราะการช่วยเหลือสังคมดูจะไม่สอดคล้องนักกับแนวคิดของเศรษฐศาสตร์ ที่มองว่ามนุษย์สนใจแต่ประโยชน์ส่วนตน (Self Interest)

... จะเห็นได้ว่า ในการช่วยเหลือสังคมทุกครั้ง ผู้ให้การช่วยเหลือจะต้องเสียสละอะไรบางอย่างเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น เช่น ในการบริจาคเงินหรือสิ่งของ ผู้บริจาคก็จะต้องเสียเงินและสิ่งของ ในขณะที่ผู้รับบริจาคได้เงินและสิ่งของ โดยไม่จำเป็นต้องให้อะไรตอบแทน เป็นต้น 

 

 

บทความของ ดร.สมทิพ วัฒนพงษ์วานิช ที่ตีพิมพ์ในวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2566 ในคอลัมน์เดียวกันนี้ ได้ให้คำอธิบายจากการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ไว้ว่า การช่วยเหลือสังคมเกิดจากธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคม

เมื่อมนุษย์อยู่ร่วมกันและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดซึ่งกันและกัน ความอยู่ดีมีสุขของคนหนึ่ง จึงอาจส่งผลต่อความอยู่ดีมีสุขของคนอีกคนในสังคมเดียวกันได้ กล่าวคือ การช่วยเหลือผู้อื่นให้มีความสุขสร้างความสุขย้อนกลับไปยังผู้ให้ 

อย่างไรก็ดี คำอธิบายข้างต้นไม่ได้ให้ที่มาที่ไปของการตระหนักถึงความอยู่ดีมีสุขของผู้อื่นอย่างชัดเจน เพียงแต่ระบุว่า การคำนึงถึงผู้อื่นเป็นคุณลักษณะที่ไม่ได้มีกันทุกคน และคนที่มีคุณลักษณะนี้ก็จะมีแนวโน้มในการช่วยเหลือผู้อื่นมากกว่าคนที่ไม่มี 

คำถามต่อมา คือ แล้วใครที่มีคุณลักษณะของการคำนึงถึงความอยู่ดีมีสุขของผู้อื่นนี้ และคนกลุ่มนี้ช่วยเหลือผู้อื่นอย่างไรบ้าง

การศึกษาของ นพพล วิทย์วรพงศ์ (ผู้เขียน) และ สมทิพ วัฒนพงษ์วานิช (พ.ศ. 2566) ได้เก็บข้อมูล (ที่เป็นตัว แทนประชากรได้) จากประชาชนในจังหวัดกรุงเทพมหานครที่มีอายุ 25 ขึ้นไปจำนวน 1,412 คน ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา และสอบถามถึงพฤติกรรมการช่วยเหลือสังคม 3 รูปแบบ ได้แก่ การช่วยเหลือคนนอกครอบครัว การบริจาค และการเป็นอาสาสมัคร 

 

 

การช่วยเหลือสังคมของคนไทย ทำไม อย่างไร ใคร

 

ผลของการสำรวจ พบว่า ในช่วง 3 เดือนก่อนการสำรวจ กลุ่มตัวอย่างในกรุงเทพมหานคร กว่า 30.96% เคยให้การช่วยเหลือคนแปลกหน้า 57.48% เคยบริจาคให้องค์กรการกุศล (รวมองค์กรทางศาสนา องค์กรการกุศลของไทย และองค์กรการกุศลต่างประเทศ)

โดยบริจาคให้กับองค์กรทางศาสนามากที่สุด และส่วนใหญ่บริจาคครั้งละไม่เกิน 100 บาท และ 1.31% ระบุว่าได้ ทำงานเป็นอาสาสมัคร ทั้งนี้ ในกรณีของการบริจาค หากดึงองค์กรทางศาสนาออกจากการวิเคราะห์ ตัวเลขการบริจาคของกลุ่มตัวอย่างจะลดลงเหลือเพียงประมาณ 30% เท่านั้น

ตัวเลขของการสำรวจนี้ ตํ่ากว่าการสำรวจในอดีตอยู่พอสมควร ตัวอย่างแรกของการสำรวจในอดีต คือ การสำรวจของมูลนิธิ Charities Aid Foundation (องค์กรระดับนานาชาติที่พิจารณาพฤติกรรมการให้ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก) ที่พบว่า พฤติกรรมช่วยเหลือ สังคมที่คนไทยทำมากที่สุด คือ การบริจาค (71% ในปี 2563) ตามด้วยการช่วยเหลือคนแปลกหน้า (41%) และการเป็นอาสาสมัคร (15%) ตามลำดับ

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ การวิเคราะห์ของ Economic Intelligence Center (EIC) ภายใต้ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่ใช้ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนไทยของสำนักสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ. 2552-2560 และพบว่า 96% ของครัวเรือนในประเทศไทยมีรายจ่ายเพื่อการกุศล ความแตกต่างของตัวเลขน่าจะเกิดจากวิธีการเก็บข้อมูล และช่วงเวลาการสำรวจที่แตกต่างกัน รวมทั้งการตั้งคำถามในแบบสอบถามที่ไม่เหมือนกัน 

เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างคุณลักษณะส่วนบุคคล และการช่วยเหลือสังคม โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจข้างต้น พบว่า คุณลักษณะที่ส่งผลต่อการช่วยเหลือสังคม มีด้วยกันสองประการหลัก

ประการแรก คือ รายได้ โดยผู้ที่มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต (จนมีเงินเหลือเก็บ) มีแนวโน้มที่จะช่วยเหลือคนนอกครอบครัว บริจาค และเป็นอาสาสมัคร มากกว่าผู้ที่มีรายได้ไม่เพียงพอ

และประการที่สอง คือ สุขภาพ โดยผู้ที่มีสุขภาพดีมีแนวโน้มที่จะช่วยเหลือคนนอกครอบครัว บริจาค และ เป็นอาสาสมัคร น้อยกว่าผู้ที่มีสุขภาพไม่ดี

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ที่เคร่งศาสนามีแนวโน้มที่จะช่วยเหลือคนนอกครอบครัว และบริจาคมากกว่าผู้ที่ไม่เคร่งศาสนา และผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะบริจาคเงินหรือสิ่งของให้กับองค์กรการกุศลมากกว่าผู้ชาย แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีแนวโน้มที่จะช่วยเหลือคนแปลกหน้าน้อยกว่าผู้ชายด้วย 

ข้อค้นพบข้างต้นชี้ให้เห็นว่า พฤติกรรมช่วยเหลือสังคมเปลี่ยนแปลงได้ตามบริบทและช่วงเวลา โดยการช่วยเหลือ สังคมไม่เพียงแต่เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (จะช่วยเหลือผู้อื่น ก็ต้องช่วยเหลือตัวเองทางการเงินให้ได้ก่อน) แต่ยังอาจเป็นกลไกในการจัดการกับความทุกข์ (Coping Mechanism) จากความเจ็บป่วย และเป็นรูปแบบหนึ่งของการ ‘ทำบุญ’ ตามนิยามทางศาสนาด้วย 

 

เอกสารอ้างอิง

นพพล วิทย์วรพงศ์ และสมทิพ วัฒนพงษ์วานิช (พ.ศ. 2566). โครงการ “ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพอย่างฉับพลันต่อพฤติกรรมเอื้อสังคม” เสนอต่อแผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.).

https://www.scbeic.com/th/detail/product/6245 (เข้าถึงเมื่อ 1 มี.ค. 2565)