การค้าดิจิทัลและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอาเซียน

14 มิ.ย. 2566 | 11:29 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มิ.ย. 2566 | 11:30 น.

การค้าดิจิทัลและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอาเซียน : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.สินีนาฏ เสริมชีพ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,896 หน้า 5 วันที่ 15 - 17 มิถุนายน 2566

ในปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั้งในส่วนของการผลิต การบริโภค รวมถึงการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางดิจิทัล และผู้ให้บริการสามารถส่งมอบบริการผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น ทำให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงผู้บริโภคในตลาดโลกได้มากขึ้น

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการทำธุรกิจเป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญในทุกภาคการผลิตทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลมีบทบาทมากขึ้นในการเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเติบโตของเศรษฐกิจ 

 

 

 

อาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีเศรษฐกิจดิจิทัลขยายตัวสูงสุด จาก ‘รายงาน e-Conomy SEA 2022’ โดย Google, Temasek และ Bain & Company (2022) ระบุว่า ในช่วงปี 2562 ถึงปี 2565 มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นถึง 100 ล้านคน ทำให้ในปี 2565 มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตรวมในอาเซียนสูงถึง 460 ล้านคน

เศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจาก 102 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 มาอยู่ที่ 194 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปี 2565

 

 

และคาดการณ์ว่าในปี 2568 จะมีมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลสูงถึง 330 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ การเพิ่มขึ้นของผู้มีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคและธุรกรรมด้านดิจิทัลข้ามพรมแดน ทำให้การค้าดิจิทัลกลายเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียนในระยะต่อไป

การค้าดิจิทัล (Digital trade) มีคำจำกัดความที่หลากหลายในปัจจุบัน แต่โดยแนวคิดจะหมายถึงการค้าที่มีการสั่งผ่านช่องทางดิจิทัล (Digitally ordered) ซึ่งหมายถึงสินค้าหรือบริการที่มีการซื้อ ขายบนอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน และการค้าที่มีการส่งมอบผ่านช่องทางดิจิทัล (Digitally delivered) ซึ่งหมายถึงบริการที่มีการส่งมอบข้ามประเทศผ่านอินเตอร์เน็ตหรือเครือข่ายอื่น 

 

 

การค้าดิจิทัลและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอาเซียน

 

 

 

จาก ‘รายงานการค้าดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี’ โดย Deloitte (2021) ระบุว่า ในปัจจุบันการค้าโลกเข้าสู่ยุคที่ 4 ซึ่งเป็นยุคของระบบอัจฉริยะ (Era of intelligence) เป็นการพัฒนาการค้าต่อเนื่องมาจาก 3 ยุคแรก

โดยยุคที่ 1 คือ การค้าแบบดั้งเดิมที่มีการค้าสินค้าที่ผู้บริโภคซื้อไปเพื่อบริโภค (Final goods)

ยุคที่ 2 คือห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global value chain: GVC) ที่มีการแยกกระบวน การผลิตไปตั้งอยู่ในประเทศต่างๆ และมีการค้าสินค้าและบริการขั้นกลาง (Intermediate goods and services) ซึ่งเป็นสินค้าและบริการที่ขายไปเพื่อผลิตต่อ

และยุคที่ 3 การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ (Digitalization) ที่เริ่มมีการค้าดิจิทัล ซึ่งมีลักษณะคือ มีแบบจำลองการค้าที่เป็นดิจิทัล ในรูปแบบของคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน และมีการค้าสินค้าดิจิทัล เช่น วิดีโอ และ ซอฟต์แวร์ และ การค้าบริการดิจิทัล เช่น บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและบริการสุขภาพออนไลน์

ในยุคของระบบอัจฉริยะ หรือ ยุคที่ 4 ของการค้าโลกนั้น มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ก้าวหน้าขึ้นในการค้าระหว่าง ประเทศทั้งในเชิงลึกและเชิงครอบคลุม มากยิ่งขึ้น

ปัจจัยเกี่ยวกับข้อมูลเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในยุคดังกล่าว โดยโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เช่น 5G ช่วยอำนวยความสะดวกในการเชื่อมโยงอุปกรณ์ทุกอย่างผ่านอินเตอร์เน็ต (Internet of Everything: IoE) ส่วนบิ๊กดาต้า (Big data) และ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence: AI) มีบทบาทในการตัดสินใจอย่างชาญฉลาด (Intelligent decision-making) 

อาเซียนมีโอกาสในการพัฒนาการค้าดิจิทัล ซึ่งจะเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคต่อไป โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือ ธุรกิจในภูมิภาคเร่งปรับใช้การค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางออนไลน์ ผู้บริโภคในอาเซียนมีการซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ทั้งในส่วนของดิจิทัลแพลตฟอร์ม และการชำระเงินดิจิทัลข้ามพรมแดน รวมถึงความตกลงและความร่วมมือด้านอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคในกรอบอาเซียนและความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ที่ช่วยส่งเสริมการค้าดิจิทัลในภูมิภาค

เมื่อพิจารณาระดับพัฒนาการและการเติบโตของการค้าดิจิทัลจาก 2 มิติคือ ระดับการพัฒนาของอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน และ ระดับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้

รายงานของ Deloitte (2021) ระบุว่า ประเทศในอาเซียนมีระดับพัฒนาการและการเติบโตของการค้าดิจิทัลที่แตกต่างกัน โดยสิงคโปร์อยู่ในกลุ่มตลาดที่พัฒนาแล้ว ซึ่งมีสัดส่วนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตสูง มีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ดีแ ละมีเครือข่ายความเร็วสูง และใช้การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างแพร่หลาย ซึ่งการชำระเงินรูปแบบดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญของการค้าออนไลน์

ส่วน ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และ ฟิลิปปินส์ อยู่ในกลุ่มตลาดกำลังพัฒนา ซึ่งมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในระดันหนึ่ง แต่ระดับการพัฒนายังคงมีจำกัด

สำหรับ เมียนมา กัมพูชา ลาว และ บรูไน อยู่ในกลุ่มตลาดที่อยู่ในขั้นเริ่มต้น ซึ่งมีระดับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในระดับที่ตํ่ากว่าภาพรวม ยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ซับซ้อนและแพลตฟอร์มสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล และการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อคนยังคงมีน้อยมาก

การค้าดิจิทัลมีบทบาทที่สำคัญในการส่งเสริมการเติบโตแบบองค์รวม (Inclusive growth) โดยการค้าผ่านระบบอินเตอร์เน็ตช่วยเปิดโอกาสให้ธุรกิจ อาทิเช่น วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก และรายย่อย (Micro, small and medium-sized enterprises: MSMEs) และชุมชนชนบท สามารถมีส่วนร่วมในตลาดโลกได้

โดย ‘รายงานการค้าขององค์การการค้าโลก’ (World Trade Organization: WTO) (2016) ระบุว่า 97% ของ MSMEs ที่ใช้อินเตอร์เน็ตมีการส่งออก ในขณะที่ MSMEs แบบดั้งเดิมในประเทศส่วนใหญ่มีการส่งออกเพียง 2% ถึง 28% 

การพัฒนาและช่วยให้ MSMEs สามารถเข้าถึงตลาดโลกได้เป็นแนวทางในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลดช่องว่างของรายได้ของภายในประเทศและระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (the United Nations Sustainable Development Goals: SDGs) ต่อไป 

จากผลการสำรวจของ Google และ International Chamber of Commerce (ICC) (2022) ใน ‘รายงาน MSMEs Digital Exports in Southeast Asia’ ที่สำรวจ 1,560 MSMEs ใน 10 ประเทศอาเซียน ระบุว่ามากกว่า 60% ของ MSMEs ที่สำรวจสนใจที่จะส่งออกไปยังภูมิภาคและตลาดโลก 80% ของ MSMEs เหล่านี้เพิ่มการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

และ 70% ตระหนักถึงความสำคัญของเครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีส่วนช่วยในการเข้าถึงตลาดใหม่

อย่างไรก็ตาม MSMEs ในอาเซียนยังคงเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ในด้านการเชื่อมต่อที่ช้า และความสามารถในการจ่ายเงินเพื่อเข้าถึงอินเตอร์เน็ต

นอกจากนี้ MSMEs ในอาเซียนอยากให้มีการสนับสนุนในด้านการพัฒนาทักษะ และความสามารถในด้านการตลาดดิจิทัล และการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเข้าถึงข้อมูลทางการตลาดต่อไป 

สุดท้ายนี้ สามารถกล่าวโดยสรุปได้คือ การค้าดิจิทัลเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอาเซียนในอนาคต โดยจะช่วยส่งเสริมการเติบโตแบบองค์รวม ในการที่อาเซียนจะสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้

นอกจากการส่งเสริมการค้าดิจิทัลในภาพรวม ทั้งในส่วนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ประเทศสมาชิกอาเซียนยังคงต้องเน้นการส่งเสริมศักยภาพของ MSMEs ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคให้สามารถเติบโตในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลได้ต่อไป