บทบาทการค้าดิจิทัล ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

01 มิ.ย. 2565 | 12:13 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มิ.ย. 2565 | 19:13 น.
671

บทบาทการค้าดิจิทัล ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.สินีนาฏ เสริมชีพ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,788 หน้า 5 วันที่ 2 - 4 มิถุนายน 2565

ในปัจจุบันเศรษฐกิจดิจิทัลมีผลต่อความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เนื่องจากระบบเศรษฐกิจพึ่งพาสินค้าและบริการดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ บทบาทของเศรษฐกิจดิจิทัลไม่ได้มีเพียงในส่วนของตลาดในประเทศ แต่ยังรวมถึงการค้าระหว่างประเทศด้วย

 

หลายประเทศทั่วโลกมีการค้าระหว่างประเทศเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดย ในอดีตมีการค้าสินค้าเป็นปัจจัยหลัก แต่ในช่วงที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของการค้าสินค้าระหว่างประเทศคงตัว ในขณะที่การไหลของข้อมูลข้ามพรมแดน (Cross-border data flow) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการค้าดิจิทัล (Digital trade) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ข้อมูลจาก World Development Report 2021 โดยธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่าภายในปี 2022 จะมีปริมาณการไหลของข้อมูลทั่วโลกเพิ่มขึ้น 50% จากสองปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 1,000 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2002 หรือ 20 ปีก่อนหน้า  

 

 

 

การค้าดิจิทัล ซึ่งหมายถึงการค้าที่มีการสั่งผ่านช่องทางดิจิทัล (Digitally delivered trade) และ/หรือส่งมอบผ่านช่องทางดิจิทัล (Digitally ordered trade) มีส่วนช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจให้มีการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีแหล่งรายได้เพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ และลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ

 

โดยตัวอย่างเทคโนโลยีดิจิทัลที่นำมาใช้ คือ Big data analytics ในด้านบริการการเงินและภาคการผลิต การบริหารจัด การอุปทาน (Supply chain management) ในภาคการเกษตรและภาคการผลิต Telehealth ในด้านบริการสุขภาพ และช่องทาง การขายออนไลน์ในภาคค้าปลีก ซึ่งการเติบโตของการค้าดิจิทัลจะนำมาซึ่งการเติบโตของเศรษฐกิจต่อไป

 

 

 

ไทยเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีศักยภาพในการพัฒนาการค้าดิจิทัล Google, Temasek และ Bain & Company ระบุใน e-Conomy SEA 2021 ว่าประเทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาคอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย โดยมีมูลค่าของยอดขายสินค้าออนไลน์รวม 3 หมื่นล้านดอลาร์สหรัฐฯ ในปี 2021 และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.7 หมื่นล้านดอลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2025

 

การค้าดิจิทัลของไทยเกี่ยว ข้องกับ 4 อุตสาหกรรมคือ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการ ซอฟต์แวร์ อุตสาหกรรมบริการดิจิทัล อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ และอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้า  จากการสำรวจข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Promotion Agency: DEPA) ระบุว่า ในปี 2563 อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ ของประเทศไทย มีมูลค่าการส่ง ออกรวม 2,269 ล้านบาท ส่วนมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 33,341 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ผลการสำรวจระบุว่า อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์มีจำนวนบุคลากรรวมทั้งสิ้น 107,984 คน

 

 

บทบาทการค้าดิจิทัล ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

 

 

สำหรับอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลที่พิจารณาจากผู้ให้บริการ ดิจิทัลที่จดทะเบียนในประเทศไทย มีมูลค่าตลาดเท่ากับ 244,836 ล้านบาท ในปี 2563 ซึ่งเพิ่มขึ้น 44.42% จากสองปีก่อนหน้า โดยอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลครอบ คลุม 8 กลุ่มคือ บริการค้าขายผ่านระบบออนไลน์ (e-Retail) บริการระบบโลจิสติกส์และสั่งอาหารผ่านออนไลน์ (e-Logistics) บริการท่องเที่ยวออนไลน์ (e-Tourism) บริการออนไลน์มีเดีย (Online media) บริการโฆษณาออนไลน์ (e-Advertise) บริการเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) บริการเทคโนโลยีทางการแพทย์และสุขภาพ (HealthTech) และบริการเทคโนโลยีด้านการศึกษา (EdTech)

 

อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ของไทยครอบคลุม 3 สาขาคือ แอนิเมชัน เกม และคาแรคเตอร์ โดยอุตสาหกรรมเกมมีมูลค่าตลาดสูงสุด รองลงมาคือแอนิเมชัน และคาแรคเตอร์ ธุรกิจด้านดิจิทัลคอนเทนต์ มีการดำเนินการได้ใน 3 ลักษณะ คือ การผลิตดิจิทัลคอนเทนต์โดยมีทรัพย์สินทางปัญญาของตนเอง การรับจ้างผลิตงาน การจัดจำหน่าย นำเข้า และดูแลลิขสิทธิ์ในปี 2563 อุตสาหกรรมเกมมีมูลค่าการนำเข้าสูงถึง 33,449 ล้านบาท

 

ส่วนมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 408 ล้านบาท สำหรับอุตสาหกรรมแอนิเมชันมีมูลค่าการผลิตเท่ากับ 2,873 ล้านบาท โดยเป็นมูลค่าการส่งออก ซึ่งหมายถึงมูลค่าลิขสิทธิ์งานแอนิเมชันที่ต่างประเทศจ่ายเข้ามาในประเทศเท่ากับ 1,643 ล้านบาท

 

ในส่วนของอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้า มีมูลค่าเท่ากับ 13,703 ล้านบาทในปี 2563 โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 3.99% และคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ มีแนวโน้มหันมาใช้เทคโนโลยีบิ๊กดาต้าในการรวบรวมข้อมูล และนำไปใช้ในการวิเคราะห์ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีอื่นๆ

 

เช่น AI (Artificial Intelligence), IoT (Internet of Thing), Machine Learning หรือ 5G เพื่อยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อผู้บริโภคต่อไป โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าบิ๊ก ดาต้าสูง 3 กลุ่มแรกในปี 2563 คือ กลุ่มกิจกรรมทางการเงินและประกันภัย กลุ่มข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร และการขนส่ง และกลุ่มการผลิต ก่อสร้าง และการบริหารจัดการทรัพยากร

 

ถึงแม้อุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยหลายส่วนจะอยู่ในช่วงของการเริ่มต้น และมีมูลค่าการค้าไม่สูง แต่ด้วยทิศทางของเศรษฐกิจโลกที่มุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และประโยชน์จากการค้าดิจิทัล จึงควรพัฒนาการค้าดิจิทัลเพื่อเป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยในการเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนา การค้าดิจิทัล จำเป็นต้องมีการพัฒนาความเชื่อมโยงดิจิทัล (Digital connectivity) พัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้านดิจิทัล และมีมาตร การที่เกี่ยวข้องกับการค้าดิจิทัลที่เหมาะสมทั้งในด้านการส่งเสริมการค้าดิจิทัล และด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความปลอดภัย

 

ซึ่งในปัจจุบันไทยไม่มีมาตรการบังคับให้เก็บข้อมูลไว้ในประเทศ ในภาพรวม แต่มีการใช้มาตรการดังกล่าวในระดับธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจข้อมูลเครดิต ระบบการชำระเงิน และข้อมูลด้านสุขภาพ และมีการออกพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (Personal Data Protection Act: PDPA) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 โดย PDPA คุ้มครองและให้สิทธิ กับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล การเคลื่อนย้ายข้อมูลส่วนบุคคลระหว่างประเทศสามารถทำได้เมื่อได้รับการอนุญาตจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลเท่านั้น