การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลผลิตข้าวของไทย

06 พ.ค. 2565 | 08:15 น.
560

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลผลิตข้าวของไทย : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย รศ.ดร.ธันยพร จันทร์กระจ่าง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,780 หน้า 5 วันที่ 5 - 7 พฤษภาคม 2565

ปัจจุบัน มีการให้ความสนใจกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผล กระทบที่เกิดขึ้นกันมากยิ่งขึ้น นักเศรษฐศาสตร์ก็เช่นกัน และในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้จะมีหนังสือคู่มือทางเศรษฐศาสตร์เล่มใหม่ตีพิมพ์ออกมา  Handbook of Behavioral Economics and Climate Change ซึ่งมี S. Niggol Seo เป็นบรรณาธิการ ได้รวบรวมงานวิจัยและการศึกษาใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากหลักฐานเชิงประจักษ์จากหลากหลายภูมิภาคของโลก 

 

หนึ่งในนั้นก็คือ ประเทศไทย ผู้เขียน และ รศ.ดร. เขมรัฐ เถลิงศรี ได้รับเชิญให้เขียนงานวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลผลิตข้าวในประเทศไทยโดยใช้ข้อมูลระยะยาวย้อนกลับไปถึงปี ค.ศ. 1951 จึงขอใช้โอกาสนี้ มาเล่าว่าเราทำอะไรในงานวิจัยชิ้นนี้และพบอะไรบ้างนะคะ

 

เรามีสามคำถามหลักในงานวิจัยชิ้นนี้ ก่อนอื่น (1) เราหาหลักฐานว่าในภูมิภาคต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติหรือไม่ ในที่นี้เราใช้มาตรวัด climate normal ซึ่งเราสร้างจากค่าเฉลี่ย 30 ปี ของสภาพภูมิอากาศจากสถานีวัดสภาพอากาศในภาคต่างๆ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1951 ถึง 2016 แล้วนำมาทดสอบทางสถิติว่า climate normal มีแนวโน้มที่เปลี่ยนไปในช่วงกว่า 70 ปีที่ผ่านมาหรือไม่ 

 

เราพบว่า อุณหภูมิเฉลี่ย 30 ปี มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในทุกภาค และโดยเฉลี่ยอุณหภูมิสูงขึ้นถึงประมาณ 0.009 ถึง 0.018 องศาเซลเซียสต่อปี นอกจากนั้น ปริมาณนํ้าฝนเฉลี่ย 30 ปี ทั้งในช่วงฤดูฝน (พ.ค.-ต.ค.) และในฤดูแล้ง (พ.ย.-เม.ย.) ก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญด้วย 

 

เราจึงสรุปได้ว่าการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาวในภาคต่างๆ เกิดขึ้นจริง เราประสบกับอากาศที่ร้อนขึ้น ฝนที่ตกน้อยลง ถึงแม้ว่าในระยะหลังความรุน แรงดังกล่าวได้ลดลง เพราะเข้าสู่ช่วงสภาวะอากาศแบบลานีญา ที่ช่วยทำให้อุณภูมิลดลงและฝนตกมากขึ้นในประเทศไทย 

 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลผลิตข้าวของไทย

 

 

(2) เราสนใจว่า แล้วการที่ประเทศไทยร้อนขึ้น และมีฝนตกน้อยลง ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวและการขยายพื้นที่การปลูกข้าวซึ่งเป็นพืชอาหารหลักของคนเอเชียและเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยมาช้านานหรือไม่ โดยควบคุมปัจจัยทางการผลิตด้านอื่นๆ ด้วย เช่น การเข้าถึงการชลประทานภาครัฐ การใช้ปุ๋ยเคมี การเติบโตของประชากร และนโยบายภาครัฐที่ส่งผลต่อแรงจูงใจในการปลูกข้าว

 

ในส่วนของข้าวนาปี มีปริมาณนํ้าฝนสองช่วงที่ความสำคัญกับการผลิต ในช่วงมิ.ย.-ก.ค. ข้าวที่อยู่ในช่วงเติบโตจะต้องการ นํ้าฝนมาก ในขณะที่ช่วงฤดูเก็บเกี่ยว (ก.ย.-ต.ค.) ปริมาณนํ้าฝนที่มากเกินไปจะก่อให้เกิดความเสียหาย เราพบว่านํ้าฝนเฉลี่ยที่ลดลงในช่วงมิ.ย.-ก.ค. ไม่ได้ส่งผลต่อการปลูกข้าวนาปีในภาคต่างๆ 

 

แต่การเพิ่มขึ้นของนํ้าฝนในฤดูเก็บเกี่ยวมีความสัมพันธ์กับการลดลงของพื้นที่ปลูกข้าวนาปีในภาคอีสาน ซึ่งเป็นภาคที่พึ่งพาข้าวนาปีมากกว่าภาคอื่นๆ  แล้วอากาศที่ร้อนขึ้นส่งผลต่อการผลิตข้าวหรือไม่ เราพบว่าสำหรับข้าวนาปี อุณภูมิที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์กับการลดลงต่อผลผลิตต่อพื้นที่เฉพาะในภาคอีสาน และการลด ลงขอพื้นที่ผลิตในภาคอีสานและภาคกลางอย่างมีนัยสำคัญ  

 

ในส่วนของข้าวนาปรัง ฝนที่น้อยลง อากาศที่ร้อนขึ้น ส่งผล กระทบเฉพาะการลดลงของพื้นที่ปลูกข้าวนาปีในภาคใต้ ซึ่งมักประสบปัญหานํ้าเค็มจากทะเลหนุนในหน้าแล้ง แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวต่อพื้นที่แต่อย่างไร

 

(3) ทั้งๆ ที่ประเทศไทยประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างชัดเจน จากด้านบน เรากลับพบว่าผลกระทบต่อการผลิตข้าวในระยะยาวนั้นมีแค่บางภาค และแค่บางมิติ เราจึงถามต่อว่า แล้วมีปัจจัยอะไรที่ช่วยทำให้ผลผลิตข้าวในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยยังเพิ่มขึ้นในระยะยาว ทั้งๆ ที่สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนไป 

 

ประเทศไทยมีการขยายพื้นที่ชลประทานเพื่อการปลูกข้าวโดยเฉพาะในภาคกลางมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เราพบว่า การ ขยายพื้นที่ชลประทานภาครัฐส่งผลต่อการขยายพื้นที่การผลิตในภาคกลาง นอกจากนั้น ยังส่งผลต่อการเพิ่มผลิตผลต่อพื้นที่ของข้าวนาปีและนาปรังในภาคอีสาน ที่สภาพดินไม่เอื้อต่อการกักเก็บนํ้าอีกด้วย 

 

นอกจากนั้น การใช้ปุ๋ยเคมีที่เพิ่มขึ้นมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของผลผลิตต่อพื้นที่ของข้าวนาปีในภาคกลาง ซึ่งมีการปลูกข้าวแบบปรับปรุงพันธุ์ที่ต้องการปุ๋ยมากกว่าในภาคอื่นๆ  ในส่วนของนโยบายภาครัฐ เราไม่พบว่านโยบายอย่างจำนำข้าวส่งผลจ่อการเพิ่มผลผลิตหรือพื้นที่การเพาะ ปลูกอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด 

 

ไม่เพียงแค่การเพิ่มขึ้นของปัจจัยการผลิต ในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการปลูกข้าว ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงพันธุ์ข้าวนำโดยหน่วยงานภาครัฐ และการปรับปรุงวิธีการผลิตโดยเกษตรกรเอง เราวัดการพัฒนา ทางเทคโนโลยี จากส่วนต่างของผลผลิตต่อพื้นที่ระหว่างสองช่วงเวลาที่ไม่สามารถอธิบายได้โดยปัจจัยการผลิตอื่นๆ ขั้นต้นได้ และพบว่า การพัฒนาทางเทคโนโลยีมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของผลผลิตต่อพื้นที่ของข้าวนาปีในทุกภูมิภาค

 

ฉะนั้น เราอาจจะสรุปได้ว่าถึงแม้ว่าประเทศไทยจะประสบปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยน แปลงในระยะยาว การพัฒนาในด้านปัจจัยการผลิต อย่างการชลประทาน และการพัฒนาทางเทคโนโลยี เช่น การปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ทนต่อสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูกได้ดียิ่งขึ้น เป็นปัจจัยที่ช่วยให้การผลิต ข้าว ซึ่งเป็นพืชอาหารและพืชส่งออกที่สำคัญของประเทศยังเติบโตได้ในระยะยาว ในภาวะที่เราเผชิญต่อสภาพอากาศที่แปลง  

 

ไม่เพียงแต่เฉพาะการปรับพฤติกรรมของเราทุกคนให้เป็น มิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะช่วยชะลอปัญหาและบรรเทาผลของปัญหา แต่การพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ก็ยังเป็นอีกช่องทางที่ช่วยให้มนุษย์ดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้