Tourism Curse: คำสาปจากการท่องเที่ยว

25 พ.ค. 2565 | 11:56 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ค. 2565 | 19:00 น.
828

Tourism Curse: คำสาปจากการท่องเที่ยว : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.วัชรพงศ์ รติสุขพิมล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,786 หน้า 5 วันที่ 26 - 28 พฤษภาคม 2565

ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่า การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่มีส่วนในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศ โดยก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากข้อมูลของ World Travel & Tourism Council (WTTC) พบว่า ในปี 2019 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสร้างรายได้ประมาณร้อยละ 10.4 ของ GDP ของโลก หรือ ราว 9.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นการจ้างงานประมาณร้อยละ 10.6 ของการจ้างงานทั้ง หมดที่เกิดขึ้นในปีนั้น

 

เมื่อมองในมุมของรายได้จำนวนมากที่เข้ามาในประเทศปลายทางของการท่องเที่ยวแล้ว อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ดีต่อประเทศนั้นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่มีกำลังการผลิตสินค้าส่งออกชนิดอื่นๆ สู้ประเทศมหาอำนาจ หรือ ประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีกำลังการผลิตมากกว่าไม่ได้

 

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงกลายเป็นแหล่งที่มาของรายได้ที่สำคัญ และเป็นสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้นเติบโต ดังนั้น ประเทศที่มีสถานที่ท่องเที่ยว ทั้งทางธรรมชาติ หรือ ที่มนุษย์สร้างขึ้น จึงถูกมองว่าเหมือนประเทศเหล่านั้นได้รับของขวัญจากพระเจ้า

 

แต่นอกเหนือจากเงินที่สะพัดเข้ามาในประเทศแล้ว เงินเหล่านั้นมาพร้อมกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับประเทศปลายทาง ซึ่งก็คือ นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่อประเทศปลายทาง โดยที่ผลกระทบจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนนักท่องเที่ยวและกิจกรรมทางการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการจัดการจากภาครัฐ 

 

 

หากมองอย่างผิวเผินการท่องเที่ยวอาจสร้างรายได้ และอาชีพแก่ผู้คนจำนวนมากในบริเวณแหล่งท่องเที่ยว แต่ในส่วนใหญ่เมื่อพิจารณาดูแล้วจะพบว่า รายได้มหาศาลเหล่านั้น มักเป็นผลประโยชน์ที่ไหลเข้าสู่กระเป๋าของนายทุน หรือบริษัทรายใหญ่ ที่มีกิจการมากมายในบริเวณแหล่งท่องเที่ยวรายได้เพียงส่วนน้อยที่จะตกถึงผู้คนในพื้นที่อย่างแท้จริง

 

แม้อาชีพใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการท่องเที่ยวในพื้นที่จะสร้างรายได้แก่ผู้คนในพื้นที่ แต่สิ่งนั้นต้องแลกกับปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการท่องเที่ยวดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ สินค้าต่างๆ ที่ถูกจับจ่ายใช้สอยใน ชีวิตประจำวัน (Tradable goods) มักมีราคาที่เพิ่มสูงขึ้น หรือคล้ายๆ ที่เราจะคุ้นหูกันว่า “ราคาตามสถานที่ท่องเที่ยว” หรือ “ราคานักท่องเที่ยว” นั่นเอง

 

ในขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวจะเพิ่มความต้องการของสินค้าประเภท Non-tradable goods และส่งผลให้ราคาของสินค้า Non-tradable goods มีราคาที่สูงขึ้น โดยที่ Non-tradable goods เป็นสินค้าประเภทที่ไม่สามารถซื้อขายระหว่างประเทศได้ ผู้ผลิตและผู้บริโภคจะต้องอยู่ ที่แหล่งเดียวกัน เช่น ไฟฟ้า นํ้าประปา โรงแรม อสังหาริมทรัพย์ต่างๆ สิ่งอำนวยความสะดวกและบริการสาธารณะต่างๆ และการคมนาคมขนส่ง

 

นักท่องเที่ยวจำนวนมากใช้จ่ายเงินในธุรกิจที่ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ซึ่งเดิมทีอาจไม่มีธุรกิจเหล่านี้อยู่ในชุมชนมาก่อน (เหล่า Non-tradable goods ต่างๆ) เช่น การคมนาคม ขนส่ง ทั้งภายในบริเวณแหล่งท่องเที่ยว และระหว่างแหล่งท่องเที่ยว

 

ร้านจำหน่ายของที่ระลึก ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และโรงแรมใกล้แหล่งท่องเที่ยว ซึ่งจะเห็นได้ว่า การท่องเที่ยวสามารถส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่วิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน ซึ่งเมื่อการท่องเที่ยวกลายเป็นส่วนสำคัญในพื้นที่ การพัฒนาส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากสิ่งอำนวยความสะดวกแก่การท่องเที่ยว จึงมักถูกมองข้ามไป

                                 

ซึ่งในระยะยาวนั้นการเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของพื้นที่นั้นๆ ซึ่งจะคล้ายกับปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “Dutch Disease” ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิด “คำสาปจากการมีทรัพยากร” (Resource Curse)

 

โดยเป็นการอธิบายถึง การที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติ แต่กลับส่งผลเสียในระยะยาวแก่ประเทศ เนื่องจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ในประเทศไม่ได้รับการพัฒนา ค่าแรงและเงินเฟ้อสูงขึ้นในช่วงมีการส่งออกก๊าซธรรมชาติมาก

 

เมื่อแหล่งทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นเริ่มหมดไป อุตสาหกรรมอื่นๆ ในประเทศมีความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ลดลง เนื่องจากมีราคาส่งออกที่สูงขึ้นอันเป็นผลจากค่าแรงและเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากช่วงก่อนหน้า

 

โดยเมื่อนำแนวคิดนี้มาพิจารณาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวมักถูกเรียกว่า “Beach Disease” ซึ่งแสดงถึงการที่การท่องเที่ยวสร้างรายได้มหาศาลอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง ส่งผลให้การท่องเที่ยวเป็นภาคส่วนเดียวที่ถูกพัฒนา อาชีพด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เคยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนมักจะไม่ได้รับการสานต่อ เนื่องจากค่อยๆ หมดความสำคัญลงเมื่อพื้นที่ถูกพัฒนาและถูกให้ความสำคัญอย่างมากเพื่อที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยว

 

แต่ถึงเวลาหนึ่งเมื่อมีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบให้นักท่องเที่ยวลดน้อยลง เช่น ช่วง low-season หรือ เกิดเหตุภัยธรรมชาติที่แหล่งท่องเที่ยว รายได้จากนักท่องเที่ยวที่ลดลง ไม่สามารถคงอยู่ในระดับสูงดังเดิม เมื่อผู้คนในพื้นที่ต้องการหันกลับไปประกอบอาชีพด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม หรือ หารายได้จากกิจกรรมดั้งเดิมของชุมชนแล้ว ในเวลานั้นผู้คนในพื้นที่อาจไม่สามารถสร้างผลผลิตที่สามารถไปแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่นในตลาดได้อีกต่อไปแล้ว

 

นอกจากนี้ การพัฒนาด้านการศึกษา และทรัพยากรมนุษย์ของประชาชนในพื้นที่ก็เป็นอีกหนึ่งส่วน ที่ได้รับผลกระทบทางลบจากการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเช่นกัน เมื่อนึกถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว ผู้คนที่ให้บริการนั้น ส่วนมากเป็นคนในพื้นที่ที่เติบโตและยึดเอาอาชีพบริการนี้เป็นรายได้หลัก เนื่องจากมองว่าเป็นอาชีพและรายได้ที่มั่นคง ทำให้แรงจูงใจในการศึกษาเพื่อประกอบอาชีพอื่นๆ ย่อมน้อยลง

 

และเมื่อการพัฒนาถูกพุ่งเป้าไปเพื่อการท่องเที่ยว ส่วนการศึกษาของผู้คนในพื้นที่ย่อมถูกมองข้ามไป แรงงานส่วนใหญ่ในพื้นที่จึงมีการศึกษาภาคบังคับ และบ่อยครั้งที่พบว่า แรงงานเหล่านั้นได้รับการศึกษาที่ตํ่ากว่าเกณฑ์ที่ถูกกำหนดไว้

 

ในส่วนนี้ชี้ให้เห็นว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไม่ได้สร้างแต่ผลประโยชน์แก่ประเทศและประชาชนเสมอไป เนื่องจากในระยะยาวนั้นประชาชนในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวอาจไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเพียงพอ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นกับอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ประชาชนกลุ่มนี้จะได้รับผล กระทบเป็นอย่างมาก  

                                    Tourism Curse: คำสาปจากการท่องเที่ยว

อีกหนึ่งคำสาป หรือ ปัญหาของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้คือ นักท่องเที่ยว ทั้งในแง่ของเชิงปริมาณ (จำนวนนักท่องเที่ยว) และคุณภาพของนักท่องเที่ยว ที่มักจะถูกพูดถึงในฐานะที่เป็นผู้ที่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในแหล่งท่องเที่ยว

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งโดดเด่นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากในหลายๆ ประเทศ และสร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้แก่ประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์

 

ส่วนในบางประเทศที่ไม่เพียงแต่ทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวหรือสิ่งก่อสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้น ก็เป็นสิ่งดึงดูดสายตานักท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน เมื่อทั้งทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งก่อสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้น ถูกใช้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างหนัก โดยปราศจากการอนุรักษ์และฟื้นฟูอย่างยั่งยืน ทรัพยากรเหล่านั้นย่อมเกิดการเสื่อมโทรม ซึ่งจะส่งผลกระทบระยะยาว

 

เพราะคงไม่มีนักท่องเที่ยวกลุ่มใดสนใจ จะมาชมความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยว เมื่อปัญหานี้เป็นปัญหาที่หลายๆ ภาคส่วนตระหนัก แต่ทำไมเราคงยังได้ยินข่าวที่เกี่ยวกับการเสื่อมโทรมของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันเป็นผลมาจากการท่องเที่ยว ซึ่งปัญหาเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้น หากมีการจัดการและวางแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแก่สถานที่ท่องเที่ยวเหล่านั้น

 

เหตุที่เราต้องสนใจเรื่องดังกล่าว เนื่องจากประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศ ที่เศรษฐกิจโดยรวมยังคงพึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เมื่อมีเหตุการณ์ที่มากระทบการท่องเที่ยว อย่างเช่น การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้รายได้จำนวนมหาศาลหายไป จากการปิดประเทศ การว่างงานของแรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจมากมายในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องปิดกิจการเนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยว

 

เมื่อพิจารณามาถึงจุดนี้ จะเห็นว่า การพึ่งพาแต่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในแหล่งพื้นที่ โดยปราศจากตัวเลือกอื่นในการประกอบอาชีพ จะส่งผลร้ายได้ในระยะยาว

 

สิ่งที่รัฐบาลและภาคเอกชนควรร่วมมือกันพัฒนา และสนับสนุนพร้อมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คือ ทรัพยากรมนุษย์และอุตสาหกรรมอื่นๆ ในพื้นที่ หากอาชีพดั้งเดิมของชุมชน หรืออุตสาหกรรมอื่นในชุมชนยังถูกอนุรักษ์ไว้

 

เมื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น พวกเขาจะได้ไม่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เพราะมีความรู้และความสามารถในหลากหลายอาชีพ และเศรษฐกิจก็จะยังสามารถหมุนเวียนได้จากอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งเราสามารถเปลี่ยนจากคำสาปจากการท่องเที่ยว (Tourism Curse) ให้เป็นคำอวยพรจากการท่องเที่ยว (Tourism Bless) ได้ในท้ายที่สุด 

 

หมายเหตุ: ผู้เขียนขอขอบคุณ คุณนนทพร คุขุนทด สำหรับการค้นคว้าและช่วยรวบรวมข้อมูลสำหรับการเขียนบทความนี้