เงินเฟ้อ ราคานํ้ามัน และการปรับตัวของผู้บริโภค

19 พ.ค. 2565 | 13:54 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ค. 2565 | 20:54 น.
572

เงินเฟ้อ ราคานํ้ามัน และการปรับตัวของผู้บริโภค : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.สันต์ สัมปัตตะวนิช คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,785 หน้า 5 วันที่ 22 - 25 พฤษภาคม 2565

ในช่วงนี้ผมเชื่อว่าทุกท่านกำลังปวดหัวในด้านค่าครองชีพ ที่ข้าวของทุกอย่างกำลังมีราคาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างรู้สึกได้ และที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ราคานํ้ามัน และราคาอาหารสด

 

ผมจะขอเน้นไปที่การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าต่างๆ ที่เกี่ยวโยงกับราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคานํ้ามันและราคาก๊าซธรรมชาติ

 

เราต้องเข้าใจกันก่อนว่า ราคาสินค้า รวมถึงราคานํ้ามันนั้น มีการขึ้นลงไปตามกลไกตลาด หรือก็คือขึ้นกับอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งหมายถึง ปริมาณสินค้าที่มีคนต้องการ และปริมาณที่มีการผลิต ทีนี้สำหรับประเทศไทย ในด้านการผลิตนํ้ามัน เราเป็นผู้นำเข้าสุทธิ หรือแปลว่า เราผลิตนํ้ามันดิบเองได้น้อยกว่าที่มีความต้องการใช้งานภายในประเทศ ทำให้เราต้องนำเข้านํ้ามันดิบและพลังงาน

 

เงินเฟ้อ ราคานํ้ามัน และการปรับตัวของผู้บริโภค

 

ทั้งนี้ในตลาดโลก การซื้อขายพลังงานใช้ เงินสกุล ดอลลาร์สหรัฐ เป็นหลัก โดยในช่วงตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา เงินบาทมีค่าเงินที่อ่อนลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มีการปรับตัวในทิศทางสูงขึ้นกว่าในช่วงก่อนโควิด 19 หรือสูงกว่า 33 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ 34.33 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลงนี้มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายส่วน เช่น ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในสองประเทศ (ประเทศไทย และประเทศสหรัฐอเมริกา)

 

เงินเฟ้อ ราคานํ้ามัน และการปรับตัวของผู้บริโภค

 

เนื่องจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างมากในประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้ทางธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาต้องประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และมีแผนที่จะปรับขึ้นอีกในอนาคต เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ในขณะที่ประเทศไทย เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้แม้เราเห็นได้ว่าระดับราคาสินค้าจะเริ่มสูงขึ้นอย่างสังเกตได้ ธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ผลต่างของอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มมากขึ้นทำให้มีความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐสูงขึ้นเมื่อเทียบกับความต้องการเงินบาท และทำให้ค่าเงินของเราอ่อนค่าลง เป็นต้น

 

เมื่อประเทศไทยเป็นประเทศผู้ที่ต้องนำเข้านํ้ามันจากต่างประเทศ ราคานํ้ามันที่ใช้ในการผลิตจึงมีการขึ้นลง สอดคล้องกับราคานํ้ามันในตลาดโลก เมื่อเรามองทิศทางราคานํ้ามันดิบในตลาดโลก เราจะพบว่าในช่วงปลายปีค.ศ. 2019 ก่อนสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด 19 ราคานํ้ามันดิบเบรนท์ในตลาดโลกอยู่ที่ประมาณ 68 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อหนึ่งบาร์เรล โดยที่หนึ่งบาร์เรลที่ปริมาตรเท่ากับประมาณ 159 ลิตร

 

ในช่วงปีค.ศ. 2020 ราคานํ้ามันดิบได้ตกลง เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลกเกิดการหยุดชะงักไปทั้งโลกเพราะโรคระบาด ทั้งนี้ราคาได้เริ่มมีการปรับขึ้นในช่วงปลายปี 2020 และเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จากการที่เศรษฐกิจโลกค่อย ๆ ดีขึ้นในหลายประเทศจากการเริ่มผ่อนคลายมาตรการในการจัดการกับไวรัสโควิด 19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ทยอยฟื้นตัว

 

โดยราคานํ้ามันดิบเบรนท์ ณ วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 เท่ากับ 112.39 ดอลลาร์สหรัฐต่อหนึ่งบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าราคาก่อนหน้าการระบาดของไวรัสโควิด 19 ถึงเกือบสองเท่า

 

 

เงินเฟ้อ ราคานํ้ามัน และการปรับตัวของผู้บริโภค

 

 

ราคานํ้ามันที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสงครามในประเทศยูเครนโดยเมื่อประเทศรัสเซียเปิดสู้รบกับประเทศยูเครนในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ราคา นํ้ามันดิบเบรนท์ มีราคาที่ผันผวนค่อนข้างมาก แต่มีราคาสูงกว่า 97 ดอลลาร์สหรัฐต่อหนึ่งบาร์เรลมาโดยตลอด และมีราคาขึ้นไปสูงที่สุดที่ เกือบ 128 ดอลลาร์สหรัฐต่อหนึ่งบาร์เรล ในวันที่ 8 มีนาคม 2565

 

สงครามในยูเครนส่งผลกระทบต่อราคานั้นมันทั้งในด้านความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจโลก และในด้านอุปทานของพลังงาน เพราะประเทศรัสเซียมีสินค้าส่งออกที่สำคัญคือนํ้ามันและก๊าซธรรมชาติโดยประเทศคู่ค้าก๊าซธรรมชาติที่สำคัญคือประเทศในสหภาพยุโรป โดยส่งก๊าซผ่านท่อส่ง ที่วางแนวท่อผ่านประเทศยูเครน ทำให้ในทางสงคราม การดำเนินนโยบายกดดันประเทศรัสเซียให้ยุติสงครามทำได้ลำบากสำหรับสหภาพยุโรป และราคาก๊าซธรรมชาติของโลกมีราคาสูงขึ้น

 

ในส่วนของนํ้ามันดิบและนํ้ามันสำเร็จรูปนั้น ประเทศรัสเซีย เป็นประเทศผู้ผลิตนํ้ามันดิบที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สองของโลก ตามหลังประเทศซาอุดิอารเบีย ดังนั้น ในช่วงสงครามที่ประเทศโลกตะวันตกมีความพยายามกดดันประเทศรัสเซีย ด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจที่หลากหลายและส่งผลต่อการทำธุรกรรมค้าขายระหว่างประเทศนั้น ทำให้ปริมาณอุปทานของนํ้ามันดิบในตลาดโลกได้รับผลกระทบไปด้วย

 

ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาราคานํ้ามันในประเทศ ไทยที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ เป็นผลมาจากสงครามในยูเครนโดยตรง นอกจากเรื่องนํ้ามันดิบแล้ว ประเทศรัสเซียยังส่งออกถ่านหินเป็นลำดับที่สามของโลกอีกด้วย โดยในแต่ละปีประเทศรัสเซียส่งออกสินแร่ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานรวมกันนับได้ประมาณร้อยละ 61 ของปริมาณการส่งออกสินค้าทั้งหมดของประเทศ ทำให้สงครามครั้งนี้กดดันราคาพลังงานของโลกเป็นอย่างมาก และส่งผลต่อระดับราคาสินค้าต่างๆ ด้วยเพราะทำให้ต้นทุนในการผลิตและขนส่งสินค้าต่างๆ สูงขึ้น

 

ในส่วนของประเทศไทยเองนั้นต้นทุนด้านพลังงานส่งผลอย่างมากต่อต้นทุนทุกอย่างในประเทศ ในปีพ.ศ. 2562 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ประมาณสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ของประเทศไทยที่ร้อยละ 13.4 โดยเป็นต้นทุนการขนส่งถึงร้อยละ 6.7 ทำให้ราคาพลังงานโดยเฉพาะราคานํ้ามัน

 

นอกจากจะกระทบต่อค่าใช้จ่ายของผู้ใช้รถใช้ถนนโดยตรงแล้ว ยังส่งผลต่อต้นทุนในการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ ด้วยทำให้ถ้าสถานการณ์ราคานํ้ามันดิบยังอยู่ในทิศทางขาขึ้นเช่นนี้ ราคาสินค้าต่างๆ ในประเทศไทยจะต้องปรับตัวขึ้นตามไปด้วยอย่างแน่นอน

 

ดังที่เราได้เริ่มเห็นแล้วจากการปรับขึ้นราคาของสินค้าบางชนิด หรือแม้แต่การที่ผู้ให้บริการการขนส่งหลายราย แบกรับต้นทุนไม่ไหว มีการขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลให้จัดการดูแลราคานํ้ามัน ก่อนที่จะส่งผลกระทบต่อราคาค่าบริการ

 

ในด้านราคานํ้ามันนั้นโดยปกติการขึ้นลงของราคานํ้ามันในตลาดโลก ราคานํ้ามันดีเซลซึ่งเป็นนํ้ามันเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ในภาคขนส่งของประเทศไทย จะได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิง ในปัจจุบันที่ราคานํ้ามันเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลต้องประกาศยกเลิกการพยุงราคานํ้ามันดีเซลไว้ไม่ให้เกินสามสิบบาทต่อลิตร ในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อไม่ให้กองทุนนํ้ามันฯ ติดลบมากเกินไปจนก่อหนี้ระยะยาว ทำให้กลไกในการช่วยเหลือเบื้องต้นของรัฐบาลไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่

 

รัฐบาลอาจจะสามารถช่วยเหลือผู้บริโภคได้ในด้านอื่นๆ เช่นการใช้มาตรการทางภาษีอื่นๆเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในภาพรวม ซึ่งต้องแลกกับการที่รัฐอาจจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้าในระยะสั้น และอาจมีผลต่อสภาพคล่องของรัฐบาลในระยะสั้นได้ ทว่าการไม่ช่วยเหลือใดๆ จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยและประชาชนจะประสบภาวะที่ลำบากมากขึ้นเพราะสินค้าแพงขึ้น

 

แต่ผู้บริโภคมีกำลังการจับจ่ายใช้สอยลดลง จะทำให้เศรษฐกิจเกิดการหดตัว ผู้ที่มีสินทรัพย์และรายได้สูงอาจได้รับผลกระทบไม่มาก แต่คนรายได้ปานกลางและตํ่า ที่มีหนี้สิน จะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก รัฐบาลจึงควรเข้าไปช่วยเหลือประชาชนกลุ่มนี้ การไม่ช่วยเหลือใดๆ เลยจะทำให้กำลังซื้อในเศรษฐกิจไทยลดลงและส่งผลต่อสภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมเป็นอย่างมาก 

 

ภาคประชาชนเองก็ต้องปรับตัว ปรับพฤติกรรมในการใช้พลังงาน การคงการทำงานที่บ้านต่อไปในหลายองค์กร อาจช่วยลดการใช้พลังงานในเมืองใหญ่ได้พอควร การทยอยเปลี่ยนผ่านไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าอาจเป็นทางเลือกในระยะยาว ที่มาถึงเร็วขึ้น รัฐเองต้องเตรียมการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานให้ดีพอ 

 

แม้เราจะเน้นในเรื่องนํ้ามันเชื้อเพลิงและพลังงาน แต่ปัญหาราคาสินค้าจะเกิดกับสินค้าและบริการอื่นๆ เช่นกัน พวกเราคงต้องปรับตัว ใช้สอยอย่างประหยัด ใช้อย่างฉลาด แต่การไม่ใช้เงินเลย คงไม่ใช่คำตอบ ถ้าท่านไม่ลำบาก การลดการบริโภคของท่านอาจจะยิ่งซํ้าเติมเศรษฐกิจในภาพรวม

 

สุดท้าย การใช้สอยอย่างพอเพียง อาจจะเป็นคำตอบในมุมของผู้บริโภค เราใช้สอยตามที่เราต้องการ โดยที่ไม่ทำให้ตัวเราเองต้องลำบากและประสบปัญหาในระยะยาว ลดการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น ใครมีมาก ก็ใช้มากได้ ใครมีน้อย ก็ใช้เท่าที่จำเป็น ใช้จ่ายอย่างประหยัด รัฐบาลเองต้องสามารถเข้าช่วยเหลือกลุ่มคนที่ขัดสนและลำบากในการดำรงชีพได้โดยตรง ขอให้ทุกคนมีสติในการบริโภคกันครับ