Adventure Tourism ท่องเที่ยวแนวใหม่ที่กำลังมาแรง

01 ธ.ค. 2564 | 12:03 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ธ.ค. 2564 | 19:03 น.
5.6 k

Adventure Tourism ท่องเที่ยวแนวใหม่ที่กำลังมาแรง : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.วัชรพงศ์ รติสุขพิมล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,736 หน้า 5 วันที่ 2 - 4 ธันวาคม 2564

ปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงผจญภัย (Adventure Tourism) กำลังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมากขึ้นโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่อยู่ในกลุ่ม Generation Y ที่ชอบทำกิจกรรมที่แปลกใหม่ เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญและเป็นกลุ่มที่มีรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวใหม่ที่ค่อนข้างมีคุณภาพและมีกำลังทรัพย์ที่จะจ่ายค่อนข้างสูงซึ่งแตกต่างจากการท่องเที่ยวแบบมวลชน (Mass Tourism) ที่ใช้ทรัพยากรจนขาดความระมัดระวังจนอาจจะนำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างของการท่องเที่ยวเชิงผจญภัยที่เป็นที่นิยมได้แก่ ล่องแก่ง ปีนเขา ดูสัตว์​ เดินป่าและโรยตัว เป็นต้น 

 

Adventure Tourism ท่องเที่ยวแนวใหม่ที่กำลังมาแรง

 

 

การท่องเที่ยวเชิงผจญภัยนั้นเป็นการท่องเที่ยวความสนใจพิเศษ (Special Interest Tourism) รูปแบบหนึ่ง แต่กลับไม่มีนิยามที่แน่ชัด โดย UN World Tourism Organization (UNWTO) และ Adventure Travel Trade Association (ATTA) ได้ให้ขอบเขตของการท่องเที่ยวเชิงผจญภัยไว้ว่าเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวที่มีองค์ประกอบอย่างน้อย 2 ใน 3 จากองค์ประกอบดังต่อไปนี้ 1) กิจกรรมทางกายภาพ 2) สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและ 3) การเรียนรู้วัฒนธรรม เพื่อสร้างความท้าทายและความแปลกใหม่ให้แก่นักท่องเที่ยว ในขณะที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้คำจำกัดความไว้ว่า เป็นการเดินทางท่องเที่ยวไปยังแหล่งธรรมชาติเพื่อพักผ่อนกับธรรมชาติและทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก มักเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงและต้องใช้พละกำลังในการทำกิจกรรม ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกเพลิดเพลิน ตื่นเต้น ท้าทาย เรียนรู้ และได้รับประสบการณ์แปลกใหม่ อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยได้รวมการท่องเที่ยวเชิงผจญภัยไปกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เนื่องจากการท่องเที่ยวเชิงผจญภัยมักเกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน

 

การท่องเที่ยวเชิงผจญภัยนับว่าเป็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่สำหรับประเทศไทย แม้จะเป็นคำที่เพิ่งปรากฏแพร่หลายในประเทศไทยเมื่อประมาณ 7 ปีที่ผ่านมานี้ แต่ด้วยการได้สัมผัสกับธรรมชาติและความท้าทายที่เปรียบเสมือนการเอาชนะความสามารถของตนเอง

 

กิจกรรมผจญภัยนี้เองที่ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ให้ความสนใจกับการท่องเที่ยวเชิงผจญภัยมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้การท่องเที่ยวเชิงผจญภัยกลายเป็นหนึ่งในหมวดหมู่การท่องเที่ยวที่มาแรงในตอนนี้เลยก็ว่าได้ ฟังดูอาจจะเหมือนว่าการท่องเที่ยวเชิงผจญภัยนั้นเกิดขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค แต่แท้ที่จริงแล้วยังสร้างผลกระทบภายนอกเชิงบวกให้กับสถานที่ท่องเที่ยวอีกด้วย

 

 

 

การท่องเที่ยวเชิงผจญภัยบางประเภทนั้น ไม่จำเป็นต้องเที่ยวในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว แต่ยังสามารถเที่ยวในช่วงนอกฤดูกาลได้ด้วย ทำให้มีนักท่องเที่ยวมาเยือนจุดหมายปลายทางตลอดทั้งปี จึงทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้ทั้งปี

 

อีกทั้งการท่องเที่ยวเชิงผจญภัยนั้นดึงดูดนักท่องเที่ยว ที่มีกำลังทรัพย์สูงกว่าการท่องเที่ยวแบบมวลชนทั่วไป จากการที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ มักจะเต็มใจที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้รับประสบการณ์ที่แท้จริงและแปลกใหม่ 

 

ยิ่งไปกว่านั้น รายได้จากการท่องเที่ยวนี้ก็เข้าไปหมุนเวียนในเศรษฐกิจท้องถิ่นโดยตรงมากกว่า ซึ่งไปช่วยให้เกิดการกระจายรายได้ การยกระดับคุณภาพชีวิต และนำรายได้กลับมาบำรุงฟื้นฟูสถานที่ต่อไป จึงอาจกล่าวได้ว่าการท่องเที่ยวเชิงผจญภัยนั้น นอกจากจะไม่ทำลายธรรมชาติแล้ว ยังช่วยให้เกิดการเรียนรู้ การอนุรักษ์ธรรมชาติ และกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นอีกด้วย 

 

บ้านสองแพรก ตั้งอยู่ในตำบลสองแพรก อำเภอเมือง จังหวัดพังงา เป็นตัวอย่างหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวเชิงผจญภัยในประเทศไทย ที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีภูมิประเทศอยู่ระหว่างเทือกเขาสูง มีลำธารไหลผ่านที่ไหลลงมาจากนํ้าตกโตนปริวรรต เหมาะสำหรับการจัดกิจกรรมหลายประเภท เช่น ล่องแก่ง นั่งช้าง ขับรถ ATV พายเรือแคนู โดยมีกิจกรรมล่องแก่งระยะทาง 5 กิโลเมตรเป็นจุดขายหลัก มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการกิจกรรมล่องแก่งในแต่ละปีรวมแล้ว 30,00-40,000 คน

 

โดยกิจกรรมล่องแก่งเป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวจะนั่งในเรือยาง อาศัยกระแสนํ้าในการเคลื่อนเรือยางและพยายามหลบหลีกโขดหินตามลำนํ้า โดยแหล่งนํ้าที่สำคัญของกิจกรรมล่องแก่งที่นี่คือนํ้าที่ไหลมาจากนํ้าตกโตนปริวรรต ระดับความแรงของแก่งอยู่ที่ระดับ 3 หรือ ระดับปานกลาง ตามเกณฑ์ของ American White Affiliation ซึ่งกิจกรรมต่างๆ มีส่วนทำให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสและใกล้ชิดกับธรรมชาติ

 

ทั้งยังท้าทายความสามารถนักท่องเที่ยว ด้วยความเร็วของกระแสนํ้า โขดหินขวางทางนํ้า และทักษะการพายเรืออีกด้วย อาจกล่าวได้ว่าความสนุกสนานและความท้าทายเหล่านี้เองที่ทำให้การท่องเที่ยวในบ้านสองแพรกเติบโตอย่างรวดเร็ว 

 

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมล่องแก่งยังถือว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงผจญภัยที่ใหม่ในประเทศไทย แต่ก็มีการเติบโตเร็วด้วยเช่นกัน การเติบโตที่รวดเร็วใช่ว่าจะเกิดผลดีเสมอไป การใช้ทรัพยากรโดยขาดการคำนึงถึงความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ

 

ปัญหาขยะมูลฝอยจากการท่องเที่ยว การรบกวนสัตว์ป่าการขาดการดูแลรักษาป่าต้นนํ้าคือผลเสียที่เกิดขึ้น สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงได้ประกาศกำหนดเกณฑ์มาตรฐานด้านการท่องเที่ยวประเภทแก่งที่ให้ความสำคัญกับทั้งแหล่งท่องเที่ยว  การจัดการการท่องเที่ยวที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพธรรมชาติ และความปลอดภัยจากกิจกรรม 

 

ถึงแม้ว่ารูปแบบการท่องเที่ยวนี้จะมาแรง แต่ก็ยังเป็นการท่องเที่ยวกลุ่มเฉพาะอยู่ (Niche Market) จึงยังไม่ได้รับการสนับสนุนที่เฉพาะเจาะจงจากภาครัฐมากนัก สำหรับอนาคต ภายหลังจากการเปิดประเทศ การท่องเที่ยวเชิงผจญภัยในประเทศไทยนั้น เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง เนื่องจากประเทศไทยมีแหล่งธรรมชาติมากมายแหล่งนํ้าและป่าไม้เริ่มกลับมาอุดมสมบูรณ์ขึ้นอีกครั้ง ในช่วงที่ปิดประเทศทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากที่ต้องการจะมาเยี่ยมชมและทำกิจกรรม

 

รวมถึงตลาดการท่องเที่ยวเชิงผจญภัยจากนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศก็มีศักยภาพในการเติบโตเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้น ภาครัฐควรสนับสนุนการท่องเที่ยวรูปแบบนี้ ที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น พร้อมทั้งต้องส่งเสริมความยั่งยืนของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ โดยการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้หรือแหล่งนํ้า

 

รวมไปถึงต้องมีมาตรการความปลอดภัยในระหว่างการทำกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงผจญภัยไม่ให้เกิดความประมาท สร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว กระตุ้นให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงความปลอดภัยต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว เป็นเจ้าบ้านที่ดี ซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศและรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้อยู่กับเราต่อไปในอนาคต

 

หมายเหตุ : ผู้เขียนขอขอบคุณคุณปัณฑิตา ศรีพระยา สำหรับการค้นคว้าและช่วยรวบรวมข้อมูลสำหรับการเขียนบทความนี้ 

 

แหล่งอ้างอิง

กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (2557).  คู่มือการตรวจประเมินมาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติประเภทแก่ง. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์

ชัยนันต์ ไชยเสน, และอารีย์ฏา ถิรสัตยาพิทักษ์. (2562). การท่องเที่ยวเชิงนิเวศผจญภัย: การรับรู้มาตรฐานผู้ประกอบ กิจกรรมล่องแก่งบ้านสองแพรกจังหวัดพังงา. วารสารวิชาการการท่องเที่ยวไทยนานาชาติ, 15(1), 22-46