การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน

17 พ.ย. 2564 | 15:26 น.
อัปเดตล่าสุด :17 พ.ย. 2564 | 22:27 น.

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.สินีนาฏ เสริมชีพ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,732 หน้า 10 วันที่ 18 - 20 พฤศจิกายน 2564

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นปัจจัยขับเคลื่อนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอาเซียน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งการลงทุนที่สำคัญจากนักลงทุนจากทั่วโลก

 

โดยในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด- 19 เงินลงทุนไหลเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 116 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2559 มาอยู่ที่ 182 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2562 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของเงินลงทุนไหลเข้าในอาเซียน และทำให้ในปีดังกล่าวอาเซียนเป็นแหล่งลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศกำลังพัฒนา

 

ในปี 2563 ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้อาเซียนได้รับเงินลงทุนจากต่างประเทศลดลง 25% มาอยู่ที่ 137 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เมื่อพิจารณาในจากสัดส่วนของเงินลงทุนที่ได้รับเทียบกับเงินลงทุนจากทั่วโลก พบว่า เพิ่มขึ้นจาก 11.9% เป็น 13.7% (ASEAN Investment Report 2020-2021, ASEAN Secretariat, 2020)

 

ถึงแม้ในภาพรวมการลงทุนจากต่างประเทศในอาเซียนจะลดลง โดยในภาคอุตสาหกรรมลดลงถึง 55% และการลงทุนในภาคบริการ เช่น ด้านการเงิน ท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ และ การก่อสร้างลดลงเช่นเดียวกัน แต่อาเซียนยังคงมีการไหลเข้าของเงินลงทุนที่เข้มแข็งในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล อาทิเช่น การลงทุนในเครือข่าย 5G ศูนย์ข้อมูล (Data Center) และ คลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing)

 

ประเทศในอาเซียนต่างตระหนักถึงความสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากธุรกิจออนไลน์ เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) สื่อ ออนไลน์ และบริการเรียกรถ (Ride Hailing) มีการขยายตัวมากในช่วงที่ผ่านมา ผู้ผลิตและผู้บริโภคปรับเปลี่ยนมาทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น รวมถึงการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในการผลิตและการให้บริการ

 

นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในอาเซียน มีบทบาทสำคัญในการเป็นปัจจัยเร่งให้อาเซียน มีการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีบทบาทในฐานะนักลงทุนที่นำเงินลงทุนเข้ามาในภูมิภาค เป็นผู้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัล และเป็นผู้ผลิตสินค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล

 

นอกจากนี้ บรรษัทข้ามชาติที่เป็นนักลงทุนเหล่านี้ ยังมีบทบาทเป็นผู้ฝึกอบรมการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของบรรษัทข้ามชาติดังกล่าวมีผลให้บริษัทอื่นๆ ทั้งบริษัทของประเทศในอาเซียนและบริษัทต่างชาติอื่นๆ รวมถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการผลิต และการเข้ามาลงทุนของบรรษัทข้ามชาติมีส่วนช่วยในการพัฒนาระบบนิเวศของเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน (ASEAN Secretariat, 2020)

 

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน

 

บรรษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนในหลายอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อาทิเช่น เครือข่าย 5G ศูนย์ข้อมูล ระบบควบคุมอัตโนมัติทางด้านอุตสาหกรรม (Industrial Automation: IA) และการเชื่อมต่อเครื่องจักรและระบบอุตสาหกรรมเข้ากับอินเตอร์เน็ต (Industrial IoT: IIoT)

 

การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล (Digital Infrastructure) เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมจะทำให้มีเครือข่ายการเชื่อมโยงที่มีประสิทธิภาพและเป็นแกนหลัก (Backbone) ของเศรษฐกิจดิจิทัล

 

มีการคาดการณ์ว่า อาเซียนจะต้องการการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลโดยเฉลี่ย 14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ในช่วงระหว่างปี 2563-2568 เพื่อปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกและเครือข่ายโทรคมนาคมให้ดีขึ้น และพัฒนาอุปกรณ์เพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G (ASEAN Secretariat, 2020) ในปัจจุบันมีบรรษัทข้ามชาติด้านโทรคมนาคมจากยุโรป คือ Ericsson (สวีเดน) และ Nokia (ฟินแลนด์) และจากเอเชีย คือ Huawei และ ZTE (จีน) และ NTT (ญี่ปุ่น) เข้ามาลงทุนในเครือข่าย 5G ในอาเซียน 

 

นอกจากนี้ อาเซียนยังเป็นแหล่งการลงทุนที่สำคัญในด้านศูนย์ข้อมูล โดยมีการคาดการณ์ว่าอาเซียนจะเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ตลาดด้านศูนย์ข้อมูลเติบโตเร็วที่สุดในโลก จากมูลค่า 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2562 ไปอยู่ที่ 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2567 โดยในปี 2563 มีศูนย์ข้อมูลถึง 295 แห่งในอาเซียนและส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย และมากกว่า 40% ของศูนย์ข้อมูลในอาเซียนเป็นการลงทุนจากต่างประเทศหรือการร่วมลงทุน 

 

การลงทุนด้านระบบควบคุมอัตโนมัติทางด้านอุตสาหกรรมของอาเซียนยังคงอยู่ในสัดส่วนที่น้อย คิดเป็นเพียง 12% ของการลงทุนใหม่ (Greenfield Investment) ของภูมิภาคในทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้มีโอกาสในการขยายการลงทุนในด้านดังกล่าว

 

นอกจากนี้ ความต้องการระบบควบคุมอัตโนมัติทางด้าoอุตสาหกรรม (IA) และการเชื่อมต่อเครื่องจักรและระบบอุตสาหกรรมเข้ากับอินเตอร์เน็ต (IIoT) ในอาเซียนเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากโรงงานส่วนใหญ่ปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการผลิต

 

ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยและการตั้งโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) ของบรรษัทข้ามชาติในอาเซียนมีส่วนกระตุ้นให้ใช้มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ในปัจจุบันมีบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ด้าน IA และ IIoT หลายแห่งจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในอาเซียน โดยดำเนินการทั้งในด้านการขาย จัดจำหน่าย รวมถึงการฝึกอบรมและการวิจัยและพัฒนาในภูมิภาค 

 

ดังนั้น สามารถสรุปได้ว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่ความเจริญเติบโตต่อไป และเพื่อให้เกิดการพัฒนาดังกล่าว อาเซียนจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้สามารถดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศด้านดิจิทัล

 

โดยส่วนที่สำคัญ คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ให้เกิดความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลในภูมิภาค รวมถึงการพัฒนาแรงงานในภูมิภาคให้มีความรู้และทักษะทางด้านดิจิทัลเพื่อรองรับการเข้ามาของการลงทุนจากต่างประเทศต่อไป