การเสริมสร้างธรรมาภิบาลและการส่งเสริมการต่อต้านคอร์รัปชัน

06 ก.ย. 2566 | 14:09 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ย. 2566 | 14:09 น.

การเสริมสร้างธรรมาภิบาลและการส่งเสริมการต่อต้านคอร์รัปชัน : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย...ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,920 หน้า 5 วันที่ 7 - 9 กันยายน 2566

ปัญหาธรรมาภิบาลและคอร์รัปชัน เป็นปัญหาสำคัญยิ่งที่ไม่ได้ส่งผล กระทบต่อเฉพาะกับการพัฒนาประเทศเท่านั้น แต่ ณ ปัจจุบัน ยังส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุน การทำการค้าระหว่างประเทศ รวมไปถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในด้านต่างๆ ด้วย

นั่นหมายความว่า การคอร์รัปชัน ส่งผลกระทบที่ขยายตัวไปมากกว่าแค่มิติทางการเมือง ผล กระทบต่อประชาชนทั้งประเทศในภาพรวมมีมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นหากไม่ได้มีนโยบายหรือมาตรการเร่งด่วนเข้ามาแก้ไขปัญหา ผลกระทบนี้จะยิ่งขยายขึ้นเป็นทวีคูณ 

 

 

 

บทความชิ้นนี้จะนำเสนอ Quick Win ของนโยบายในการเสริมสร้างธรรมาภิบาลและต่อต้านคอร์รัปชัน บางส่วนที่ได้จากงานวิจัย เรื่องโครงการสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 และโครงการวิจัยที่กำลังดำเนินการ อยู่ในปัจจุบัน ชื่อโครงการสังคมไทยไร้คอร์รัปชันด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) 

ประเทศไทยมีนโยบายแก้ปัญหาคอร์รัปชัน และหรือสร้างธรรมาภิบาลอยู่มากมาย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่านโยบายเหล่านี้เป็นนโยบายที่ซ้อนทับกันอยู่ในแนวตั้ง และหลากหลายเชิงปริมาณในแนวนอน

แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา นโยบายเหล่านี้ไม่ประสบผลสัมฤทธิ์เท่าที่ควร ในแง่การปราบปราม การสร้างความตระหนักรู้และการทำให้ทั้งสังคมรับรู้ว่าคอร์รัปชันมีอยู่จริงและเป็นเรื่องใหญ่ อาจเนื่องมาจากความซับซ้อนของกระบวนการที่สร้างความสับสน เป็นการสกัดกั้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

คำถามก็คือ เรายังควรที่จะเพิ่มปริมาณของนโยบาย เครื่องมือหรือกลไกเหล่านี้หรือไม่ คำตอบคือ เราควรจะชะลอตัวลง และเน้นไปที่การให้ความสำคัญกับคุณภาพของนโยบายมากไปกว่าการเพิ่มปริมาณ พร้อมกับยกระดับให้มาตรการหรือเครื่องมือเหล่านี้ใช้งานได้จริง 

 

 

การเสริมสร้างธรรมาภิบาลและการส่งเสริมการต่อต้านคอร์รัปชัน

 

 

 

เมื่อจัดกลุ่มนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างธรรมาภิบาล และต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศไทย พบว่า เรามีนโยบายหลักใน 3 ประเด็น ได้แก่

1) นโยบาย Open Data เป็นนโยบายที่ภาครัฐบังคับให้หน่วยงานภาครัฐแต่ละแห่งเปิดเผยข้อมูล

2) นโยบาย Whistle Blowing กล่าวคือ เป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแจ้งเบาะแส มีกฎหมายที่บังคับให้แต่ละหน่วยงานมีช่องทางให้ประชาชนร้องเรียน/ร้องทุกข์

และ 3) นโยบาย Policy Engagement ที่กำหนดให้หน่วยงานแต่ละแห่งต้องมีการสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนไม่ทางใดทางหนึ่ง

ที่นี้ลองพิจารณาประสิทธิภาพของการใช้งานในนโยบายทั้ง 3 เรื่อง ยกตัวอย่างเช่น นโยบายเรื่อง Open Data ท่านผู้อ่านก็จะคุ้นเคยกับการเปิดเผยข้อมูลในลักษณะที่เว็บไซต์ของหน่วยงานราชการ แขวนข้อมูล PDF จำนวนหนึ่งบนหน้าเว็บไซต์ เป็นข้อมูลที่ในทางปฏิบัตินำมาใช้ประโยชน์จริงได้ยากมาก คัดลอกก็ไม่ได้ แปลง (Convert) มาเป็นไฟล์อื่นที่นำไปใช้ต่อก็ไม่ได้

นโยบาย Whistle Blowing หลายท่านคุ้นเคยกับช่องทางการร้องเรียนโดยสแกน QR Code ที่เมื่อท่านกรอกแบบฟอร์มเสร็จแล้ว ท่านไม่รู้เลยว่าข้อร้องเรียนของท่านดำเนินการไปถึงไหนแล้ว ใครทำอะไรอย่างไรบ้าง หน่วยงานที่ดีหน่อยวันดีคืนดีก็ตอบกลับมา แต่ว่าหลายหน่วยงานก็หายเงียบไป

บางหน่วยงานก็บอกให้ท่านอีเมลไป ท่านก็ไม่รู้อีกเช่นกันว่า เรื่องที่ท่านตั้งใจเสนอ หรือ ร้องเรียนไป มีคนรับรู้หรือเปล่าแล้วไปอยู่ที่ไหน

สุดท้ายนโยบาย Policy Engagement ท่านก็จะคุ้นเคยกับกระบวนการประชาพิจารย์ที่มาขอให้ท่านไปนั่งฟังหน่อย ไปร่วมมือหน่อย หรือบางหน่วยงานก็มีค่ารถค่าเดินทางให้ด้วย ซึ่งคนที่ไปร่วมอาจไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ได้มีความสนใจมากนัก

3 นโยบายนี้ เป็นมาตรการที่สัมพันธ์กับการเสริมสร้างธรรมาภิบาลและต่อต้านคอร์รัปชันโดยตรง ซึ่งมีเยอะในเชิงปริมาณ ซึ่งการมีนโยบายจำนวนมาก ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสียทีเดียวในช่วงเริ่มต้น แต่เราสามารถเพิ่มคุณภาพได้

เช่น นโยบาย Open Data ถ้าเทียบกับระดับสากล ตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในระดับที่หนึ่งที่เรียกว่า Show คือ เป็นระดับของการแสดงให้เห็นว่ามีข้อมูล ซึ่งถ้าจะให้ดีขึ้นต้องพัฒนาเป็นระดับที่สองที่เรียกว่า Read ซึ่งหมายถึง Machine- readable แปลว่า เครื่องมือเครื่องจักรกลไกคอมพิวเตอร์อ่านข้อมูลนี้ได้ เอาไปประมวลผลได้

แปลว่า ควรจะขยับจากการเปิดข้อมูลที่เป็น PDF ไปสู่การเปิดข้อมูลเป็นข้อมูลที่เครื่องอ่านออก เช่น ตาราง Excel ไฟล์ CSV ไฟล์ Word หรือแม้แต่ไฟล์ PDF ที่เป็นคำที่เครื่องสามารถอ่านได้ ก็ได้

ในระดับสากล การวัดคุณภาพของ Open Data ในขั้น Read คือ ต้องให้เครื่องอ่านได้ ส่วนในระดับ ที่สาม คือ Link แปลว่าต้องเชื่อมโยง ระหว่างหน่วยงานได้ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ความผิดปกติได้ 

ในนโยบาย Whistle Blowing ตอนนี้เราอยู่ในขั้นที่เปิดให้ร้องเรียนได้เท่านั้น ยังไม่ได้พัฒนาไปถึงขั้นของการ Track ข้อมูล ซึ่งหมายความว่า ประชาชนที่ร้องเรียนควรจะรู้ว่า สิ่งที่เขาร้องเรียนไปแล้ว ตอนนี้อยู่ที่ไหน เจ้าหน้าที่คนไหนเป็นคนรับผิดชอบ เป็นคนรับเรื่อง เป็นคนส่งต่อ และส่งต่อไปที่ไหน

ประชาชนจะได้รู้ และมีกำลังใจ และชื่นใจว่าสิ่งที่เขาร้องเรียน ไปอยู่ที่ไหน มีคนรับรู้จริงๆ ใช่ไหม

ส่วนนโยบาย Policy Engagement ที่เดิม เป็นการทำประชาพิจารณ์ การมีส่วนร่วมที่มีการรวมคนกันมาแล้วประชุมในห้องประชุม ในขั้นสูงกว่านั้น คือ ควรต้องมีการบันทึกการประชุมในระบบดิจิทัล รู้ว่าใครพูดอะไร หลังจากสรุป สรุปว่าอะไร และเข้าสู่กระบวนการที่เหมือน Whistle Blowing คือสามารถ Track ได้ว่า ข้อเสนอและความเห็นของประชาชน ขึ้นไปสู่หน่วยงานไหน หน่วยงานไหนรับเรื่อง หน่วยงานไหนส่งต่อ ส่งต่อไปที่หน่วยงานไหน และใครรับผิดชอบ

หน่วยงานที่รับเรื่องก็จะได้เครดิตในสายตาประชาชนของการทำงาน หน่วยงานที่รับการส่งต่อไปและมีหน้าที่และไม่ยอมทำ ก็จะถูกตั้งคำถามจากประชาชนเช่นกัน เพราะฉะนั้นขั้นที่สอง ของ Policy Engagement ก็คือสร้าง Digital Footprint 

กล่าวโดยสรุปได้ว่า Quick Win ของนโยบายในการเสริมสร้างธรรมาภิบาล และต่อต้านคอร์รัปชัน คือ ขยายจาก Open Data ไปสู่การทำให้เครื่องมือ หรือ คอมพิวเตอร์สามารถอ่านได้

Whistle Blowing คือ การขยายจากการแค่เปิดให้คนร้องเรียนได้ ไปสู่การ Track ใบงานการร้องเรียนของเขาได้

และ Policy Engagement คือ การขยายจากการจัดประชุมที่มีบ่อยครั้ง ไปสู่การบันทึกในรูปแบบดิจิทัลและ Track การส่งต่อไปสู่หน่วยงานต่างๆ ได้ ถ้าเราทำ 3 อย่างนี้ ท่านจะเห็นได้ว่า เราไม่ต้องสร้างเครื่องมือใหม่ครับ เอาเครื่องมือที่มีอยู่เดิม มาพัฒนาต่อให้มีคุณภาพดีขึ้นก็ได้

รวมทั้งอาจจะลดปริมาณเครื่องมือ เพราะหลายเรื่องในหลายหน่วยงานทำร่วมกันก็ได้ Open Data DGE อาจจะทำเป็นหลัก Whistle Blowing ป.ป.ช. ป.ป.ท. อาจจะทำเป็นหลัก Policy Engagement ก็หน่วยงานระดับกระทรวงอาจจะทำเป็นหลัก ก็จะลดปริมาณเครื่องมือ ลดความสับสน เห็นผลลัพธ์ได้ชัดเจนขึ้น ด้วยการเพิ่มคุณภาพ