การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ต่อต้านคอร์รัปชัน

31 ส.ค. 2565 | 11:23 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ส.ค. 2565 | 18:34 น.

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ต่อต้านคอร์รัปชัน : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯ ทัศนะ โดย... ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3814

ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันโลกของเราก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT และ ระบบดิจิทัล ทำให้พวกเราทุกคนใช้ชีวิตในปัจจุบันด้วยความสะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีสมัยใหม่เหล่านี้หลายชนิดถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับต่อต้านการคอร์รัปชัน 


ในบทความนี้ จะขอสรุปงานศึกษาเรื่อง “Are emerging technologies helping win the fight against corruption in developing countries?” โดย Isabelle Adam and Mihály Fazekas (2018) ที่กล่าวถึงเครื่องมืออันทรงพลัง 6 ชนิดที่ถูกนำไปใช้สำหรับแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน และในหลายประเทศก็ประสบความสำเร็จในการนำไปใช้ลดการคอร์รัปชันได้เป็นอย่างดีมาแล้ว

1.บริการสาธารณะดิจิทัล (Digital Public Services) และรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-government) การให้บริการสาธารณะดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์  เป็นการให้บริการภาคประชาชนด้วยการใช้เทคโนโลยี ICT ต่าง ๆ ซึ่งบริการสาธารณะแบบดิจิทัล ส่วนใหญ่เป็นระบบอัตโนมัติ ที่ช่วยลดขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อนและช่วยลดโอกาสในการเกิดการคอร์รัปชัน 


อันเนื่องมาจากปัญหาตัวการตัวแทน (Principal - Agent Problem) โดยผู้บังคับบัญชาสามารถตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความโปร่งใส และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรัฐและประชาชน การติดต่อผ่านระบบดิจิทัลที่ไม่เห็นหน้ากัน จะช่วยลดปัญหาการใช้ดุลยพินิจส่วนบุคคลออกจากกระบวนการหลัก ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดโอกาสในการเกิดการคอร์รัปชันได้

ตัวอย่างเช่น รัฐบาลของเขต Karnataka ในประเทศอินเดีย ได้สร้างระบบบันทึกที่ดินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่ช่วยลดระยะเวลาการรอได้ถึง 1.3 ล้านวัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 8.9 ล้านปอนด์ และที่สำคัญช่วยลดการติดสินบนของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้ โดยก่อนที่จะมีระบบนี้ มีการติดสินบนเจ้าหน้าที่ของที่ดินประมาณ 1.1 ปอนด์ เมื่อเปลี่ยนมาใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์แล้วเสียค่าธรรมเนียมเพียงแค่ 0.02 ปอนด์เท่านั้น


2.แพลตฟอร์ม Crowdsourcing เป็นแพลตฟอร์มที่ให้ประชาชนรายงานเหตุการณ์คอร์รัปชันเล็ก ๆ น้อย ๆ และแบ่งปันประสบการณ์ส่วนบุคคลผ่านอินเทอร์เน็ต เครื่องมือนี้มีประโยชน์ในการต่อต้านการคอร์รัปชันผ่านการพัฒนาด้านความโปร่งใส โดยรวบรวมข้อมูลจากประชาชนจำนวนมากนี้ให้ภาพโดยละเอียดว่า การคอร์รัปชันเกิดขึ้นได้อย่างไร ที่ใด หรือจำนวนเท่าใด 


ทั้งนี้ความสำเร็จของการใช้เครื่องมือนี้ จำเป็นต้องใช้ข้อมูลจากผู้ใช้งานจำนวนมาก และต้องคำนึงถึงช่องว่างเรื่องความปลอดภัยส่วนบุคคล และการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ได้รับแจ้งอีกด้วย 


ตัวอย่างที่มีชื่อเสียงของแพลตฟอร์ม Crowdsourcing คือ "I Paid A Bribe" ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในอินเดีย และนำไปใช้ในกว่า 10 ประเทศ แพลตฟอร์มนี้กำหนดให้ผู้ใช้งานแบ่งปันประสบการณ์การคอร์รัปชันโดยไม่เปิดเผยตัวตน ซึ่งรวมถึงลักษณะและสถานที่ที่เกิดการคอร์รัปชันขึ้น ตลอดจนกรณีที่มีการปฏิเสธการจ่ายสินบน หรือ การชื่นชมเจ้าหน้าที่ที่มีความซื่อสัตย์ เป็นต้น 


3.เครื่องมือแจ้งเบาะแส (Whistleblowing Tools) เครื่องมือนี้มีความคล้ายคลึงกับแพลตฟอร์ม Crowdsourcing แตกต่างกันที่เครื่องมือแจ้งเบาะแสมุ่งเป้าไปที่กรณีการคอร์รัปชันเล็ก ๆ น้อย ๆ จำนวนมาก

 

แต่เครื่องมือแจ้งเบาะแสออกแบบมาเพื่อรวบรวมข้อมูลอย่างละเอียดของคดีคอร์รัปชันขนาดใหญ่แต่ละคดี โดยสร้างความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่การดำเนินคดีทางอาญา กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เครื่องมือแจ้งเบาะแสแตกต่างกับ Crowdsourcing ที่จำนวนคนแจ้ง แต่มีความละเอียดของข้อมูลและความน่าเชื่อถือมากกว่า 


นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐ ที่เห็นการกระทำผิดกฎหมายในที่ทำงาน แจ้งเบาะแสต่อผู้บังคับบัญชาได้โดยไม่ต้องระบุชื่อ เครื่องมือแจ้งเบาะแส จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่มีการปกป้องข้อมูลระบุตัวตนของผู้แจ้งเบาะแส และต้องพิจารณากรอบการทำงานทางกฎหมายควบคู่ไปด้วย เพราะในหลายประเทศไม่ได้ปกป้องผู้แจ้งเบาะแสที่ไม่ระบุชื่ออย่างครอบคลุม 


ในขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจำเป็นต้องติดตามรายงาน ประเมินความถูกต้องและดำเนินการอยู่เป็นประจำ มิฉะนั้น ผู้แจ้งเบาะแสอาจขาดแรงจูงใจในการรายงานการคอร์รัปชันได้ ตัวอย่างของระบบแจ้งเบาะแส คือ แพลตฟอร์ม GlobaLeaks ซึ่งเป็น Open Source ที่ส่วนใหญ่ใช้กับการแจ้งเบาะแสภายใน ซึ่งถูกปกปิดด้วยการเข้ารหัสและส่งข้อมูลต่อไปยังผู้ตรวจสอบ เป็นต้น

                                การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ต่อต้านคอร์รัปชัน
4.แหล่งการเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใส (Transparency Portals) และข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เป็นออนไลน์แพลตฟอร์มที่แสดงข้อมูลการดำเนินงานต่าง ๆ ของภาครัฐ เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยในการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐให้ประชาชนอย่างโปร่งใส เข้าถึงได้ง่ายและไม่จำกัดการเข้าใช้งาน ทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของภาครัฐได้ 


เช่น องค์กรภาครัฐของอาร์เจนติน่า มีการทำแหล่งการเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใสเพื่อนำเสนอข้อมูลทางการเงินของพรรคการเมือง รวมถึงการใช้จ่ายเงินในโครงการต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมี OpenSpending.org และ OpenTender.eu. ที่มีการเปิดเผยข้อมูลด้านงบประมาณด้วย 


การใช้เครื่องมือนี้มาพร้อมกับข้อมูลที่มีจำนวนมหาศาล หรือที่เรียกว่า “Big Data” ซึ่งมีลักษณะของข้อมูลที่หลากหลายและซับซ้อน ในการประมวลผลการวิเคราะห์ข้อมูล จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่สามารถรองรับข้อมูลเหล่านั้นได้ 


การเปิดเผยข้อมูลที่เป็น Big Data นั้น มีความซับซ้อนและเป็นอุปสรรคที่อาจส่งผลให้ความโปร่งใสของข้อมูลลดลง ดังนั้น เพื่อให้การใช้งานแหล่งการเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใสและข้อมูลขนาดใหญ่ สามารถป้องกันการคอร์รัปชันได้ ภาครัฐจึงจำเป็นต้องศึกษาถึงรายละเอียด และให้ความสำคัญกับการจัดการรูปแบบข้อมูลให้เปิดเผยข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ


5.เทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (DLT) และบล็อกเชน (Blockchain) บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology : DLT) ประเภทหนึ่ง เป็นฐานข้อมูลที่กระจายอำนาจให้แก่ผู้ใช้แต่ละคน (Peer to Peer) ในบล็อคเชน เพื่อบริหารจัดการข้อมูล ตรวจสอบ และบันทึกข้อมูลทั้งหมดในบัญชีของตัวเอง โดยข้อมูลที่อยู่ภายในบล็อคเชนไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบได้ 


ดังนั้น บล็อกเชนจึงสามารถนำมาใช้ในการจัดการข้อมูลที่สร้างความโปร่งใสได้เป็นอย่างดี และเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ภาครัฐสามารถนำไปปรับใช้ในการทำธุรกรรม หรือ เอกสาร ที่เป็นสาธารณะโดยไม่ผ่านคนกลางและเพิ่มโอกาสในการลดการคอร์รัปชันได้ 


อย่างไรก็ตาม บล็อคเชนยังคงมีความซับซ้อนของเทคโนโลยีค่อนข้างมาก หากภาครัฐขาดความเข้าใจในเทคโนโลยีดังกล่าว ก็อาจส่งผลไปถึงการสร้างช่องทางใหม่ ๆ ในการคอร์รัปชันได้เช่นกัน


6.ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นเทคโนโลยีที่ใช้รูปแบบการเรียนรู้ หรือ การแก้ปัญหา ที่สามารถช่วยในการทำนายผลลัพธ์ อาจจะสามารถเพิ่มประสิทธิผลและประสิทธิภาพของการทำนาย การตรวจจับ และติดตามการคอร์รัปชันได้ ทั้งนี้ ประสิทธิภาพของเทคโนโลยีขึ้นอยู่กับคุณภาพของข้อมูลเป็นสำคัญ 


ตัวอย่าง เช่น ในมหาวิทยาลัยบายาโดลิต (University of Valladolid) มีการพัฒนา AI ขึ้นเพื่อให้เป็นระบบเตือนภัยการเกิดการคอร์รัปชันล่วงหน้า แต่อย่างไรก็ตาม การใช้ปัญญาประดิษฐ์เป็นเรื่องที่ใหม่ และต้องการการค้นคว้า วิจัยและพัฒนาอีกมาก และยังต้องพิจารณาหลาย ๆ ด้าน เพราะกลุ่มอาชญากรยังสามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของตนเองได้เช่นเดียวกัน


เครื่องมือในการต่อต้านการคอร์รัปชันทุกชนิด อาจไม่สามารถรับประกันความสำเร็จในการนำไปใช้ในทุกกรณี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบททางสังคมและวัฒนธรรม ความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงเทคโนโลยี ภูมิหลังทางวัฒนธรรม และประสบการณ์ที่มีเกี่ยวกับเทคโนโลยี 


อย่างไรก็ตาม ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในไม่ช้าไม่นานนี้ประเทศไทยจะสามารถสร้างเครื่องมือที่สามารถต่อต้านการคอร์รัปชันแบบไทยๆ ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยที่ทรงพลัง และมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยกำจัดการคอร์รัปชันและสร้างสังคมที่ใสสะอาดให้ลูกหลานของเรานะครับ