พินิจวิกฤติโควิด-19 ผ่านมิติทางเพศสภาพ

02 ก.พ. 2565 | 14:48 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.พ. 2565 | 21:53 น.

พินิจวิกฤติโควิด-19 ผ่านมิติทางเพศสภาพ : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯ ทัศนะ โดย...ผศ.ดร.กุลลินี มุทธากลิน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วิกฤติการระบาดของโควิด-19 เป็นทั้งวิกฤติทางสาธารณสุขพร้อมๆ ไปกับวิกฤติทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งยังสะท้อนให้เห็นประเด็นต่างๆ รวมถึงหลายประเด็นที่บรรดาเฟมินิสต์ได้พยายามที่จะสำรวจและทำการศึกษา 

 

วารสาร Feminist Economics Volume 27 Issue 1-2 ของปี 2021 ได้พินิจมิติต่างๆ ของวิกฤติดังกล่าวด้วยเลนส์ทางเพศสภาพผ่านงานวิจัยชิ้นต่างๆ ในหลายภูมิภาค โดยระบุว่า แม้ว่าการระบาดของไวรัสจะไม่ได้เลือกปฎิบัติต่อหญิงหรือชาย คนรวยหรือคนจน แต่พบว่าทั่วโลกหญิงและชายที่มาจากครัวเรือนที่มีรายได้ตํ่าและกลุ่มคนชายขอบของสังคมจะได้รับผลกระทบมากกว่า ซึ่งส่งผลให้ความไม่เท่าเทียมกันมีมากขึ้น จนองค์กรการเงินระหว่างประเทศถึงกับเตือนว่าถ้าไม่มีการตรวจสอบอย่างระมัดระวังหรือเพิกเฉย ความไม่เท่าเทียมกันจะขยายตัวขึ้นในระยะยาวซึ่งจะส่งให้เกิดปัญหารวมถึงความไม่สงบในสังคมได้

เมื่อพิจาณาข้อมูลจาก 112 ประเทศในโลกแยกตามเพศสภาพพบว่ามีสัดส่วนของผู้ชายที่ติดโควิด-19 มากกว่าผู้หญิงโดย 51.3% ของคนที่ติดโควิดเป็นชาย ขณะที่ 48.7% เป็นหญิง แต่ 4 ประเทศในยุโรป ได้แก่ เวลล์ สกอตแลนด์ เนเธอร์แลนด์ และ เบลเยี่ยม กลับมีสัดส่วนของผู้หญิงติดโควิดมากกว่า 

 

โดยถ้าพิจารณาถึงอัตราการตายจากโควิด-19 พบว่า มีสัดส่วนของผู้ชายที่ตายจากโควิด-19 มากกว่าผู้หญิง โดยเฉลี่ยมีผู้ชายเสียชีวิต 58.1% เปรียบเทียบกับ 41.9% ที่เป็นหญิง โดย 76 ประเทศจาก 112 ประเทศมีผู้ชายเสียชีวิตจากโควิดมากกว่าแม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีสัดส่วนผู้หญิงที่ติดโควิด-19 มากกว่า

การที่ผู้ชายมีสัดส่วนที่จะเสียชีวิตจากโควิดมากกว่า เกิดจากปัจจัยเสี่ยงที่ชายมีมากกว่าได้แก่ การสูบ บุหรี่ การดื่มสุราการมีโรคประจำตัวที่มากกว่า เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน รวมถึงมีการมีพฤติกรรมด้านสุขอนามัยที่ตํ่ากว่า เช่น การล้างมือและการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันต่างๆ

 

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นหนึ่งในสหรัฐอเมริกา กลับพบว่า การที่ผู้ชายมีสัดส่วนการเสียชีวิตจากโควิด-19 มากกว่าเกิด เนื่องจากการรายงานที่ตํ่ากว่าที่เป็นจริงของสัดส่วนของผู้หญิงที่ตายจากโควิด-19 โดยสำนักงานสถิติเพราะผู้หญิงมักจะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลน้อยกว่า เมื่อเทียบกับผู้ชายเมื่อติดโควิด-19 เนื่องจากข้อจำกัดด้านจำนวนคนที่โรงพยาบาลจะรองรับได้ ทำให้เมื่อมีการรายงานการเสียชีวิต สัดส่วนการตายของผู้หญิงที่ถูกรายงานและนับเข้าในสถิติของรัฐจะน้อยกว่าสัดส่วนของผู้ชาย

 

ขณะที่งานวิจัยที่ทำการศึกษาตัวอย่างของ 25 ประเทศในยุโรป พบว่าผู้หญิงติดโควิด-19 มากกว่า โดยพบว่า การที่สัดส่วนของผู้หญิงติดโควิดมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงทำงานที่ต้องมีการพบปะปฏิสัมพันธ์กับผู้คนมากกว่า เช่น งานด้านสาธารณสุข งานด้านการดูแล การศึกษา และงานบริการทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้มากกว่า

                                          พินิจวิกฤติโควิด-19 ผ่านมิติทางเพศสภาพ

ด้วยเหตุนี้ช่องว่างหรือข้อแตกต่างระหว่างเพศสภาพในด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจในตลาดแรงงานที่มีการแบ่งแยกโดยเพศสภาพจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผล กระทบต่อความเสี่ยงในการติดโควิด-19 

 

ในช่วงดังกล่าว รัฐบาลจำเป็นต้องทำการจำกัดหรือควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อคุ้มครองสุขภาพของผู้คนด้วยการปิดเมืองในประเทศต่างๆ ส่งผล กระทบต่อตลาดแรงงาน ห่วงโซ่อุปทานโลก และการอพยพของแรงงานรายงานจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกบ่งชี้ว่า แรงงานหญิงประสบกับผลกระทบในตลาดแรงงานในสัดส่วนที่มากกว่าใน 2 ด้าน

 

กล่าวคือ แรงงานหญิงตกงานมากกว่าเพราะกระจุกตัวอยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ถูกกระทบจากการปิดประเทศมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นภาคการโรงแรงแรม การบริการทางด้านอาหารการค้าส่งและการค้าปลีก งานบันเทิงและ ศิลปะบริการด้านธุรกิจ และภาคการผลิตที่เน้นการใช้แรงงาน การปิดเมืองจึงส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของผู้หญิงลดลงมากกว่า 

 

ขณะเดียวกันแรงงานหญิงมีสัดส่วนที่มากกว่าในงานด่านหน้าที่มีความจำเป็น โดยเฉพาะแรงงานด้านสาธารณสุข และ แรงงานด้านการดูแลทางสังคม ซึ่งส่วนใหญ่กว่า 70% เป็นผู้หญิง การเพิ่มขึ้นของคนป่วยในโรงพยาบาล สถานดูแลแบบระยะยาว และการดูแลในบ้าน ทำให้ความต้องการพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล และคนช่วยดูแลในบ้านเพิ่มสูงขึ้น 

 

แต่ผลวิจัยกลับพบว่า แรงงานกลุ่มดังกล่าวได้รับรายได้น้อยกว่าแรงงานประเภทอื่น ขณะที่ผู้หญิงได้รับรายได้น้อยกว่าผู้ชายในงานประเภทดูแลสุขภาพและสังคมแบบเดียวกัน รายได้ที่น้อยกว่าดังกล่าวเป็นเสมือนการลงโทษแรงงานด้านการดูแลที่จะส่งผลให้ต่อ อุปทานแรงงานด้านการดูแลในอนาคตลดน้อยลง 

 

การศึกษาประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกพบว่า ในช่วงการปิดเมืองทั้งหญิงและชายในครัวเรือน ระบุว่า ต้องทำงานบ้านเพิ่มสูงขึ้น แต่พบว่างานที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้ชายกระจุกตัวอยู่กับกิจกรรมหนึ่งหรือสองประเภท ขณะที่ผู้หญิงต้องทำงานเพิ่มสูงขึ้นในกิจกรรม 3 ประเภทหรือมากกว่านั้น 

 

กรณีของประเทศออสเตรเลีย พบว่า ช่วงระหว่างการปิดเมือง ภาระงานบ้านที่ไม่ได้รับผลตอบแทนเพิ่มสูงขึ้นและผู้หญิงเป็นคนที่แบกภาระงานดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น แต่ช่องว่างระหว่างเพศหญิงและชายในการดูแลลูกลดน้อยลงเพราะผู้ชายเข้ามามีบทบาทแบ่งปันงานดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่ามีความสุขและสนุก กับการดูแลเด็กมากกว่างานอื่นๆ แต่ภาระงานที่เพิ่มและเข้มข้นมากขึ้นสำหรับผู้หญิงทำให้ผู้หญิงเกิดความเครียดและสุขภาพแย่ลงมากกว่า 

 

นอกจากนี้ ความรุนแรงในครัวเรือนยังมีระดับเพิ่มสูงขึ้นจากแรงกดดันทางด้านการเงิน ความตึงเครียด ความหวาดกลัว และการต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้านในประเด็นความรุนแรงในครัวเรือนดังกล่าวการศึกษาวิจัยพบว่ามิติด้านชนชั้นและเพศสภาพมีปฎิสัมพันธ์หรือทำงานร่วมกันเนื่อง จากเมื่อครัวเรือนมีฐานะยากจนอยู่อาศัยร่วมกันในที่พักขนาดเล็กที่มีแออัด ส่งผลให้ความรุนแรงในครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นทั้งความถี่และระดับของความรุนแรง

 

การพินิจวิกฤติโควิด-19 ผ่านมิติทางเพศสภาพจึงเปิดโอกาสให้เราได้ทบ ทวนและทำความเข้าใจประเด็นต่างๆ ไล่เรียงไปตั้งแต่ มิติทางเพศสภาพส่งผลให้เกิดความแตกต่างต่อประสบการณ์ ผลกระทบ และความเสี่ยงที่เกิดจากโควิด-19 การแบ่งแยกตลาดแรงงานโดยเพศสภาพการแบ่งงานกันทำในครัวเรือนระหว่าง หญิงและชาย ความสำคัญของการผลิตซํ้าทางสังคม รวมถึงมิติเชิงนโยบายที่มีนัยในการสร้างและลดทอนความไม่เท่าเทียมกันทางเพศสภาพ