ลอตเตอรี่กับความหวัง

23 พ.ย. 2565 | 14:07 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ย. 2565 | 21:07 น.
557

ลอตเตอรี่กับความหวัง : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,838 หน้า 5 วันที่ 24 - 26 พฤศจิกายน 2565

 

ลอตเตอรี่ เป็นสิ่งที่ทุกคนในสังคมไทยรู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ลอตเตอรี่เป็นความหวังของคนจำนวนมากในสังคม แน่นอนว่าความหวังดังกล่าว ก็คือ ถูกรางวัลที่หนึ่ง ด้านหนึ่ง เราอาจจะตีความโดยง่ายว่า สาเหตุเป็นเพราะคนเหล่านี้หวังรํ่ารวย แต่ในอีกด้านหนึ่ง การมีฐานะที่รํ่ารวยก็ถูกตีความได้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งในการเลื่อนชั้นทางสังคมของพวกเขาเช่นกัน 

 

คำถามที่น่าสนใจก็คือ คนที่ซื้อลอตเตอรี่เหล่านี้ เขาเป็นคนที่ “มีความหวัง” หรือ “ไม่มีความหวัง” ในชีวิตกันแน่

 

 

 

ลองมาพิจารณาความน่าจะเป็น หรือ โอกาสในการถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง เมื่อพิจารณาจากการคำนวณตามหลังทางสถิติ ซึ่งจะพบว่า ความน่าจะเป็นโอกาสในการถูกรางวัลที่หนึ่งมีอยู่แค่หนึ่งในล้าน

 

และหากพิจารณาความน่าจะเป็นที่จะถูกรางวัลใดรางวัลหนึ่งก็มีอยู่แค่เพียง 1.41% เมื่อเห็นตัวเลขความน่าจะเป็นนี้แล้ว นักเศรษฐศาสตร์บอกได้ทันทีว่า ไม่ซื้อลอตเตอรี่แน่ๆ เพราะไม่คุ้มกับเงิน 80 บาทของราคาลอตเตอรี่ที่จ่ายไป (ไม่นับว่าในความเป็นจริง หาลอตเตอรี่ราคา 80 บาทไม่ค่อยเจอด้วย)

 

 

 

 

คำถามที่คล้ายกันก็คือ “โอกาส (หรือความน่าจะเป็น) ที่คนหนึ่งๆ ที่เลือกซื้อลอตเตอรี่ตามแผง จะมีเงินในบัญชีมูลค่า 6 ล้านบาท ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง มีมากน้อยแค่ไหนกัน” ถ้าไม่ตอบแบบโลกสวย ก็จะได้คำตอบว่า ถึงแม้เขาเหล่านั้นจะทำงานหนักทั้งชีวิต อดออมอย่างเต็มที่ มีวินัยทางการเงินอย่างที่ถูกสอนกันมา แต่โอกาสที่จะมีเงินในบัญชีมูลค่า 6 ล้านบาทนั้น ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ “การซื้อลอตเตอรี่” ก็จะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ และสมเหตุสมผลขึ้นมาทันที

 

ปรากฏการณ์นี้กำลังบอกอะไรกับสังคม มันกำลังบอกว่า ในสังคมนี้ หรือ ประเทศนี้ โอกาสที่คนบางกลุ่ม ซึ่งอาจจะเป็นคนส่วนใหญ่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น หรือโอกาสที่พวกเขาจะเลื่อนชั้นในสังคมให้สูงขึ้นนั้น (Social Mobility) มันน้อยมากๆ น้อยจนกระทั่งทำให้การเสี่ยงซื้อลอตเตอรี่ คุ้มค่าพอที่ทำให้พวกเขาจะทุ่มเทและให้ความสำคัญกับเรื่องการซื้อลอตเตอรี่ในฐานะความหวังของชีวิต

 

 

ลอตเตอรี่กับความหวัง

 

 

คำถามที่น่าสนใจก็คือ ทำไมการเลื่อนชั้นในสังคมของสังคมนี้มันถึงตํ่ามากๆ การศึกษาเรื่องคอร์รัปชันในหลายประเทศในโลก ชี้ให้เห็นว่า การคอร์รัปชันเองมีพลวัต ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ รูปแบบการคอร์รัปชัน หรือรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชนมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น 

 

ในปี 2000 ธนาคารโลกได้ตีพิมพ์รายงานชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการใช้ศัพท์คำว่า State Capture หรือ การยึดรัฐ โดยการศึกษาเรื่องการยึดรัฐเริ่มต้นในกลุ่มประเทศหลังสหภาพโซเวียต ที่ถูกกลุ่มทุนขนาดใหญ่เข้าครอบงำ หรือ มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของตนเองให้สูงขึ้นในนามของความกินดีอยู่ดีของประชาชน

 

ในช่วงแรก การขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง แต่ต่อมา ความเหลื่อมลํ้าของสังคมกลับสูงทะยานจนหยุดไม่อยู่ นอกจากนี้ ธนาคารโลกได้ศึกษาในประเด็นเดียวกันในกลุ่มประเทศในแอฟริกา และมีผลการศึกษาที่คล้ายกับกลุ่มประเทศหลังสหภาพโซเวียต การยึดรัฐนี้เป็นการคอร์รัปชันรูปแบบหนึ่งผ่านสายสัมพันธ์ที่เอื้อประโยชน์ต่อกันระหว่างรัฐกับเอกชน

 

การยึดรัฐเป็นการคุมกลไกตลาดมองเห็นได้ยาก เพราะตลาดยังคงทำงานได้ ดูเหมือนจะมีการแข่งขันตามปกติ แต่การยึดรัฐนั้น ทำให้เกิดการไหลของทุนจากกลุ่มทุนด้านล่างขึ้นสู่กลุ่มทุนด้านบน ซึ่งกลุ่มทุนด้านบนนี้สามารถควบคุมนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ก้อนใหญ่ที่อยู่ในมือรัฐบาลได้ด้วยตัวเอง

 

เช่น การควบคุมค่าแรงให้อยู่ในระดับตํ่า การจัดสวัสดิการแรงงานที่น้อยเกินควร การได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี รวมถึงการควบคุมหรือผูกขาดระบบการศึกษา และสาธารณสุขที่มีคุณภาพอยู่ในมือเอกชน

 

การกระทำเช่นนี้ทำให้กลุ่มทุนนี้สามารถผันผลประโยชน์กลับเข้ามาที่ตนเองผ่านการกำหนดนโยบายรัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพในการกระจายรายได้ หรือ โอกาสการคอร์รัปชันในรูปแบบนี้ทำให้เกิดสภาพเศรษฐกิจที่หัวโตตัวลีบ เนื่องจากมีการมีการสูบทรัพยากรจากข้างล่างขึ้นไปข้างบนอย่างต่อเนื่อง

 

เมื่อพูดถึง “ทุน” นักเศรษฐศาสตร์การเมืองและนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก รู้ดีว่า ทุน คือ หัวใจของความแตกต่างของแนวคิดของเศรษฐศาสตร์ทั้งสองสาขา เมื่อนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักพูดถึงทุน จะหมายถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทุนการเงิน ทุนมนุษย์ ทุนทางสังคม หรือ แม้แต่ทุนชื่อเสียง ที่ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้พยายามเพิ่มปริมาณ และคุณภาพของทุนอยู่ตลอดเวลา

 

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์การเมืองรู้ดีว่า ทุนในสิ่งเดียวกันนี้ มีความหมายถึง ความเหลื่อมลํ้า เพราะแทบจะไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะทำให้ทุกคนในสังคมมีทุนเท่ากัน และถ้าหากทุกคนมีทุนเท่ากัน ทุนนั้นจะไม่มีความหมายในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเท่าที่ควร เพราะฉะนั้น หัวใจหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจ และเป็นหัวใจหลักของความเหลื่อมลํ้าเช่นกันก็คือทุน

 

ที่ผ่านมานักเศรษฐศาสตร์สนใจระดับ (Level) ของทุนเป็นหลัก เรามักจะสนใจการลงทุน การเพิ่มทุน การสร้างทุนใหม่ หรือแม้แต่การถ่ายโอนทุน แต่มักสนใจเรื่องการกระจายตัวของทุนน้อยมาก ซึ่งการกระจายตัวของทุนแท้จริงมีความหมายถึงการแก้ปัญหาความเหลื่อมลํ้า การสร้างโอกาส และการทำให้คนเลื่อนชั้นได้ ผ่านการสะสมทุนด้วยตัวของเขาเอง 

 

การยึดรัฐ หรือ การที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่มีความสัมพันธ์และมีการแลกเปลี่ยนที่แนบแน่นกับภาครัฐ ทำให้เกิดการผูกขาดของทุน (Capital Monopoly) ในสังคม และการผูกขาดของทุนทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีลักษณะหัวโตตัวลีบ

 

ความตัวลีบนี้เอง ไปจำกัดการเลื่อนชั้นในสังคมของคนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะคนที่อยู่ชั้นกลางล่างและชั้นล่าง เมื่อเขามีความหวังในการเลื่อนชั้นน้อยลง จนอาจรู้สึกหมดหวัง การรู้ดีว่าไม่ว่าจะทำงานหนักแค่ไหน ก็ไม่สามารถทำให้ชีวิตดีขึ้นมากนัก

 

เราจึงเห็นคนจำนวนหนึ่งที่แต่ละวันทำงานหนักไม่น้อยกว่าคนอื่นๆ แต่กลับไม่มีความหวังใดใดในชีวิต และเราก็มักคิดเอาเองว่า ถ้าคนเหล่านี้ทำงานหนักขึ้น พวกเขาย่อมมีชีวิตที่ดีกว่านี้ 

 

ทั้งที่เอาเข้าจริงแล้ว หากเรามองชีวิตของคนชั้นล่างที่ทำงานมาจนอายุ 70 ปี เขาเหล่านี้ใช้เวลาทำงานอย่างหนักนับสิบปี แต่ก็ยังไม่เคยมีบ้านที่เป็นของตนเอง ไม่มีเงินออมยามเกษียณ ไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองได้ และไม่สามารถส่งลูกหลานเรียนโรงเรียนดีดีได้

 

ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะอะไรกัน อาจไม่ใช่เพราะพวกเขาขี้เกียจ แต่เป็นเพราะโครงสร้างค่าแรงไม่เป็นธรรม ถูกกดค่าจ้างเพื่อเป็นกำไรของนายทุน เราจึงเห็นกลุ่มทุนรวยขึ้นมาโดยตลอด นั่นก็เพราะสังคมมีการกระจายทุนและโอกาสที่ดีไม่พอ ทำให้คนชั้นล่างที่ทำงานหนักซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมจึงแทนไม่มีโอกาสเลื่อนชั้นได้

 

ในโลกสมัยใหม่ การกระจายทุน ซึ่งหมายถึงการกระจายโอกาสจึงเป็นเรื่องสำคัญ และประเด็นนี้เกี่ยวพันอย่างยิ่งกับการเลื่อนชั้นทางสังคม และการยึดรัฐ ถ้าสังคมสามารถลดระดับความสัมพันธ์ของกลุ่มทุนและรัฐลงได้ให้เหมาะสม คนชั้นล่างก็จะมีโอกาสลืมตาอ้าปาก มีความหวังที่จะมีชีวิตที่ดีอย่างที่พวกเขาควรได้รับ และมีโอกาสเลื่อนชั้นทางสังคมให้ดีขึ้น

 

ถึงเวลานั้น เราอาจจะเห็นคนซื้อลอตเตอรี่ลดงน้อยลงเหลือเพียงการซื้อเล่นๆ เพื่อความสนุกสนานก็เป็นได้