แตกยานแม่ “ตระกูล X” ยุทธศาสตร์ Unlock Value

29 ก.ย. 2564 | 13:30 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ย. 2564 | 23:48 น.
1.5 k

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ปรากฏการณ์แตกยานแม่Mother Ship ของภาคธุรกิจการเงิน การธนาคารในยุคดิจิทัลกำลังกลายเป็นที่นิยมของตลาดทุนอย่างมาก
 

ถ้าดูเฉพาะหุ้นยานแม่ตัวท็อปในสายตานักลงทุนในระยะนี้ “SCBX” ก็พอมองเห็นฤทธิเดช เมื่อระดับราคาหุ้นสูงสุดของ SCBx วิ่งทะลุเพดานจาก 102 บาท ไปทดสอบ 137 บาท นับเป็นราคาสูงที่สุดในรอบ 2 ปี โดย SCB เคยทำราคาสูงสุด เมื่อ 1 มิ.ย.2562 ที่ราคา 146.50 บาท
 

ทำไมเป็นเช่นนั้น เพราะการปรับทัพองค์กรใหม่ด้วยวิธีการสร้างยานแม่นั้น เป็นการ “ปลดล็อก” พันธนาการในเรื่องการกำกับดูแล กฎเกณฑ์ กติกา ในเรื่องของข้อกฎหมาย และเป็นการเพิ่มช่องทางในการสร้างราคาของหุ้นชนิดที่เรียกกันว่า Unlock Value
 

เพราะเมื่อดิจิทัลก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในมิติของบริการทางการเงินทั้งหมด จะถูกไปไว้ในแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือแบบเรียลไทม์ ต้นทุนมหาศาลในเรื่องที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ก็ลดฮวบลงทันที และขนาดของการเข้าถึงจะสร้างมูลค่าให้เกิดขึ้นในอนาคตทันที 
 

22 ก.ย.2564 ธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศเปลี่ยนแปลงองค์กร ที่สร้างความตกตะลึงในวงการธนาคารครั้งใหญ่ ด้วยการเปิดตัว บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ “SCBX” วางเป้าหมายให้ “SCBX” เป็นมากกว่า Holding company เป็นยานแม่ที่สนับสนุนบริษัทลูกให้เติบโตในธุรกิจแขนงต่างๆ พร้อมโชว์แผนธุรกิจ 5 ปี มุ่งสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาคอาเซียนขยายฐานลูกค้าจากปัจจุบัน 16 ล้านราย เพิ่มขึ้นเป็น 200 ล้านราย 
 

ภายใต้ “SCBX” มีการแตกไลน์ธุรกิจออกเป็น 15 บริษัท
 1. บริษัท หลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCB Securities) ทำธุรกิจหลักทรัพย์ 
 2.บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด (SCB 10X) โฟกัสด้านนวัตกรรมดิจิทัลและการลงทุนในกองทุน 
 3.บริษัท โทเคน เอกซ์ จำกัด (Token X) ทำธุรกิจโทเคนดิจิทัลครบวงจร 
 4. บริษัท มันนิกซ์ จำกัด (MONIX) ฟินเทคสตาร์ตอัพซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างเอสซีบีและ Abakus Group ฟินเทค ยูนิคอร์นจากประเทศจีน
 5.บริษัท เอสซีบี เทคเอกซ์ จำกัด (SCB Tech X) บริษัทเทคโนโลยีซึ่งจะร่วมมือกับเทค คอมปานีระดับโลก 
 6.บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (Purple Ventures) ทำธุรกิจใหม่ ในนาม “โรบินฮู้ด”
 7.บริษัท เอสซีบี อบาคัส (SCB ABACUS) ทำธุรกิจสินเชื่อออนไลน์ โดยใช้เทคโนโลยี AI 
 8.บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด (Digital Ventures) พัฒนาโซลูชันแพลตฟอร์ม 
 9.บริษัท อัลฟ่า เอกซ์ จำกัด (Alpha X) ผ่านร่วมมือกับบริษัท มิลเลนเนียมกรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด บุกธุรกิจลีสซิ่งและให้สินเชื่อรีไฟแนนซ์ เน้นตลาดรถหรู ยันเรือยอชต์
 10.บริษัท เอไอเอสซีบี จำกัด (AISCB) ร่วมลงทุนกับเอไอเอส ทำธุรกิจสินเชื่อดิจิทัล
 11.บริษัท ออโต้ เอกซ์ จำกัด (Auto X) เน้นการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 
 12.บริษัท คาร์ดเอกซ์ จำกัด (Card X) ทำธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต รับโอนพอร์ตสินเชื่อมาจากธนาคารไทยพาณิชย์ 
 13.บริษัท บริหารสินทรัพย์ คาร์ดเอกซ์ จำกัด (Card X AMC) 
 14.กองทุนเพื่อการลงทุน หรือ Venture Capital ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง SCB กับกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) 
 15. ธนาคารไทยพาณิชย์ ยังคงทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์เหมือนเดิม เพียงแต่จะมีขนาดเล็ก เนื่องจากมีการโอนย้าย พนักงาน และธุรกิจออก ไปตามไลน์ธุรกิจใหม่ เพื่อความคล่องตัว 
 

อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์บอกผมว่า “เราไม่ได้เปลี่ยนแบงก์ แต่เป็นการทำให้แบงก์ขึ้นไปอยู่เหนือแบงก์ ฉะนั้นแบงก์ยังคงทำเหมือนเดิม แต่ที่ไม่เหมือนเดิมคือ SCBX ซึ่งการผลักดัน Growth จะเกิดขึ้นอย่างเต็มที่ ด้วย Technology Development Team หลายทีม ด้วย Digital Platform ด้วยประสิทธิภาพของทีม Data X ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการวิเคราะห์ข้อมูลของทั้ง SCB Group เพื่อทำงานควบคู่กับบริษัทที่จะเกิดขึ้นใหม่ ด้วย Cost และด้วยเวลาที่สั้น ภายใต้ SCBX เราจะเติบโตแบบยกกำลังหรือก้าวกระโดด”
 

แนวทางดำเนินธุรกิจ “ม้าเร็ว” เฟสแรกที่เห็นผลไว ในช่วง 3 ปี บรรดาเถ้าแก่น้อยทั้ง 15 บริษัทจะเริ่มออกหุ้น IPO ในปีที่ 3-5 ซึ่งแต่ละบริษัทจะรู้เส้นชัยที่บอก จำนวนของพอร์ตสินเชื่อ และประมาณการเพื่อ IPO ซึ่งชุดนี้จะเสริมเสริมรายได้ให้กับ SCBX  
 

เฟสที่ 2  จะเป็นประเภท Digital Platform เช่น โรบินฮู้ด, ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล(Digital  Asset), ธุรกิจกิจการร่วมค้า (Joint Venture)  หรือ Venture Capital Fund กลุ่มเหล่านี้ จะสร้างมูลค่า (Value Creation) ในเฟสต่อไป ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วง 4-5ปี เป็นต้นไป
 

“ม้าเร็ว” ธุรกิจชุดแรก เป็นบริษัท Card X ซึ่งเป็นบริษัทรับโอนย้ายธุรกิจบัตรเครดิต  สินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งเห็นช่องทางทำกำไรอยู่แล้ว ผู้บริหารจะรู้ขนาดของสินเชื่อ และปริมาณเพื่อจะทำ IPO ได้ โดยลูกค้าที่โอนย้ายออกมาจะมีรายได้เกิน 30,000 บาท และจะแตกต่างจาก AISCB ที่ร่วมกันปล่อยกู้ผ่านมือถือที่มีฐานลูกค้ารายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท เป็นตลาดดิจิทัล เลนดิ้ง  
 

ในส่วนของ Growth ถือว่า เป็น Tech Company เกินครึ่งแล้ว เห็นได้จากบริษัท SCB Abacus,  Monix, SCB Tech จะเป็นโมเดลธุรกิจแบบใหม่ การบริหารจัดการ การระดมทุนเป็น Future Company เป็น Tech Company 100% เช่นเดียวกับ SCB10X  จะมีการใช้เม็ดเงินเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ที่รอเก็บเกี่ยวผลประโยชน์   
 

ถ้าทำสำเร็จ SCBX ในฐานะยานแม่ที่จะขับเคลื่อน Growth และ Cash Cows เดินต่อไปอย่างแข็งแรงและบริษัทต่างๆ ที่จะเติบโตขึ้นมาสร้างรายได้คุณภาพและทุนให้กับ SCBX จะเพิ่ม Quality earning ได้ 1.5-2 เท่าและเพิ่มมาร์เก็ตแคปของ SCBX ในปีที่ 5 ขึ้นไปเป็น 1 ล้านล้านบาท จากปัจจุบันแค่ 4 แสนล้านบาท นี่คือยุทธศาสตร์ที่ผมบอกว่า “อันล็อค แวลู” 
 

รูปแบบธุรกิจ  business model ภายใต้ “SCBX” ที่มีความชัดเจนในเรื่องของการปลดพันธนาการการทำธุรกิจ ทั้งเรื่องกฎเกณฑ์กติกา ขนาดและเงื่นไขในการทำธุรกิจ ทำบรรดานักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯต่างก็ตอบรับเป็นอย่างดี เห็นได้จากราคาหุ้น SCB มีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 20-25% หลายคนอาจบอกว่านี่คือต้นแบบ
 

แต่ความเป็นจริงนั้นต้นแบบของ “ยานแม่ตระกูลX” มาจากกลุ่มบริษัท PTT ที่จดทะเบียนจัดตั้ง วันที่ 1 ตุลาคม 2544 โดยการแปลงสภาพ จากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ผ่านรับโอนกิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิด สินทรัพย์ และพนักงานทั้งหมด ภายใต้พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 มีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ  2,000 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่
 

ต่อมากลุ่มธุรกิจ PTT ได้แตกธุรกิจออกไปเป็น 7 บริษัท ดูแลงานในแต่ละธุรกิจทั้งปิโตเลียม การขุดเจาะ แกส  ปิโตรเคมี การค้าปลีก การกลั่น ฯลฯ ประกอบไปด้วย PTT, PTTEP, OR, PTTGC, GPSC, TOP และ IRPC ผลที่ตามมาปรากฏว่า สามารถสร้างมูลค่า (Market Cap.) รวมของทั้ง 7 บริษัท ได้ถึง 2.59 ล้านล้านบาท เกือบเท่ากับงบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศไทย ขาดแค่หลัก 5 แสนล้านบาทเศษเท่านั้น คิดเป็นสัดส่วน 14.5% ของมูลค่าหุ้นไทยทั้งหมด
 

และหากจะยกแม่บทนำร่องในปีนี้ที่สร้าง “ยานแม่” ขึ้นมาอย่างโฉบเฉี่ยวทั้งในด้านราคาหุ้นและการทำธุรกิจ ต้องนับเอา “TIPH” หรือ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่มี “สมพร สืบถวิลกุล” เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
 

ทิพย์กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ (TIPH) ได้ฤกษ์ดีเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์วันที่ 7 กันยายน 2564 เป็นวันแรก แทนหุ้นทิพยประกันภัย (TIP) ซึ่งปรับเป็นบริษัทลูกที่เป็นแกนกลางของกลุ่มธุรกิจ โดยวางแผนการดำเนินธุรกิจนับจากนี้ออกเป็น 3 กลุ่มหลัก
 

กลุ่มแรก ธุรกิจประกันวินาศภัย, กลุ่มที่สอง กลุ่มธุรกิจประกันชีวิต, กลุ่มที่สาม กลุ่มธุรกิจอื่นๆ
 

โดยกลุ่มแรกและกลุ่มที่สองจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ การขยายธุรกิจประกันวินาศภัยภายในประเทศไทย, การขยายธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทย และ การขยายธุรกิจประกันวินาศภัยและประกันชีวิตในต่างประเทศ ธุรกิจประกันวินาศภัยจะมีบริษัททิพยประกันภัยเป็นธุรกิจหลัก  ส่วนธุรกิจประกันชีวิตจะมีบริษัททิพยประกันชีวิต ซึ่งถือหุ้นโดยตรงจากทิพยประกันภัย
 

ในส่วนของธุรกิจประกันวินาศภัยและประกันชีวิตในต่างประเทศ ขณะนี้ได้เข้าไปลงทุนใน สปป.ลาวแล้ว และกำลังศึกษาเพิ่มเติมในการที่จะนำบริษัทไปจัดตั้งหรือร่วมทุน (JV) ในประเทศต่างๆ ในแถบประเทศอาเซียน อาทิ กัมพูชา, เมียนมา, เวียดนาม, สิงคโปร์ เป็นต้น
 

ภายใต้โครงสร้าง TIPH ธุรกิจหลักยังคงเป็นธุรกิจประกันภัยที่มีความเชี่ยวชาญ ขณะที่ธุรกิจอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือกลุ่มประกันภัย จะขยายการลงทุนไปในอนาคตในสัดส่วนไม่เกิน 25% แต่ต้องเป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ของธุรกิจหลักและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ TIPH ด้วย
 

ผลที่ตามมาคือหุ้นของ TIP วิ่งถล่มทลายตั้งแต่วันนั้น จนบัดนี้มายืนที่ระดับ 35-46 บาท 
 

อีกบริษัทที่กำลังเป็นที่จับตาว่าราคาจะวิ่งไปถึงไหนนั้นคือ ธนาคารกสิกรไทย KBANK 
 

25 กันยายน 2564 กระทิง - นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน “กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป” หรือ KBTG ในเครือธนาคารกสิกรไทย (KBANK) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า จะไม่ได้เป็น Chairman ของ KBTG แล้ว แต่จะไปเป็น Group Chairman (ประธานกลุ่ม) ของ KBTG แทน
 

“ส่วน Group Chairman หมายความว่ายังไง และ KBTG/KBank จะเป็นยังไงรอติดตามได้เลยครับ” ก่อนทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า “ไม่ใช่ KBTGX นะครับ”แค่นี้เท่านั้น
 

วันที่ 27 ก.ย.วันเดียว หุ้น KBANK ราคาขยับขึ้น 2.67% มาอยู่ที่ 134.50 บาท เพิ่มขึ้น 3.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 3,643.30 ล้านบาท 
 

วันที่ 28 กันยายน ขึ้นมาที่ 135 บาท โบรกเกอร์ต่างบอกว่า ให้ “ซื้อ” หุ้นธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ปรับราคาเป้าหมายไปถึง 165.00 บาท เพื่อสะท้อนการปลดล็อกในกลุ่มธนาคารที่เดินหน้าเข้าสู่ Tech company และมีแนวโน้มเติบโตได้ดีในอนาคต
 

โบรกเกอร์ต่างเชื่อว่า KBANK ไม่น่าอยู่นิ่งเฉย มีโอกาสที่จะทำคล้ายๆ กับ SCBX ซึ่งปัจจุบัน KBANK มีการลงทุนด้าน digital เป็นธนาคารแรกมาก่อนอยู่แล้ว แค่ยังไม่มีการประกาศแผนที่ชัดเจนเท่านั้น มีการประมาณการกำไรสุทธิในไตรมาส 3/64 ที่ 7 พันล้านบาท และประมาณการกำไรสุทธิปี 2564 อยู่ที่ 3.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 9%
 

ตระกูล X จึงเบ่งบ่านแผ่แม่เบี้ยทุกตัว