เตือนรับมือ การค้าโลกเปลี่ยน หวั่นกำแพงภาษีทรัมป์ ก่อวิกฤตซ้ำรอยปี 1930

12 ก.พ. 2568 | 10:00 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.พ. 2568 | 11:55 น.
613

ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ผลกระทบนโยบายกำแพงภาษีของทรัมป์ หวั่นซ้ำรอยวิกฤตเศรษฐกิจปี 1930 ชี้ประเทศต่างๆ อาจลดพึ่งพาสหรัฐฯ-หันมาร่วมมือกันมากขึ้น แนะไทยเร่งปรับตัวสู่ Global Value Chain พร้อมวางมาตรการรองรับผลกระทบภาคธุรกิจ

ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมประกาศนโยบาย “ภาษีเท่าเทียม” (reciprocal tariffs) ที่จะส่งผลกระทบต่อการค้าโลกในวงกว้างผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบและแนวทางรับมือสำหรับประเทศไทย

 

ประเทศได้รับผลกระทบจับมือต่อต้านทรัมป์

รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การประกาศการจัดเก็บภาษีเท่าเทียมกับประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นการผลักให้กลุ่มประเทศที่ถูกจัดเก็บภาษีเหล่านั้นหันมาร่วมมือกันมากขึ้น ที่เห็นชัดเจนคือ แคนาดาหันมาร่วมมือกับสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น รวมทั้งจะเกิดขบวนการเพื่อต่อต้านทรัมป์

ขณะที่ประเทศต่างๆต้องใช้จมูกตัวเองหายใจมากขึ้น ด้วยการพึ่งเศรษฐกิจในประเทศ รวมทั้งจะเกิดการหาคู่ค้า คู่ลงทุนใหม่ โดยไม่มีสหรัฐฯเป็นตัวตั้งตัวตีอีกต่อไป

ส่วนการประกาศจัดเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียม 25% ไม่ใช่แค่ชาติที่ถูกจัดเก็บภาษีเท่านั้นที่เดือดร้อน คนสหรัฐฯเองก็จะได้รับความเดือดร้อนไปด้วย เพราะจะทำให้รถยนต์ในประเทศ ตู้เย็น และสินค้าอื่นๆปรับราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ไม่สามารถกดเงินเฟ้อลดลงได้ และโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับลดดอกเบี้ยลงก็จะเลือนลาง

สำหรับประเทศไทย มองว่าจะไม่ถูกกระทบโดยตรงเหมือนเม็กซิโก แคนาดาและบราซิล โดยเฉพาะแคนาดาที่ส่งออกอะลูมิเนียม 60-70% ไปสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ที่มีโรงถลุงเหล็กขนาดใหญ่ ซึ่งทรัมป์ ต้องการกอบกู้อุตสาหกรรมเหล็กส่วนหนึ่ง เพื่อหวังผลทางการเมือง เพราะแหล่งถลุงเหล็กขนาดใหญ่อยู่ที่รัฐเพนซิลวาเนีย ซึ่งเป็นรัฐ Electoral Vote

หวั่นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกซ้ำรอยปี 1930

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศและความมั่นคง ให้สัมภาษณ์พิเศษ ฐานเศรษฐกิจ โดยวิเคราะห์สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจากผลพวงของการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ ว่า ในระยะสั้น กำแพงภาษีอาจจะไม่ช่วยให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าที่ถูกลง แต่ในทางกลับกัน ผู้ที่ค้าขายอาจจะผลักภาระให้กับผู้บริโภค ส่วนในระยะปานกลาง การปรับขึ้นภาษีบางรายการของสหรัฐฯ อาจจะมีการชะลอการบังคับใช้ไปก่อน เหมือนที่เกิดขึ้นในกรณีของแคนาดาและเม็กซิโก โดยการชะลอการบังคับออกไป อาจจะไปผูกโยงกับเงื่อนไขนโยบายด้านสังคมและความมั่นคง เพื่อเป็นเครื่องมือกดดันไม่ให้ประเทศคู่กรณีปรับเปลี่ยนนโยบายออกมาโต้ตอบ

ขณะที่ในระยะยาว ถ้ามีการโต้ตอบกันไปมา หลาย ๆ ประเทศอาจเลือกวิธีผลิตสินค้าใช้ด้วยตัวเอง หรือพึ่งพาประเทศตัวเองมากขึ้น แต่จะสามารถทำได้ถึงขนาดไหน ตอนนี้ยังไม่สามารถประเมินออกมาได้

“ถ้ามีการโต้ตอบกันไปมายาวนาน ก็อาจมีความเสี่ยงเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 1930 ที่มีการใช้กำแพงภาษีโต้ตอบกันไปมา มีสินค้าเป็นหมื่นรายการ และในช่วงทรัมป์ 1.0 ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว คือการขึ้นภาษีแล้วทำให้ชาวนาอเมริกันสูญเสียรายได้หลายพันล้าน รัฐบาลทรัมป์ตอนนั้นต้องหาเงินมาอุดหนุนชาวนาอเมริกันไม่ให้เกิดความเสียหาย ดังนั้นหากปล่อยไว้ จึงไม่แน่ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะตอนนี้รุนแรงกว่าเก่ามาก”

 

โครงสร้างเศรษฐกิจการค้าโลกเปลี่ยน

รศ.ดร.ปณิธาน มองว่า ในระยะสั้น มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ซึ่งสหรัฐฯ ก็น่าจะรู้ดี เพราะหลายประเทศจะเริ่มลดการพึ่งพาสหรัฐฯ โดยเฉพาะการแสดงความกังวลเกี่ยวกับการพึ่งพาเงินสกุลดอลลาร์เป็นเงินสกุลหลัก และอาจหันไปพึ่งพาเงินสกุลอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าแทน

“การหันไปยังเงินสกุลอื่นของจีนจะมีความน่าสนใจมากขึ้น หาก ปธน.ทรัมป์ ไปขู่หนัก ๆ การหันไปพึ่งพาเงินสกุลอื่น หรือแนวคิดการทำระบบการเงินของกลุ่ม BRICS ก็มีแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะถ้าจีนรู้สึกว่าสัญญาณไม่ดีมากขึ้น เขาก็คงเดินหน้าสร้างระบบที่เป็นอิสระจากสหรัฐฯ และอาจเกิดขึ้นเร็วด้วยซ้ำ เรื่องนี้ก็น่าสนใจไม่น้อยว่า ถ้าหลายประเทศทำตาม ก็อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบเศรษฐกิจโลก”

อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบัน ภาพของภูมิทัศน์เศรษฐกิจ-การค้าโลก อาจจะยังซับซ้อนอยู่ เพราะการประกาศขึ้นกำแพงภาษีของจีนต่อสหรัฐฯ ยังเป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ เพราะการขึ้นภาษีมีมูลค่าไม่มาก และจีนน่าจะยังไม่ตอบโต้เข้มข้นเท่ากับที่สหรัฐฯดำเนินการเนื่องจากสินค้าบางประเภท จีนก็ยังต้องพึ่งพาสหรัฐฯ มากกว่าสหรัฐฯ พึ่งพาจีน

 

เตือนรับมือ การค้าโลกเปลี่ยน หวั่นกำแพงภาษีทรัมป์ ก่อวิกฤตซ้ำรอยปี 1930

 

แนะรัฐบาลไทยเตรียมตัวรับมือ

รศ.ดร.ปณิธาน ประเมินว่า มีสิ่งสำคัญ 3 ประการที่ประเทศไทยต้องเตรียมตัวรับมือ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเกิดขึ้นแล้ว โดยแยกเป็นเรื่อง ๆ ดังนี้ 1.รัฐบาลต้องวางมาตรการรองรับผลกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพราะถ้าสหรัฐฯประกาศรายชื่อประเทศออกมา และมีชื่อของไทยด้วยก็กระทบแน่ สำหรับมาตรการกลุ่มแรกที่ควรทำ เห็นว่า แทนที่รัฐบาลจะเรียกร้องหรือต่อรอง ต้องปรับมาเป็นการหามาตรการลดผลกระทบ และหาทางเลือกใหม่ เพราะแนวโน้มตอนนี้ไม่ค่อยดีนัก ทั้งบรรยากาศและขวัญกำลังใจที่ยังมีความคลุมเครืออยู่มาก

“รัฐบาลควรหามาตรการลดผลกระทบให้มีความชัดเจน และในที่สุดคงต้องหาเงินก้อนหนึ่งมาช่วยรองรับสถานการณ์ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ลดค่าใช้จ่าย และลดต้นทุนให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ”

2. รัฐบาลต้องหาแนวทางเชิงรุกในการบริหารจัดการเรื่องนี้ โดยหยิบยกความชำนาญที่ประเทศไทยมีไปเจรจาต่อรอง เช่น การเจรจาเรื่องความมั่นคง หรือใช้การเมืองระหว่างประเทศเป็นตัวนำ เพราะสหรัฐเองก็ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมหลายเรื่องในประเทศไทย เช่น เรื่องความปลอดภัยลุ่มแม่น้ำโขง การซ้อมรบ หรือการเข้ามาซ่อมบำรุงกองเรือบรรทุกเครื่องบิน เชื่อว่า หากประเทศไทยลองใช้ความชำนาญไปเจรจาต่อรอง จะกลายเป็นผลประโยชน์ และสามารถปรับเปลี่ยนเป็นนโยบายเชิงรุกได้อีกด้วย

3. ประเทศไทยอาจจะต้องหาทางเลือกใหม่ ๆ อย่างจริงจัง โดย รศ.ดร.ปณิธาน ประเมินว่า ควรมองให้เห็นถึงอันตรายในระยะยาว ถึงแม้จะไม่มีปธน.ทรัมป์ ดำรงตำแหน่ง โดยอาจจะต้องมีระบบสร้างแรงต่อรองให้แข็งกร้าวมากขึ้น หากเขาขู่มาเราก็ต้องรู้จักการขู่กลับ เช่น ถ้าจะไม่ให้เข้าร่วม BRICS สหรัฐก็ต้องมีสิ่งตอบแทนเป็นตัวเลือกมาให้ประเทศไทยด้วย ซึ่งการต่อรองที่เข้มข้นที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยทำ แต่ถ้าไม่ลองทำก็อาจทำให้เสียโอกาสได้

“ก่อนจะไปจุดต่าง ๆ ทั้งสามเรื่อง อยากให้ประเทศไทยลองใช้ความถนัดที่มีเจรจาต่อรอง พร้อมทั้งรอดูท่าทีที่ชัดเจน ควบคู่กับประเมินสถานการณ์ ความเหมาะสม เพราะสหรัฐและเวทีโลกในขณะนี้ อาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”

 

แนะไทยปรับตัวเป็น Global Value Chain

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย (MAT) กล่าวว่า ผลกระทบจากนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ มีหลายด้านที่สำคัญ ทั้งการค้าและการส่งออก ซึ่งนโยบายการค้าที่เน้นการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศจีนและประเทศอื่นๆ ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปยังสหรัฐอเมริกามีความไม่แน่นอนสูงขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของภาษีที่แตกต่างกันระหว่างสินค้านำเข้าจากไทยและสินค้านำเข้าจากอเมริกา ทำให้การส่งออกของไทยไปยังสหรัฐอเมริกาลำบากขึ้นและอาจมีต้นทุนที่สูงขึ้น

ขณะเดียวกันการแข่งขันในตลาด จะส่งผลให้ไทยต้องปรับตัวเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก โดยเฉพาะเมื่อสินค้าจีนที่ถูกกีดกันจากสหรัฐอเมริกาอาจไหลเข้ามาในตลาดไทยมากขึ้น ขณะที่โครงสร้างของประเทศไทยจะมุ่งไปที่ภาคการผลิตเป็นหลัก เมื่อเกิดความไม่แน่นอนในนโยบายการค้า ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทยมากกว่าภาคการค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นการจ้างผลิตและส่งออก รวมทั้งทำให้การตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยยากขึ้น

“นโยบายของทรัมป์ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสหรัฐอเมริกาและจีน แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทย โดยทำให้ landscape ของการค้าโลกเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ”

อย่างไรก็ดีจุดแข็งของสหรัฐอเมริกาคือ เป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญที่สุดในโลก เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี มีอิทธิพลต่อระบบการค้าโลก เป็นตลาดบริโภคขนาดใหญ่ และยังเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ของโลก ทำให้มีการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ ซึ่งช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ในอดีตที่สหรัฐอเมริกาและจีนจะพึ่งพาซึ่งกันและกัน แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนเป็นการแข่งขัน จีนก็ต้องใช้จุดแข็งที่มีคือ การเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำและสามารถผลิตสินค้าในปริมาณมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้จีนสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดโลกได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งจีนมีการลงทุนอย่างมากในโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนานวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรม และจำนวนประชากรที่มีมาก ทำให้เป็นตลาดที่มีศักยภาพในการบริโภคสูง

 

แนะผู้ประกอบการไทยเร่งปรับตัว

สิ่งที่ประเทศไทยควรปรับตัวในหลายด้านเพื่อให้สามารถแข่งขันและเติบโตได้ในสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร การสร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร ซึ่งเป็นจุดแข็งที่มีอยู่ โดยการพัฒนาคุณภาพและการสร้างแบรนด์ที่มีคุณค่า เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ รวมทั้งด้านการท่องเที่ยว ซึ่งไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ไทยควรนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในภาคการผลิตและการบริการจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขัน การใช้ AI มาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งการสร้างแบรนด์ “Made in Thailand” เน้นการตลาดที่มีคุณค่า จะช่วยให้สินค้าของไทยมีความน่าสนใจและสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

“วันนี้ไทยต้องทำตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งของ Global Value Chain ไม่ใช่แค่ Supply Chain ทำให้เขารู้สึกว่า ขาดเราไม่ได้ ต้องมีการรวมกลุ่มทางการค้า ไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศหรือระดับโลก”