นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การปรับขึ้นกำแพงภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในเฟสแรกกับ 3 ประเทศ ได้แก่ เม็กซิโก แคนาดา และจีน มองว่าในส่วนของ เม็กซิโก แคนาดา เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าเพื่อบีบให้ประเทศเหล่านี้มีการสกัดกั้นเพิ่มความเข้มงวดชายแดนตนเองเพิ่มมากขึ้น
แม้แต่มาตรการเพิ่มภาษีนำเข้าสำหรับสินค้านำเข้าประเภทเหล็กและอะลูมิเนียมที่เพิ่งออกมาเพิ่มเติม ก็มองว่าประเทศเม็กซิโก แคนาดา เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ ในขณะที่แถบละตินอเมริกา อย่างบลาซิล รวมถึงเกาหลีใต้ที่มีการส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียมไปยังสหรัฐฯ แทบไม่ได้รับผลกระทบเลย
ซึ่ง "ทรัมป์" แสดงให้เห็นว่าตนกำลังเดินหน้าตามนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ หลักๆ มุ่งไปที่ประเด็น ปราบปรามยาเสพติดและผู้อพยพ สังเกตได้ว่ามีการเปิดระยะเวลาให้เจรจาต่อรองข้อตกลงได้ โดยที่ฝั่งสหรัฐฯ ไม่เสียอะไรเลย และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเฉียบพลัน
ขณะที่การปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนนั้น มองว่าปัจจุบันยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนว่าเป็นสินค้าประเภทใดบ้าง และจะมีการปรับใช้จริงจังเมื่อไหร่ เหมือนเป็นการข่มขู่มากกว่า ทางจีนเองก็มีการออกมาตอบโต้แบบเบาๆ ด้วยการลดปริมาณการนำเข้าสินค้าบางรายการจากฝั่งสหรัฐฯ ลง แต่จากที่ดูองว่ามูลค่านั้นเล็กน้อยมาก จึงดูเหมือนว่าเป็นการโต้ตอบแบบไม่ใส่ใจนักเช่นกัน
จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า "ทรัมป์" ยังเป็นบุคคลที่มีความไม่แน่นอน และสร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจสูง ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เองก็จำเป็นที่จะต้องเพิ่มความระมัดระวังในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงด้วยในปีนี้ ซึ่งแน่นอนว่าไทยย่อมได้รับผลกระทบดังกล่าวตามไปด้วย
และด้วยความไม่แน่นอนนี้ส่งผลให้ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market : EM) มีความผันผวนอย่างมาก จากการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ อีกทั้งดัวความผันผวนนี้ยังไม่มีท่าทีที่จะสงบลง ทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนลดลงตามไปด้วย โดยเฉพาะในตลาดหุ้นไทย ที่เรียกได้ว่าความเชื่อมั่นก็น้อยมากอยู่แล้ว
หากย้อนกลับไปดูสถิติการลงทุนของต่างประเทศนั้น จะพบว่า นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 เป็นต้นมาทุนต่างชาติมีการขายหุ้นไทยออกอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในปีนั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเริ่มเปิดประเทศและการเดินทาง การท่องเที่ยวเริ่มกลับมา เศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้น ค้าปลีกกลับมามีความคึกคัก สะท้อนให้เห็นว่า ทุนต่างชาติเริ่มเห็นสัญญาณผิดปกติบางอย่างของไทย
"การที่ฝรั่งขายสวนทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 66 นั้น แสดงให้เห็นว่าเขาเห็นสัญญาณบางอย่างของตลาดหุ้นไทยที่มีปัญหาโดยเฉพาะในเชิงโครงสร้างตลาดทุนไทยที่เป้นเรื่องใหญ่ และดูเหมือนว่าจะพร้อมล้มลงได้ตลาดเวลา ดังนั้นแล้ว ถามว่าการขายต่างชาติจะถึงจุดต่ำสุดแล้วหรือยัง ก็บอกได้เลยว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะจบลงง่ายๆ ดูจากมูลค่าสัดส่วนของต่างชาติที่ถือครองหุ้นไทยสูงกว่า 5 ล้านล้านบาทนั้น ยังมีโอกาสขายได้อีกมาก ฝรั่งไม่ชอบหุ้นไทย และยังไม่มีปัจจัยที่จะทำให้ชอบ"
หากย้อนกลับไปเมื่อ ทรัมป์ 1.0 จะเห็นได้ว่าตลาดหุ้นไทยและเอเชียไม่ดีเลย ยิ่งขยับมาเป็น ทรัมป์ 2.0 ความไม่แน่นอนยิ่งเพิ่มมากขึ้น การกลับมาของทรัมป์ครั้งนี้ใช้ระยะเวลาในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศเพียงพริบตา ต่างจากครั้งก่อนที่กว่าจะบังคับใช้มาตรการก็กินเวลาไปกว่า 1-2 ปีแล้ว
สำหรับปัจจัยเชิงบวกที่จะเข้ามาสนับสนุนตลาดหุ้นไทยเป็นตัวช่วยในระยะสั้นๆ เช่น การลดดอกเบี้ยของ กนง. รวมถึงการจัดตั้งกองทุนรวม LTF ให้มาอยู่ในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) เชื่อว่าจะช่วยเข้ามากระตุ้นเม็ดเงินใหม่ๆ ใส่เข้ามายังตลาดหุ้นไทยได้เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ดี มองว่าเม็ดเงินใหม่ที่ใส่เข้ามานั้นอาจไม่ได้มากมายนัก
อย่างไรก็ตาม ประเมินกรอบดัชนีตลาดหุ้นไทยในปี 2568 ไว้ที่กรอบ 1,250-1,400 จุด มองว่าในช่วงเวลานี้ตลาดหุ้นไทยยังดูมีความเสี่ยงและไม่แนะนำให้ลงทุน โดยจากนี้ก็ต้องจับตาดูว่าปัจจัยใหม่ที่เข้ามาเสริมความเชื่อมั่นตลาดหุ้นไทยนั้นมีมากน้อยแค่ไหน หากว่าสร้างความเชื่อมั่นได้จริงก็อาจเป็นการปรับฐานใหม่ แต่หากไม่ก็อาจเป็นเพียงการรีบาวด์สั้นๆ
ส่วนคำแนะนำการลงทุนนั้น เน้นทยอยขายทำกำไร เก็บเงินสด ในระหว่างนี้ก็ให้เกลี่ยพอร์ตลงทุน รอช่วงเวลาทยอยขายเพื่อรอเวลาปรับพอร์ตการลงทุนใหม่อีกครั้ง