"ทรัมป์" ตั้ง “อีลอน มัสก์“ นำทัพกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล ปฏิรูปราชการสหรัฐ

13 พ.ย. 2567 | 13:03 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ย. 2567 | 13:33 น.

“โดนัลด์ ทรัมป์” แต่งตั้ง “อีลอน มัสก์” และ “วิเวก รามาสวามี” นำกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล “DOGE” สลายความซับซ้อนภาครัฐ ลดกฎเกณฑ์ และเปลี่ยนระบบราชการในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

ประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" ประกาศแต่งตั้ง "อีลอน มัสก์" ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Tesla และ SpaceX ร่วมกับ "วิเวก รามาสวามี" นักธุรกิจด้านชีวเทคโนโลยี อดีตผู้สมัครชิงประธานาธิบดีสายรีพับลิกัน ขึ้นเป็นผู้นำกระทรวงแห่งใหม่ที่เรียกว่า "กระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล" (Department of Government Efficiency) หรือ "DOGE" ซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่มีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงระบบราชการของสหรัฐฯ อย่างเป็นระบบ

แม้ว่าจะใช้ชื่อว่า กระทรวง แต่กระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาลจะไม่เป็นหน่วยงานของรัฐบาลอย่างเป็นทางการ โดยจะเป็นเพียงหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาแก่ทำเนียบขาวจากภายนอก และร่วมมือกับสำนักงานบริหารและงบประมาณ (OMB) เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างขนาดใหญ่ของรัฐบาลสหรัฐฯ

อีลอน มัสก์

การตั้ง DOGE เกิดจากวิสัยทัศน์ของมัสก์และรามาสวามีในการ "ปรับระบบราชการ" โดยตั้งใจลดกฎระเบียบที่เกินความจำเป็น และตัดงบประมาณที่ไม่เกิดประโยชน์ในระบบราชการ ทั้งคู่จะปฏิบัติงานร่วมกับทีมทำเนียบขาวภายใต้การกำกับของทรัมป์โดยมีกรอบเวลาจนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2569 หรือวันฉลอง 250 ปีการประกาศอิสรภาพของสหรัฐฯ

อีลอน มัสก์ กล่าวผ่าน X ว่าจะแสดงความโปร่งใสในทุกขั้นตอนของ DOGE ผ่านการรายงานออนไลน์ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนส่งความเห็นว่าควรตัดหรือรักษางบประมาณใด พร้อมให้คำมั่นว่าจะสร้างระบบแสดงการใช้จ่ายที่ "ไร้สาระ" ที่สุดของงบประมาณแผ่นดิน

วิเวก รามาสวามี ที่ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีพรรครีพับลิกันก่อนจะถอนตัวและหันมาสนับสนุนทรัมป์ กล่าวถึงการทำงานร่วมกับมัสก์ว่า "เราจะไม่ยอมปล่อยให้ระบบนี้หยุดเราได้" พร้อมด้วยธงชาติสหรัฐฯ ที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในการปฏิรูป

วิเวก รามาสวามี

การจัดตั้ง DOGE ครั้งนี้ ถือเป็นการเปรียบเทียบกับ "โครงการแมนฮัตตัน" ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยทรัมป์กล่าวว่า DOGE จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วยความท้าทายไม่แพ้โครงการในตำนานนี้ เป้าหมายของ DOGE คือการทำให้รัฐบาลเป็นมิตรกับประชาชนมากขึ้น โปร่งใส และมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

กระบวนการทำงานของ DOGE แม้จะไม่ขึ้นตรงกับรัฐบาลโดยตรง แต่ก็อาจถูกตรวจสอบภายใต้กฎหมาย Federal Advisory Committee Act ซึ่งมีข้อกำหนดด้านความโปร่งใสของหน่วยงานที่ทำงานร่วมกับรัฐบาล อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมัสก์และรามาสวามีไม่ได้ทำงานเป็นข้าราชการเต็มเวลา จึงไม่ต้องรายงานการเปิดเผยทรัพย์สินและผลประโยชน์เหมือนกับข้าราชการทั่วไป กล่าวคือบทบาทหน้าที่ของ อีลอน มัสก์ และรามาสวามี จะมีลักษณะแบบ "ไม่เป็นทางการ" ไม่ต้องผ่านการเห็นชอบจากวุฒิสภา ดังนั้น อีลอน มัสก์ จึงสามารถดำรงตำแหน่งผู้บริหารเทสลา SpaceX และแพลตฟอร์ม X ต่อไปได้

การเลือก อีลอน มัสก์ และ วิเวก รามาสวามี ซึ่งทั้งคู่ไม่มีประสบการณ์ในภาครัฐ และดำเนินงานในฐานะผู้ประกอบการ ทำให้เกิดความกังวลจากบางฝ่ายที่ตั้งคำถามว่าการดำเนินการของ DOGE จะถูกควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐานและหลักจริยธรรมหรือไม่ ด้านองค์กร Public Citizen ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์ด้านสิทธิมนุษยชนแสดงความกังวลเกี่ยวกับการแต่งตั้งมัสก์โดยกล่าวว่า เขาไม่เคยมีประสบการณ์ด้านประสิทธิภาพในภาครัฐ อีกทั้งบริษัทของเขาหลายครั้งยังละเมิดกฎเกณฑ์ของภาครัฐ นอกจากนี้ ความรับผิดชอบที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมทางกฎหมายอย่างชัดเจนอาจเปิดช่องให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ได้

"ทรัมป์" ตั้ง “อีลอน มัสก์“ นำทัพกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล ปฏิรูปราชการสหรัฐ

ทั้งนี้ ทรัมป์ให้สัมภาษณ์ในรัฐมิชิแกนว่ามัสก์เคยบอกเขาว่าความสิ้นเปลืองในรัฐบาลนั้นเป็นเรื่อง "บ้า" และการแต่งตั้งมัสก์ในครั้งนี้ก็เพื่อให้เขาเข้ามาลดค่าใช้จ่ายในแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน อย่างไรก็ดี ทรัมป์กล่าวว่า แม้มัสก์จะไม่สามารถทำงานเต็มเวลาได้ เนื่องจากภารกิจในบริษัทอื่นๆ เช่น Tesla และ SpaceX แต่การสนับสนุนในรูปแบบพาร์ทไทม์ของมัสก์ก็เพียงพอที่จะช่วยรัฐบาลประหยัดงบประมาณได้มาก