วิเคราะห์เลือกตั้งสหรัฐ2024 ทรัมป์-แฮร์ริส บนสมรภูมิ Blue Wall

01 พ.ย. 2567 | 06:37 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ย. 2567 | 12:10 น.
559

เกาะติดศึกชิงทำเนียบขาว 2024 ระหว่างทรัมป์-แฮร์ริส บนสมรภูมิ 7 รัฐสำคัญใน Blue Wall ที่อาจเป็นตัวชี้ขาดผลการเลือกตั้ง ท่ามกลางกลยุทธ์การหาเสียงที่เน้นประเด็นผู้อพยพและการแข่งขันคะแนนที่สูสีในรัฐอย่างเพนซิลเวเนีย วิสคอนซิน และมิชิแกน

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2024 กำลังเข้าสู่ช่วงที่น่าตื่นเต้นและเต็มไปด้วยการห้ำหั่นทางยุทธศาสตร์ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศและด้านความมั่นคง ชี้ให้เห็นถึง กลยุทธ์ที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์nใช้ โดยมุ่งเน้นไปที่รัฐสำคัญหรือ "Blue Wall" ซึ่งเป็นกลุ่ม 18 รัฐที่มีแนวโน้มสนับสนุนเดโมแครตเสมอ ทรัมป์และกมลา แฮร์ริสต่างแข่งขันกันใน 7 รัฐที่คะแนนโหวตยังไม่แน่นอน

โดยรัฐที่ถูกจับตามองมากที่สุด ได้แก่ วิสคอนซิน มิชิแกน และเพนซิลเวเนีย ซึ่งในบางรัฐแฮร์ริสมีคะแนนนำ ส่วนเพนซิลเวเนีย คะแนนสูสีกันที่ 48 ต่อ 48 ทำให้ถูกจับตาว่าความได้เปรียบของทรัมป์อาจเป็นปัจจัยชี้ขาดผลการเลือกตั้ง

อเมริกาใช้ระบบการเลือกตั้งทางอ้อมที่อิงตามคณะผู้เลือกตั้ง ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ตั้งขึ้นเพื่อถ่วงดุลอำนาจของแต่ละมลรัฐ ทำให้ในอดีตบางครั้งผู้ที่ได้รับคะแนนนิยมสูงสุดอาจไม่ได้รับตำแหน่ง ซึ่งครั้งนี้หากทรัมป์ชนะในรัฐสมรภูมิเหล่านี้ก็อาจจะมีโอกาสกลับมาได้อีกครั้ง

รศ.ดร.ปณิธาน อธิบายว่า ยุทธศาสตร์การเลือกตั้งในครั้งนี้ของทรัมป์ยังคงเน้นไปที่การเข้าถึงรัฐสำคัญหรือที่เรียกว่า “Blue Wall” ซึ่งเป็นกลุ่มรัฐที่ปกติจะเลือกพรรคเดโมแครต ทั้งหมดมี 18 รัฐ ซึ่งในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ถ้าผู้สมัครชนะในรัฐเหล่านี้ก็จะมีโอกาสสูงในการชนะการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ภายใต้รัฐสำคัญนี้ มี 7 รัฐที่คะแนนนิยมแกว่งและถูกมองว่าเป็น “รัฐสมรภูมิ”

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศและด้านความมั่นคง

ได้แก่ เนวาดา วิสคอนซิน มิชิแกน เพนซิลเวเนีย นอร์ธแคโรไลนา จอร์เจีย และอริโซนา รวมแล้วในรัฐเหล่านี้จะมีคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมด 93 คนจากทั้งหมด 538 คน ทำให้การเข้าถึงกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งใน 7 รัฐนี้เป็นการตัดสินใจที่สำคัญ เพราะต้องการคณะผู้เลือกตั้ง 270 เสียงขึ้นไปเพื่อชนะการเลือกตั้ง

ล่าสุด จากผลสำรวจในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าใน 3 รัฐที่เป็นรัฐสมรภูมิหลัก ทรัมป์มีคะแนนนิยมเหนือกว่าในเพนซิลเวเนีย แต่คะแนนสูสีกันในรัฐวิสคอนซินและมิชิแกน ในขณะที่แฮร์ริสก็พยายามเร่งทำคะแนนในรัฐเหล่านี้โดยลงพื้นที่หาเสียงเพื่อดึงคะแนนนิยมในช่วงโค้งสุดท้าย การแข่งขันในรัฐสมรภูมินี้จึงมีความสำคัญยิ่งในการตัดสินผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้า

โค้งสุดท้าย น่าเป็นห่วงแฮร์ริสพอสมควร เพราะออกตัวมาแรง คะแนนนิยมสูง อายุน้อย ถ้าเทียบกับทรัมป์ ล่าสุดประธานาธิบดี โจ ไบเดน ออกมาโต้ตอบทรัมป์ว่าคนที่จะมาลงคะแนนให้เป็นพวกขยะ ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ซึ่งเดโมแครตก็ตื่นตระหนก เหมือนช่วงที่ ฮิลลารี คลินตันหาเสียง แล้วบอกว่าคนที่มาลงคะแนนให้รีพับลิกันหรือทรัมป์เป็นคนที่ชักจูงง่าย ไม่ค่อยมีความรู้ คะแนนนิยมจึงลดลง อีกทั้งแฮร์ริสกําลังลงพื้นที่เพนซิลเวเนียซึ่งจะเป็นพื้นที่ตัดสิน มีคนเชื้อสายละตินอเมริกาจำนวนมาก ดังนั้นภาพรวมยังไม่สามารถตัดสินเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่หากจะดูรัฐตัดสินทรัมป์เริ่มได้เปรียบมากขึ้น

บทบาทของความนิยมและประชานิยมในการเลือกตั้งสหรัฐฯ

รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวว่า แม้กมลา แฮร์ริสจะมีคะแนนนิยมจากโพลระดับชาติสูงกว่าทรัมป์เล็กน้อย แต่ระบบการเลือกตั้งสหรัฐฯ เป็นระบบคณะผู้เลือกตั้ง ซึ่งผลคะแนนความนิยมทั่วไปไม่ได้เป็นตัวตัดสินที่แท้จริง แต่คะแนนในรัฐต่างๆ มีบทบาทมากกว่า ซึ่งระบบนี้เป็นเอกลักษณ์ของสหรัฐฯ ที่เน้นการถ่วงดุลอำนาจระหว่างรัฐ และในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ทรัมป์สามารถเอาชนะในรัฐที่เป็น Blue Wall จนได้รับชัยชนะโดยรวม แม้ว่าจะไม่ได้ชนะคะแนนเสียงประชานิยม กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ชูมือในการชุมนุมที่เมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2024

อัลลัน ลิชท์แมน นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอเมริกัน ผู้ทำนายการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างแม่นยำมากว่า 30 ปี กล่าวว่า แฮร์ริสมีโอกาสสูงที่จะชนะ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอัตราการลงคะแนน หากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งออกมาใช้สิทธิ์มากกว่า 70% ขึ้นไป โอกาสที่ทรัมป์จะได้เปรียบก็จะสูงขึ้นเช่นกัน เพราะโดยปกติแล้ว สหรัฐฯ มีผู้ลงทะเบียนประมาณ 160 ล้านคน แต่มีเพียง 60% ของผู้ลงทะเบียนทั้งหมดที่ออกมาใช้สิทธิ์เท่านั้น ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าหลายประเทศ

ความหวาดกลัวและการต่อต้านผู้อพยพ

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ กลยุทธ์ของทั้งสองฝ่ายเน้นไปที่การขับเคลื่อนกลุ่มประชาชนที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนอายุสูง ผู้หญิงบางกลุ่ม ชาวอเมริกันผิวสี และกลุ่มละติน โดยทรัมป์ใช้แนวคิด “อเมริกาต้องมาก่อน” เพื่อให้ความสำคัญกับการต่อต้านการอพยพ โดยมีผู้สมัครรองประธานาธิบดีจากฝ่ายทรัมป์

โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันและอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวสุนทรพจน์ระหว่างการชุมนุมที่เฮนเดอร์สัน รัฐเนวาดา สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2024

อย่าง เจ ดี แวนซ์ ได้ออกมาให้ข้อมูลว่ามีผู้อพยพผิดกฎหมายกว่า 25 ล้านคนในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกกล่าวหาว่าอาจเข้ามาทำลายสังคมอเมริกัน สร้างความตื่นตระหนกให้กับกลุ่มผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกัน ขณะที่ฝ่ายแฮร์ริสพยายามกระตุ้นความรู้สึกที่เป็นบวกโดยเน้นนโยบายที่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม และย้ำถึงความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นหากทรัมป์กลับมาเป็นผู้นำอีกครั้ง

การเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะอยู่บนพื้นฐานของตัวบุคคล ใครชอบใคร ลักษณะความกลัวว่าใครกลัวอะไร ซึ่ง 61 % จากการสัมภาษณ์กลัวคนอพยพ กลัวคนก็มาแย่งงาน เพราะฉะนั้นนโยบายของทรัมป์ตั้งแต่สมัยที่แล้ว ซึ่งใช้มาประมาณเกือบ 10 ปีแล้วว่าอเมริกาต้องมาก่อนก็จะมุ่งเป้าไปที่ผู้อพยพแรงงาน