หวัง อี้ เยือนกัมพูชา จุดประเด็นร้อน “ฐานทัพเรือเรียม-อิทธิพลจีน” ในอ่าวไทย

24 เม.ย. 2567 | 10:35 น.
อัปเดตล่าสุด :24 เม.ย. 2567 | 13:08 น.
508

การเดินทางเยือนกัมพูชาเป็นเวลา 3 วันของ "นายหวัง อี้" รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ที่ให้คำมั่นจะกระชับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับกัมพูชา เกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลของสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับบทบาทของ "ฐานทัพเรือเรียม" ในจังหวัดพระสีหนุของกัมพูชาที่จีนให้การสนับสนุน

นายหวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของจีน สมาชิกกรมการเมือง และผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านการต่างประเทศพรรคคอมมิวนิสต์จีน เดินทางถึง กัมพูชา เมื่อวันอาทิตย์ (21 เม.ย.) เพื่อการเยือนอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 3 วัน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน เขาเดินทางเยือนอินโดนีเซีย และได้พบปะกับประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ที่กรุงจาการ์ตา

ในการหารือทวิภาคีกับนายฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่กรุงพนมเปญเมื่อวันจันทร์ (22 เม.ย.) หวัง อี้ กล่าวว่า จีนและกัมพูชาควรส่งเสริมความร่วมมือและเสริมสร้างความมั่นคง ร่วมกันสร้างชุมชนความสัมพันธ์จีน-กัมพูชาที่ปลอดภัยและมีอนาคตร่วมกัน

การพบกันครั้งนี้มีขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากที่ องค์กรความริเริ่มเพื่อความโปร่งใสทางทะเลแห่งเอเชีย หรือ Asia Maritime Transparency Initiative (AMTI) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งที่แสดงภาพถ่ายดาวเทียมที่เผยให้เห็นเรือรบจีน 2 ลำ ที่ดูเหมือนจะจอดเทียบท่าอยู่ที่ฐานทัพเรือเรียม (Ream Naval Base) ของกัมพูชามาเป็นเวลา 4 เดือนแล้ว

ทั้งนี้ รัฐบาลจีนมีบทบาทสำคัญในการให้ทุนสนับสนุนการบูรณะฟื้นฟูฐานทัพเรือเรียม ในขณะที่สหรัฐอเมริการะบุว่า ฐานทัพเรือแห่งนี้จะเป็นฐานทัพในต่างประเทศแห่งแรกของจีนในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ซึ่งข้อกล่าวหาดังกล่าวของสหรัฐ เป็นสิ่งที่รัฐบาลกัมพูชาปฏิเสธมาโดยตลอด

รายงานของ AMTI ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมานี้เอง ตั้งคำถามว่า ฐานทัพเรือเรียมซึ่งมีการต่อขยายและเปิดช่องทางพิเศษให้เรือของจีน ได้แสดงให้เห็นว่าข้อสันนิษฐานข้างต้นของสหรัฐนั้นได้เกิดขึ้นแล้วจริงๆใช่หรือไม่

AMTI แสดงภาพถ่ายดาวเทียมที่เผยให้เห็นเรือรบสองลำของจีนยังคงอยู่ในฐานทัพเรือเรียมของกัมพูชา

อย่างไรก็ตาม กัมพูชาไม่ได้เพิกเฉยในเรื่องนี้ เพราะเมื่อสำนักข่าวบลูมเบิร์กสอบถามเข้าไปยังกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ก็ได้รับคำตอบว่า “AMTI กำลังพยายามปลุกปั่นประเด็นความมั่นคงทางทะเล พยายามโจมตีและใส่ความทำให้จีนแปดเปื้อน” นอกจากนี้ ยังยืนกรานว่า ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกัมพูชาและจีนนั้น เป็นไปด้วยความโปร่งใส ความช่วยเหลือของจีนในการพัฒนาฐานทัพเรือเรียมนั้น ก็เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถของกัมพูชาในการปกป้องเอกราชและอธิปไตยของชาติเท่านั้น

นายหวัง อี้ รมว.ต่างประเทศจีน เข้าพบนายกรัฐมนตรี ฮุน มาแนต ของกัมพูชาที่กรุงพนมเปญ 22 เม.ย. 2567 (ภาพ AFP)

นายกรัฐมนตรีฮุน มาแนต ได้สานต่อความสัมพันธ์กัมพูชา-จีนให้กระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อปลายปี 2566 ต่อจากสมเด็จฮุน เซน บิดาของเขาซึ่งเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี จีนเป็นประเทศแรกที่ฮุน มาแนต เดินทางเยือน ขณะที่ความสัมพันธ์ของกัมพูชากับสหรัฐอเมริกา ยังอยู่ในสภาวะลุ่มๆดอนๆ และมีหลายประเด็นที่ยังคงเป็นปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เสรีภาพสื่อ และการปราบปรามฝ่ายค้านทางการเมืองในกัมพูชา

เมื่อต้นเดือนเมษายนนี้ สหรัฐเรียกร้องให้กัมพูชาสร้างความโปร่งใสมากขึ้นเกี่ยวกับแผนขุดคลองมูลค่า 1,700 ล้านดอลลาร์ ซึ่งผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า คลองดังกล่าวสามารถใช้เพื่อส่งเสริมบทบาททางการทหารของจีน ซึ่งอาจก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศเพื่อนบ้านกัมพูชา เช่น เวียดนาม แน่นอนว่า ความกังวลของสหรัฐเกี่ยวกับฐานทัพเรือเรียม ก็เป็นเรื่องเดียวกัน นั่นคือการเปิดช่องทางให้จีนเข้ามามีอิทธิพลทางการทหารในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาในกัมพูชากล่าวกับบลูมเบิร์กเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (20 เม.ย.) ว่า สหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคได้แสดงความกังวลอย่างจริงจังมาโดยตลอดเกี่ยวกับเจตนารมย์ ลักษณะ และขอบเขตของการก่อสร้างที่ฐานทัพเรือเรียม รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับบทบาทของกองทัพจีนที่มีอยู่ในฐานทัพเรือเรียมในเวลานี้ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากฐานทัพเรือดังกล่าวในอนาคตอีกด้วย

ทั้งนี้ สหรัฐย้ำว่า ทั้งประชาชนกัมพูชาเอง ประเทศเพื่อนบ้านของกัมพูชา อาเซียน และภูมิภาคในวงกว้างมากขึ้น ต่างก็จะได้รับประโยชน์จากความโปร่งใสเกี่ยวกับกิจกรรมของจีนที่มีในฐานทัพเรือเรียม

เอกอัครราชทูตจีนในกัมพูชาและนายเตีย บัญ รมว.กลาโหมกัมพูชาในช่วงเวลานั้น ร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์การบูรณะ-ต่อขยายฐานทัพเรือเรียม เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2022 (แฟ้มภาพ AFP)

 

ความน่ากังวลใจเกี่ยวกับฐานทัพเรือเรียม

ในปี 2565 สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติของไทย เคยออกเอกสารวิชาการวิเคราะห์สถานการณ์ด้านความมั่นคงในหัวข้อ “ฐานทัพเรือเรียม กับความกังวลใจด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ” เอาไว้ว่า

การเดินหน้าโครงการพัฒนาและปรับปรุงฐานทัพเรือเรียม ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างกัมพูชาและจีน ได้สร้างความกังวลใจให้แก่มหาอำนาจด้านความมั่นคงอย่างสหรัฐเป็นอย่างมาก เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางทะเลอีกแห่งหนึ่งในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ที่ถือได้ว่ามีความสำคัญมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

โดยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 สหรัฐได้เรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาแสดงความชัดเจนที่เกี่ยวกับเป้าหมายในการดำเนินโครงการปรับปรุงฐานทัพเรือเรียม ภายหลังจากที่ พลเอก เตีย บัญ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชาในช่วงเวลานั้น ได้กล่าวว่า การเดินหน้าโครงการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในฐานทัพเรือเรียมให้มีความทันสมัยนั้น เป็นไปภายใต้ กรอบความร่วมมือและการสนับสนุนจากจีน

ฐานทัพเรือเรียม (Ream Naval Base) ตั้งอยู่ในจังหวัดพระสีหนุของกัมพูชา ซึ่งอยู่ริมฝั่งอ่าวไทย

คำแถลงดังกล่าวได้สร้างความกังวลใจให้กับสหรัฐ เนื่องจากมองว่า การใช้ประโยชน์จากฐานทัพเรือเรียมของจีน อาจสุ่มเสี่ยงต่ออำนาจอธิปไตยของกัมพูชา ความมั่งคงปลอดภัยในภูมิภาค และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียน  ในขณะที่ฝ่ายจีนกล่าวว่า การก่อสร้างฐานทัพเรือเรียม ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกันระหว่างจีนและกัมพูชา โดยการหารือร่วมกันของทั้งสองฝ่ายเป็นไปตามกฎหมายกัมพูชา หลักกฎหมายระหว่างประเทศ และแนวปฏิบัติระหว่างประเทศ

 

วิเคราะห์ความสำคัญของท่าเรือเรียม

ถึงแม้ว่าฐานทัพเรือเรียมของกัมพูชาจะไม่ใช่เส้นทางการค้าหลักทางทะเล แต่ก็เป็นเส้นทางการเดินเรือเพื่อใช้ในการศึกสงครามมาตั้งแต่สมัยอดีต ฉะนั้น ฐานทัพเรือเรียมจึงเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางทะเลที่สำคัญของกัมพูชานับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสหรัฐเองก็รู้ดีว่า ฐานทัพเรือเรียมแห่งนี้คือจุดยุทธศาสตร์ที่แม้แต่ฝรั่งเศสเองก็ยังเคยใช้เป็นฐานทัพเรือมาก่อน (สมัยยุคล่าอาณานิคม)

นอกเหนือจากฐานทัพเรือเรียมแล้ว จีนยังมีการดำเนินโครงการ ดาราสาคร (Dara Sakor) ซึ่งปัจจุบันภายใต้ความร่วมมือระหว่างกัมพูชาและจีน กำลังพัฒนาพื้นที่ให้เป็นท่าเรือน้ำลึก หรือท่าเรือพาณิชน์แห่งใหม่ ของกัมพูชา อีกทั้งยังอยู่ระหว่างพัฒนาให้สามารถรองรับเรือขนาดใหญ่ได้ (เรือบรรทุกเครื่องบิน) ก็ยิ่งส่งผลทำาให้พื้นที่อ่าวไทยกลายเป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น

ภาพฐานทัพเรือเรียมในปี 2019 เป็นช่วงที่รัฐบาลกัมพูชาจัดทริปให้สื่อนานาชาติเข้าเยี่ยมชม (แฟ้มภาพ AFP)

การเดินหน้าพัฒนาเพื่อยกระดับท่าเรือเรียมให้กลายเป็นฐานทัพเรือของกัมพูชา ทำให้มหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐเองต่างก็อยากจะเข้ามาใช้ประโยชน์ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีความเกี่ยวพันกับความมั่นคงใน ภูมิภาคอินโด - แปซิฟิกที่สหรัฐเคยใช้ประโยชน์ทางลับในช่วงสงครามเวียดนาม และในอนาคตคาดว่า ฐานทัพเรือเรียมแห่งนี้จะยิ่ง มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก และทะเลจีนใต้มากยิ่งขึ้น

 

มุมมองของแต่ละประเทศ

สหรัฐอเมริกา:  อาจกล่าวได้ว่าสหรัฐนั้น เป็นเพียงประเทศเดียวที่ออกระเบียบ และมีเสรีภาพในการเคลื่อนกำลังทางการทหารไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ได้ทั่วโลก มีฐานทัพเรือ/กองเรือ และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับส่งกำลังบำรุงให้แก่กองเรือในหลายประเทศ ซึ่งข่าวเกี่ยวกับการพัฒนาและปรับปรุงฐานทัพเรือเรียมในจังหวัดพระสีหนุของกัมพูชา ได้สร้างความวิตกกังวล ให้แก่สหรัฐอย่างมาก ถึงแม้ว่าสหรัฐจะกล่าวอ้างว่า ความร่วมมือระหว่างกัมพูชาและจีน ในโครงการพัฒนาและปรับปรุงฐานทัพเรือเรียม จะบ่อนทำลายความมั่นคงของภูมิภาค และกระทบต่ออำนาจอธิปไตยของกัมพูชา แต่แท้จริงแล้วสหรัฐเองก็อาจมีความต้องการที่จะเข้ามาใช้ฐานทัพเรือเรียมเพื่อปิดล้อมจีนและส่งกำลังบำรุงให้แก่กองเรือของตน และไม่ต้องการให้จีนเข้ามาใช้ฐานทัพเรือเรียมในการส่งกำลังบำรุงให้กองเรือของจีน

จีน: สำหรับจีนมองว่า ถึงแม้ว่าฐานทัพเรือเรียมจะไม่มีขนาดที่ใหญ่พอ สำหรับรองรับเรือบรรทุกเครื่องบิน และเรือพิฆาตแบบ 005 ซึ่งเป็นเรือที่มีขนาดใหญ่ที่ติดตั้งระบบขีปนาวุธรุ่นใหม่ของจีนได้ก็ตาม แต่ฐานทัพเรือเรียมก็มีขนาดพื้นที่เพียงพอสำหรับรองรับเรือส่งกำลังบำรุงและเรือรบที่มีขนาดกลางได้ โดยจีนเองก็คงมีการวิเคราะห์ถึงการใช้ประโยชน์จากฐานทัพเรือแห่งนี้แล้วอย่างถี่ถ้วน เพื่อเชื่อมโยงกับสิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านการทหารอื่น ๆ ที่จีนสร้างไว้บนหมู่เกาะสแปรตลีในทะเลจีนใต้ก่อนหน้านี้ ซึ่งจะส่งผลทำให้จีนมีขีดความสามารถในการควบคุมเส้นทางการเดินเรือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

กัมพูชา: ความร่วมมือในการพัฒนาฐานทัพเรือเรียมนั้น กัมพูชามองว่า เป็นส่วนหนึ่งในกรอบความร่วมมือทางด้านการทหาร วิชาการ และเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลทำให้กัมพูชาและจีนมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีทางด้านการเดินเรือและระบบอุตสาหกรรมป้องกันประเทศทางทะเลระหว่างกัน อันจะส่งผลต่อการพัฒนากองทัพเรือของกัมพูชา เพื่อประโยชน์ในมิติด้านความมั่นคงทางทะเล ตามกรอบความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน 

 

ผลกระทบต่อไทย

รายงานเอกสารวิชาการของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติปี 2565 ระบุว่า บริเวณพื้นที่ทะเลด้านอ่าวไทย ถือว่าเป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของไทย ทั้งในเชิงความมั่นคง เศรษฐกิจ อาหาร พลังงาน ฯลฯ  อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์ “อินโด – แปซิฟิก” ของสหรัฐอเมริกา และยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative ของจีน

ทั้งนี้ในห้วงที่ผ่านมาได้ปรากฏข่าวกรณีจีนเข้าไปลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางทะเลในกัมพูชา อาทิ โครงการปรับปรุงฐานทัพเรือเรียม ซึ่งถึงแม้จะยังไม่ปรากฏหลักฐานชี้ชัดว่าจะนำไปสู่การใช้งานเพื่อ วัตถุประสงค์ทางการทหารก็ตาม โครงการฐานทัพเรือเรียมถือว่าเป็น โครงการที่มีขนาดใหญ่ และสามารถรองรับภารกิจทางด้านการทหารของจีนในอนาคตได้ โดยคาดว่า ในระยะยาวมีโอกาสที่จีนจะพยายาม นำกำลังทางทหารเข้ามาประจำการ เพื่อทัดทานอิทธิพลของสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อเสถียรภาพในพื้นที่อ่าวไทยได้

รายงานเอกสารวิชาการของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติยังได้ให้ข้อเสนอแนะเอาไว้ ดังนี้ 

 1) หน่วยงานความมั่นคงของไทย อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประชาคมข่าวกรอง และกองทัพไทย ควรมีการเสริมสร้างความร่วมมือในการติดตามสถานการณ์ และ บูรณาการงานทางด้านการข่าวเกี่ยวกับโครงการปรับปรุงฐานทัพเรือเรียมอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีความรู้เท่าทันกับสถานการณ์ และสามารถนำมาเป็นฐานข้อมูลในการประเมินสถานการณ์ในด้านต่าง ๆ จนนำไปสู่ การกำหนดท่าทีและนโยบายด้านความมั่นคงได้อย่างถูกต้อง

2) โครงการดาราสาครถือว่าเป็นโครงการที่สำคัญของกัมพูชา หากการพัฒนาโครงการดังกล่าวสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ พื้นที่บริเวณนี้และบริเวณใกล้เคียง จะกลายเป็นเขตเศรษฐกิจทางทะเลขนาดใหญ่ ที่เพียบพร้อมไปด้วยท่าจอดเรือพาณิชย์ คลังสินค้า เขตการค้าและการลงทุน เขตอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว รวมไปถึงการเชื่อมโยง ระบบโครงข่ายการขนส่งในลักษณะต่าง ๆ ฉะนั้น ไทยควรมีการพิจารณา แสวงประโยชน์จากโครงการดังกล่าวในมิติทางด้านเศรษฐกิจด้วย เช่น การส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้าไปลงทุน หรือร่วมลงทุนในโครงการต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่และบริเวณโดยรอบ อันจะส่งผลท าให้เศรษฐกิจของไทย ขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต

 

ข้อมูลอ้างอิง