เปิดเบื้องหลัง ทำไมฮ่องกงกลับลำออกกฎหมาย "แบนกัญชา"

03 ก.พ. 2566 | 11:28 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.พ. 2566 | 00:26 น.
524

กฎหมายอาญาฉบับใหม่ของฮ่องกง มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา จัดให้สารสกัดจากกัญชา หรือซีบีดี (CBD) เป็นสารเสพติดประเภทเดียวกับเฮโรอีน ห้ามครอบครอง บริโภค และขาย ด้านนักวิเคราะห์มองว่า นี่อาจเป็นใบสั่งจากจีนแผ่นดินแม่ ที่ประกาศแบนกัญชาไปก่อนหน้านี้

ในขณะที่หลายประเทศเดินหน้าทำสารสกัดจากกัญชาให้ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น สหรัฐ หลายประเทศยุโรป รวมถึงบางประเทศในเอเชีย เช่น ไทย เกาหลีใต้ อินเดีย  แต่หลายประเทศประกาศให้กัญชาเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เช่น จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย 

ส่วนฮ่องกงนั้น กัญชายังถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่เมื่อ 2 ปีก่อนทางการอนุญาตให้นำสารซีบีดีมาประกอบอาหารและเครื่องดื่มในเชิงพาณิชย์ได้ แต่เร็วๆนี้กลับลำ ด้วยเหตุผลหลักคือ “ไม่มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง” ว่าการใช้ซีบีดี (cannabidiol) จะช่วยรักษาหรือบรรเทาอาการต่างๆ เช่น บรรเทาอาการปวด หรือนอนไม่หลับ และมีข้อกังวัลว่าอาจพบสารทีเอชซี (THC) ที่มากับผลิตภัณฑ์ซีบีดี ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์มึนเมา

 

  • กฎหมายกัญชาใหม่ฮ่องกง โทษหนักแค่ไหน

มีการเสนอร่างกฎหมายให้สารซีบีดีในกัญชาผิดกฎหมายฮ่องกง ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2565 ก่อนที่เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ข้อกฎหมายที่เพิ่งมีบังคับใช้นั้น ระบุว่า

 

"ผู้ใดนำเข้า ส่งออก หรือผลิตสารซีบีดีอาจมีโทษถึงขั้นประหารชีวิต และปรับไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (20 ล้านบาท) และผู้ใดครอบครองหรือบริโภค มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (4 ล้านบาท)”


ซึ่งโทษจากการนำเข้า ส่งออก ผลิตสารซีบีดี หนักพอๆกับ “ยาเสพติดร้ายแรง” เช่น เฮโรอีน โคเคน เฟนตานิลและสารอีกกว่า 200 ชนิดที่ผิดกฎหมายในฮ่องกง

ทางการฮ่องกงเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบทุกช่องทาง แม้แต่นักท่องเที่ยวก็อาจถูกลงโทษหากครอบครอง ส่วนชาวฮ่องกงที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ รัฐบาลเตือนว่าอย่าซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้กลับเข้ามาในฮ่องกง ที่ผ่านมาทางการฮ่องกงให้เวลาภาคธุรกิจ และประชาชน 3 เดือนเพื่อกำจัดข้าวของที่เกี่ยวข้องที่มีส่วนผสมของกัญชาก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ โดยเมื่อ 29 มกราคมที่ผ่านมาพบว่ามีประชาชนทิ้งสิ่งของราว 77,400 ชิ้นในถังของรัฐบาล 

 

  • ผลกระทบต่อภาคธุรกิจในฮ่องกง

หลังกฎหมายใหม่เริ่มมีผลบังคับใช้  กลุ่มผู้ค้าจากธุรกิจหลายประเภทที่ใช้สารสกัดกัญชาในสินค้าและบริการ ก็โดนกระทบหนัก หลายร้านต้องปิดตัวลง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นนี้ เช่น  คาเฟฟาวด์ที่ประกาศตัวว่าเป็นร้านแรกในฮ่องกงที่ขายอาหารเครื่องดื่มที่มีสารซีบีดีเมื่อปี 2563 ก็ปิดตัวลงในเดือน ก.ย.2565 ผู้ค้าหลายรายต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า

“ฮ่องกงกำลังถอยหลัง”

เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ธุรกิจกัญชาถือว่าเฟื่องฟูอย่างมากในฮ่องกง สารสกัดซีบีดีถูกนำมาใช้ในภาคธุรกิจอย่างแพร่หลาย เพราะทุกคนต่างอยากเป็นผู้บุกเบิกตลาดกัญชา ซึ่งเวลานั้นถือเป็นเรื่องใหม่และน่าตื่นเต้นสำหรับชาวฮ่องกง เพราะคาดกันว่าการเติบโตของธุรกิจซีบีดีทั่วโลกจะมีมูลค่าถึง 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในปี 2571 จากมูลค่า 4.9 พันล้านดอลลาร์เมื่อปี 2564

 

  • เบื้องหลังฮ่องกง ออกเหล็กคุมกัญชา

ปี 2562 ถึงต้นปี 2565 ทางการฮ่องกงออกปฏิบัติการยึดและทดสอบผลิตภัณฑ์ซีบีดี เกือบ 120 รายการ ตามร้านอาหาร ร้านค้า ไปจนถึงโกดังสินค้า รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงฮ่องกง กล่าวว่า ผลจากปฏิบัติการดังกล่าวพบสารทีเอชซีในผลิตภัณฑ์มากกว่า 3,800 รายการ โดยไม่มีการระบุ ปริมาณสารทีเอชซีบนตัวผลิตภัณฑ์   ดังนั้น รัฐบาลจึงวางแผนที่จะควบคุมซีบีดี

คณะกรรมการดำเนินการต่อต้านยาเสพติด ซึ่งเป็นกลุ่มตัวแทนประชาชนชาวฮ่องกงทั้งจาก “งานสังคมสงเคราะห์ การศึกษา การแพทย์ และบริการชุมชน” ออกแถลงการณ์เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว สนับสนุนการแบนซีบีดีของรัฐบาล เพื่อเป้าหมายทำให้ “ฮ่องกงปลอดยาเสพติด”

อีกด้านหนึ่ง การที่ฮ่องกงประกาศให้กัญชาผิดกฎหมายถูกโยงว่า "จีนอาจเข้าแทรกแซง" เพื่อให้ฮ่องกงใช้กฎเหล็กคุมกัญชาตามจีนแผ่นดินแม่ด้วยหรือไม่  เพราะก่อนหน้านี้ จีนกำหนดให้สารซีบีดีผิดกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2564

นักสังคมสงเคราะห์มากประสบการณ์รายหนึ่งเขียนบทความตั้งคำถามในหนังสือพิมพ์ภาษาจีน “หมิงเป้า”  เมื่อเดือน พ.ย.2565  ว่า รัฐบาลมีหลักการยืนยันการเชื่อมโยงซีบีดีกับการใช้ยาเสพติด หรือแค่ทำตามจีนแผ่นดินใหญ่ หลังจากนั้นไม่นานสำนักงานความมั่นคงฮ่องกง กล่าวหาว่า ผู้เขียนบทความทำไปเพราะต้องการ “สร้างความบาดหมาง” ระหว่างฮ่องกงกับจีน

 

  •  FDA สหรัฐเตรียมทบทวนข้อกำหนดเรื่องการใช้กัญชา

ปัจจุบันยังมีข้อถกเถียงเรื่องสารสกัดซีบีดีจากกัญชาว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพ หรือมีความเสี่ยงมากกว่ากัน  ในสหรัฐอเมริกา ผลิตภัณฑ์ซีบีดี ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการควบคุมโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ซึ่งหมายความว่าผู้คนสามารถซื้อสินค้าจากชั้นวางได้

แต่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา FDA ประกาศว่า จะต้องมีการกำกับดูแลการใช้ผลิตภัณฑ์ซีบีดีในสหรัฐอเมริกาใหม่  เพราะ "ยังไม่พบหลักฐานที่เพียงพอว่าเราสามารถบริโภคสารซีบีดี ได้มากน้อยเพียงใด และนานเท่าใดก่อนที่จะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย" 

ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลโดยทีมข่าวฐานเศรษฐกิจ พบว่า ประเทศที่อนุญาตใช้กัญชาทั้งเสรีและเเบบมีเงื่อนไข มีทั้งสิ้นรวม 78 ประเทศ จาก 193 ประเทศทั่วโลกคิดเป็นสัดส่วน 40% ของประเทศทั้งหมด ซึ่งเงื่อนไขการใช้กัญชาในแต่ละประเทศมีความเข้มงวดลดหลั่นกันไป

ประเทศที่อนุญาตให้ใช้กัญชาทั้งเพื่อทางการเเพทย์และสันทนาการ ปัจจุบันมี 7 ประเทศ คือ อุรุกวัย จอร์เจีย แอฟริกาใต้ แคนาดา เม็กซิโก มอลตา และไทย

 

ที่มา : CNN, Bloomberg, Wikipedia