WEF คึกคัก ผู้นำ-CEO ระดับโลก พร้อมถกวิกฤตเงินเฟ้อ ฝ่า ศก.ถดถอย

13 ม.ค. 2566 | 11:15 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ม.ค. 2566 | 18:26 น.

เวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรั่ม (WEF) ปีนี้คึกคัก ผู้นำการเมือง-ธุรกิจตบเท้าเข้าร่วมมากเป็นประวัติการณ์ ระดมสมองถกแนวทางหลีกเลี่ยง-รับมือภาวะเศรษฐกิจถดถอย

 

ทั่วโลกจับตาการประชุม เวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรั่ม หรือ WEF ประจำปี 2566 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 16-20 ม.ค.นี้ ภายใต้หัวข้อ "Cooperation in a Fragmented World"

 

การประชุม WEF นับเป็นเวทีสำคัญระดับโลก ที่ปีนี้เป็นปีที่สองที่กลับมาจัดแบบพบหน้ากันหลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย วัตถุประสงค์ของ WEF เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนทรรศนะและระดมสมองผ่านการหารือกันเกี่ยวกับนโยบายและพัฒนาการที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของโลก โดยจะมีผู้เข้าร่วมการประชุมหลายพันคนซึ่งเป็นบุคคลระดับผู้นำทางการเมือง ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาสังคม เข้าร่วม

 

ปีนี้มีผู้นำระดับสูงทางการเมืองและภาคธุรกิจยืนยันเข้าร่วมมากเป็นประวัติการณ์ โดยผู้จัดเปิดเผยว่า จะมีประมุขของรัฐและผู้นำรัฐบาลเข้าร่วมการประชุมจำนวน 52 คน รัฐมนตรีคลัง 56 คน รัฐมนตรีการค้า 30 คน รัฐมนตรีต่างประเทศ 35 คน และผู้ว่าการธนาคารกลาง 19 คน นอกจากนี้ ยังมีผู้นำจากองค์กรระหว่างประเทศ 39 คน แจ้งเข้าร่วมเวที WEF 2023 ซึ่งรวมถึงผู้นำขององค์การสหประชาชาติ (UN) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และองค์การการค้าโลก (WTO)

 

WEF ปีนี้ มีผู้นำระดับสูงทางการเมืองและภาคธุรกิจยืนยันเข้าร่วมมากเป็นประวัติการณ์

 

ในส่วนของผู้นำภาคธุรกิจ มีการยืนยันเข้าร่วมงานจำนวน 1,500 คน ในจำนวนนี้เป็นระดับซีอีโอมากกว่า 600 คน ซึ่งปีนี้รวมถึง “ท๊อป” จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ซีอีโอบริษัท Bitkub แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล ที่จะเข้าร่วมงานในฐานะนักธุรกิจจากประเทศไทย และผู้ชำนาญการด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัล จะขึ้นแสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ "Tokenized Economies, Coming alive" ร่วมกับผู้ชำนาญการจากนานาชาติ

 

เนื้อหาหลักในการประชุม WEF ปีนี้

คาดว่าการประชุมในปี 2023 จะมีการหารือกันเกี่ยวกับแนวทางหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย และประเด็นอื่น ๆ ที่เป็นวาระโลก ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ หรือวิกฤตอาหารที่ถูกกระตุ้นรุนแรงขึ้นโดยสงครามรัสเซีย-ยูเครน และวิกฤตพลังงานท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนพลังงานในบริบทที่สหรัฐและพันธมิตรออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพื่อตอบโต้ต่อการส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครน

 

นอกจากนี้ ยังจะมีการหารือประเด็นต่อเนื่อง หลังจากที่ WEF ได้เปิดเผยรายงาน Global Risk Report เนื้อหาเกี่ยวกับผลการศึกษาสำรวจปัจจัยความเสี่ยงทางเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งมีการเผยแพร่ออกมาล่วงหน้าเมื่อวันพุธ (11 ม.ค.) ก่อนการประชุมที่เมืองดาวอส  

ผู้นำรัฐบาลและผู้นำภาคธุรกิจร่วมกันแสวงหาแนวทางรับมือภาวะเศรษฐกิจถดถอย

 

รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า วิกฤตโลกร้อนยังคงเป็นภัยคุกคามเศรษฐกิจโลกในระยะยาว แต่ “วิกฤตเงินเฟ้อ” ที่กำลังส่งผลทำให้เกิดวิกฤตค่าครองชีพท่ามกลางราคาสินค้า อาหาร และพลังงาน ที่พุ่งทะยานสูงขึ้น และยังส่งผลกระทบต่อหนี้สินของประเทศต่างๆ อย่างหนักหนาสาหัส จะกลายมาเป็นวิกฤตแทรกในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งในที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อความพยายามของนานาประเทศในการร่วมมือแก้ไขและรับมือกับปัญหาวิกฤตสภาพอากาศ หรือภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นภัยคุกคามเศรษฐกิจโลกในระยะยาวไปด้วย  

 

รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความท้าทายระยะยาวที่ใหญ่ที่สุดของเศรษฐกิจโลก แต่เป็นสิ่งที่โลกเตรียมรับมือ “น้อยที่สุด” เนื่องจากปัญหาระยะสั้นที่นำโดยวิกฤตค่าครองชีพได้เข้ามาแย่งซีนไป

 

จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านความเสี่ยง ซึ่งมีทั้งผู้นำอุตสาหกรรมและผู้กำหนดนโยบาย 1,200 คน รายงานของ WEF พบว่า ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในช่วงทศวรรษหน้าเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม แต่ความท้าทายที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันและเฉพาะหน้า เช่น วิกฤตค่าครองชีพ กำลังบีบให้ผู้นำโลกตกอยู่ในภาวะหวานอมขมกลืน ที่แม้รู้ทั้งรู้ว่าการเตรียมตัวรับมือกับปัญหาโลกร้อนถือเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง แต่การจัดการกับเงินเฟ้อและสินค้าราคาแพง ก็เป็นปัญหาที่จำเป็นจะต้องเร่งมือแก้ไขก่อนอย่างเร่งด่วน ทำให้ต้องก้มหน้ายอมรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่า การดำเนินการแก้ไขปัญหาโลกร้อนในเวลานี้ขาดการลงมือปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง

 

รายงาน Global Risk Report ที่ทาง WEF จัดทำขึ้นร่วมกับโบรกเกอร์ประกันภัยระดับโลก Marsh McLennan และ Zurich Insurance Group สรุปด้วยว่า การค้าการลงทุนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะเป็นเรื่องที่ยากลำบากสำหรับรัฐบาลนานาประเทศ ที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันทั้งทางสังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง

 

นอกจากนี้ แม้ผู้ตอบแบบสำรวจแทบทั้งหมดจะเห็นพ้องว่า ความล้มเหลวในการคลี่คลายปัญหาภาวะโลกร้อนถือเป็นภัยคุกคามที่รุนแรงอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก แต่กลับเป็นความเสี่ยงที่รัฐบาลนานาประเทศทั่วโลกมีการเตรียมพร้อมรับมือน้อยที่สุด

 

รายงานฉบับนี้ยังระบุด้วยว่า ในส่วนของความท้าทายอันดับต้นๆ ในอีก 2 ปีข้างหน้า คือวิกฤตค่าครองชีพที่เกิดจากการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด และสงครามของรัสเซียในยูเครนซึ่งทำให้ราคาอาหารและพลังงานพุ่งสูงขึ้น สร้างแรงกดดันต่อสถานะทางการเงินของบรรดาครัวเรือนทั่วโลก