เปิดรายงานเฟด เห็นสัญญาณ"ผ่อนคันเร่ง"การขึ้นดอกเบี้ยปี 66

05 ม.ค. 2566 | 09:58 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ม.ค. 2566 | 18:02 น.

เฟดส่งสัญญาณ “ผ่อนคันเร่ง” การขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ (2566) หวั่นจะส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวมากเกินไป

 

ในการเปิดเผยรายงานการประชุมซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 13-14 ธ.ค. 2565 ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่า กรรมการเฟดมีความมุ่งมั่นที่จะ ต่อสู้กับเงินเฟ้อ และคาดว่าจะเดินหน้า ปรับขึ้นดอกเบี้ย ต่อไปจนกว่าข้อมูลที่เฟดได้รับมานั้น มีหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอว่า เงินเฟ้อกำลังกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% แต่ก็ยอมรับว่า อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง จึงจะไปถึงจุดนั้นได้

 

อย่างไรก็ตาม รายงานของเฟดระบุว่า กรรมการทุกคนมีความเห็นตรงกันว่า แม้จะยังปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ แต่ เฟดก็ควรจะ “ชะลออัตราการปรับขึ้นดอกเบี้ย” โดยจะดำเนินการในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เพื่อลดความเสี่ยงที่จะมีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ

นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด

 

การขึ้นดอกเบี้ยปี 65 ช่วยชะลอเงินเฟ้อ

รายงานการประชุมดังกล่าวซึ่งเพิ่งมีการเผยแพร่เมื่อวันพุธ (4 ม.ค.66) ระบุว่า กรรมการเฟดยังคงมุ่งมั่นที่จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นร้อนแรงมากเกินคาดในช่วงที่ผ่านมา และแสดงความกังวลว่าตลาดการเงินจะมีความเข้าใจที่ผิดพลาดเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายของเฟดในการต่อสู้กับเงินเฟ้อ

 

กรรมการเฟดตระหนักว่า ในปี 2565 เฟดมีความคืบหน้าในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากเพียงพอในการฉุดเงินเฟ้อให้อ่อนแรงลง (โดยเฟดมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 7 ครั้ง) และด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้เฟดเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการสร้างสมดุลระหว่างการต่อสู้กับเงินเฟ้อและการควบคุมความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงมากเกินไป รวมทั้งความเป็นไปได้ที่ว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะเพิ่มภาระให้กับภาคส่วนที่มีความอ่อนไหว

 

ทั้งนี้ เดือนมิ.ย. 2565 ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อของสหรัฐ พุ่งขึ้น 9.1% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2564 นับเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี

 

ต่อมาในเดือนก.ย.65 เงินเฟ้อสหรัฐอยู่ที่ระดับ 8.2% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 64 (YoY) ส่วนเดือนพ.ย.65 เงินเฟ้อสหรัฐอยู่ที่ระดับ 7.1%  ซึ่งน้อยกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ นับเป็นสัญญาณล่าสุดที่บ่งชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐเริ่มคลี่คลายลงแล้ว

 

แต่ถึงกระนั้น เงินเฟ้อยังคงเป็นปัจจัยสร้างความกังวลสูงสุดของเฟด หลังจากที่ ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งเป็นอีกเกณฑ์หนึ่งในการชี้วัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ พุ่งแตะระดับ 5.5% ในเดือนพ.ย.2565 นับว่าสูงกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับเป้าหมายเงินเฟ้อของเฟดที่ระดับ 2%

 

ส่วนหนึ่งของรายงานการประชุมดังกล่าวระบุ กรรมการเฟดส่วนใหญ่เน้นย้ำว่า

  • ในช่วงเวลาที่เฟดดำเนินนโยบายการเงินที่คุมเข้มมากขึ้นนั้น เฟดก็จำเป็นต้องรักษาความยืดหยุ่นเอาไว้เป็นทางเลือกด้วย
  • กรรมการเฟดยืนยันความมุ่งมั่นในภารกิจการฉุดเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%
  • พร้อมกับย้ำถึงความสำคัญของการ “สื่อสารกับตลาด” ให้ชัดเจนมากขึ้นว่า การชะลออัตราการปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้น ไม่ได้บ่งชี้ว่าคณะกรรมการเฟดจะผ่อนปรนเป้าหมายการสร้างเสถียรภาพของเงินเฟ้อ

 

อะไรเกิดขึ้นบ้างในการประชุมเฟดครั้งสุดท้ายของปี 65

ในการประชุมเมื่อวันที่ 13-14 ธ.ค.2565 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของเฟดในปีที่ผ่านมา คณะกรรมการเฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% สู่ระดับ 4.25-4.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 7 ในปี 2565

 

ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดทั้ง 7 ครั้งในปีที่ผ่านมา มีรายละเอียดดังนี้

  • เป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จำนวน 1 ครั้ง
  • ปรับขึ้นในอัตรา 0.50% จำนวน 2 ครั้ง
  • และปรับขึ้น 0.75% จำนวน 4 ครั้ง

ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 4.25% ในปี 2565

 

คาดการณ์ทิศทางดอกเบี้ยในปี 2566

ส่วนคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ในปี 2566 นั้น เจ้าหน้าที่เฟดคาดว่า

  • จะยังคงมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปีนี้ และจะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2567
  • ทั้งนี้ คาดว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสู่ระดับ 5.1% ในปีนี้ ก่อนที่จะสิ้นสุดวัฏจักรการปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยระดับดังกล่าวจะเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2550
  • และหลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 5.1% ในปี 2566 หรือเทียบเท่ากับช่วงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ย 5.00-5.25% เฟดก็จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวเอาไว้ระยะเวลาหนึ่ง เพื่อจับตาดูผลกระทบของการคุมเข้มนโยบายการเงินที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐก่อนจะดำเนินการในขั้นต่อไป