จับสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย ปี 66 หนัก หลายประเทศผจญ Recession

06 ม.ค. 2566 | 12:22 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ม.ค. 2566 | 20:03 น.
654

เตือนสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย ปี 2566 หนักสุด เช็ครายละเอียดข้อมูลหลายประเทศมีความเสี่ยงเตรียมรับมือ Recession รุนแรงกว่าปีก่อน

ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในปี 2566 นับเป็นหนึ่งประเด็นน่ากังวล และส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในหลาย ๆ ประเทศ ล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ออกมาเตือนว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะเผชิญภาวะถดถอยรุนแรงกว่าปีก่อน

 

ทั้งนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีน ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นลำดับต้น ๆ ของโลกกำลังชะลอตัวลงพร้อม ๆ กัน จากปัจจัยฉุดรั้งหลายกรณีทั้งสงครามในยูเครน ราคาสินค้าและอาหารปรับตัวสูง อัตราเงินเฟ้อสูง และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีน

 

IMF ยังเตือนจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกว่า จีนจะเผชิญกับการเริ่มต้นที่ยากลำบากในปี 2566 โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2566 ของจีน อาจเท่ากับหรือต่ำกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี 

 

ขณะที่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีนที่อาจลุกลามไปทั่วโลกอีกครั้งในห้วงต้นปี 2566 จากการที่จีนยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ โดยเปิดประเทศและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเต็มรูปแบบ อาจซ้ำเติมและฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับภูมิภาคและโลก

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

ภาพประกอบข่าวภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)

สอดคล้องกับความคิดเห็นของ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ประเมินว่า เทรนด์สำคัญทางเศรษฐกิจปี 2566 หนึ่งในนั้นคือ ภาวะเศรษฐกิจซบเซาหรือถดถอย จะมาเยือนในหลายประเทศ และเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets) บางส่วน ประสบปัญหา มีวิกฤต

 

เช่นเดียวกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินเศรษฐกิจโลกในปี 2566 มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2565 ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยูโรโซน สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย สอดคล้องกับการดำเนินนโยบายการเงินที่มีความเข้มงวดมากขึ้น 

 

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตพลังงานที่ยังคงยืดเยื้อจากการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรและการลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย และเศรษฐกิจกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และกลุ่มประเทศอาเซียนมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก

 

ขณะที่บางประเทศมีความเสี่ยงจากปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะประเทศที่มีสัดส่วนหนี้สินต่างประเทศสูง ส่วนเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นอย่างช้า ๆ ตามแนวโน้มการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และมาตรการจำกัดการเดินทางท่ามกลางความเสี่ยงและข้อจำกัดจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์

 

ภาพประกอบข่าวภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)

ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในกรณีฐานตั้งอยู่บนเงื่อนไขและสมมติฐานที่สำคัญ ดังนี้ 

  1. การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางแต่ละประเทศไม่นำไปสู่การถดถอยทางเศรษฐกิจที่รุนแรงและยาวนาน และไม่ก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลกจนทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศรายได้น้อยที่มีปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจจนส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในภาพรวม 
  2. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ และจีน รวมถึงความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ไม่ขยายไปสู่การใช้กำลังทางการทหารในพื้นที่อื่น ๆ ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง รวมถึงการแบ่งขั้วทางอำนาจทางการเมืองโลกไม่นำไปสู่มาตรการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงจนส่งผลต่อปริมาณการค้าโลกถดถอยอย่างรุนแรง 
  3. ตลาดพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์สามารถปรับตัวได้ดีขึ้นตามลำดับ และไม่มีการปรับลดการนำเข้าพลังงานโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติอย่างฉับพลันจนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านพลังงานในภูมิภาคยุโรป ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะวิกฤตการขาดแคลนพลังงานและอาหารจนนำไปสู่การเพิ่มขึ้นที่รุนแรงของระดับราคาพลังงานและสินค้าที่สำคัญ 
  4. การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ไม่นำไปสู่การบังคับใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่เข้มงวดมากขึ้นอีกครั้งจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

 

อย่างไรก็ตามภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว ในกรณีฐานคาดว่าเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในปี 2566 มีแนวโน้มที่จะขยายตัว 2.6% และ 2% ชะลอลงจาก 3.1% และ 4% ในปี 2565 ตามลำดับ