CEO OUTLOOK 2023 รับศึกเศรษฐกิจโลกขาลง

05 ม.ค. 2566 | 16:56 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ม.ค. 2566 | 22:19 น.
1.0 k

10 ซีอีโอ ติวเข้มทัพธุรกิจไทยสู้ศึกปี 66 บิ๊กสภาอุตฯแนะตุนเงินสำรองรับมือภาวะฉุกเฉิน หอการค้าฯจี้ปรับตัวรุก-รับเร็ว ลงทุนตลาดใหม่ อสังหาฯ ค้าปลีก ลุ้นจีนคัมแบ็ก เคลื่อนธุรกิจสู้ ศก.โลกขาลง

ปี 2566 เป็นอีกหนึ่งปีที่ภาคธุรกิจของไทยยังต้องเผชิญกับความผันผวน จากเกือบทุกสำนักพยากรณ์ทั่วโลกต่างวิเคราะห์ และฟันธงไปในทิศทางเดียวกันว่า โลกจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และในเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น สหภาพยุโรป (อียู) อังกฤษ และสหรัฐอเมริกาจะเผชิญกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ(Recession) จากอัตราเงินเฟ้อ ราคาอาหาร และพลังงานยังอยู่ในระดับสูง กระทบกำลังซื้อของประชาชนลดลง ขณะที่ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อกดเงินเฟ้อให้ตํ่าลง ซึ่งจะส่งผลให้การค้าของไทยกับประเทศข้างต้นมีแนวโน้มชะลอ สัญญาณจากการส่งออกของไทยในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2565 ติดลบ 2 เดือนซ้อน

 

ขณะที่มีปัจจัยบวกจากประเทศจีน ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับอับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ ได้ประกาศเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 ซึ่งจะส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุน ระหว่างไทยและจีนขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อน ขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อไร้จุดจบ ยังเป็นแรงกดดันราคาอาหารและพลังงานของโลกยังผันผวน อย่างไรก็ดีจากที่โลกยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่มาก จะส่งผลต่อเนื่องถึงภาคธุรกิจของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะตั้งรับหรือรุกอย่างไรนั้น ซีอีโอชั้นนำของประเทศได้ชี้แนะไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง

 

CEO OUTLOOK 2023 รับศึกเศรษฐกิจโลกขาลง

 

  • ตุนเงินสำรองรับมือฉุกเฉิน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ข้อแนะนำภาคธุรกิจในการรับมือกับเศรษฐกิจในประเทศ และเศรษฐกิจโลกขาลง ขอมองเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 แนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัว หรือเศรษฐกิจที่มีความผันผวนและทำให้ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบ ได้แก่

 

1.การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ลดค่าใช้จ่าย (LEAN) และบริหารสต๊อกสินค้า เพื่อลดต้นทุนการผลิต 2.บริหารความเสี่ยงทางการเงิน และมีการสำรองเงินทุนใช้ในยามฉุกเฉิน โดยจำเป็นต้องเตรียมเงินทุนหมุนเวียน ให้เหมาะสมกับแต่ละประเภทธุรกิจ เพื่อความคล่องตัวของธุรกิจ 3.นำเทคโนโลยีและดิจิทัลมาช่วยในการดำเนินธุรกิจ เช่น การใช้ E-Commerce การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยดำเนินธุรกิจมากขึ้น การนำข้อมูล Big data มาวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ตอบสนองความต้องการของตลาด

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 

4.การให้ความสำคัญกับการรักษาห่วงโซ่อุปทานในการผลิต หรือ Supply Chain Security โดยมีการกระจายแหล่งวัตถุดิบเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดภาวะ Supply Chain Shortage และ 5.ยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน Upskill /Reskill เพื่อเป็นการเร่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สามารถแข่งขันได้ต่อไป

 

ส่วนที่ 2 เป็นการปรับตัวเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจ หรือสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรม ได้แก่ 1.การลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต Next-GEN Industries ปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมเดิมไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตภายใต้ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve 2.การพัฒนาธุรกิจตามนโยบาย BCG Model โดยอาศัยจุดแข็งด้านความหลากหลายทางชีวภาพในการต่อยอดทางธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม

 

3.การปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยปรับปรุงกระบวนการผลิตควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอน ไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต การซื้อขายคาร์บอนเครดิต รวมทั้งมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันและโอกาสของอุตสาหกรรมในอนาคต

 

นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

 

  • มองหาโอกาสลงทุนตลาดใหม่

 

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากเศรษฐกิจโลกขาลง หลังจากนี้รูปแบบการค้าจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น ผู้ประกอบการต้องปรับรูปแบบธุรกิจของตนเองว่าเหมาะสมและสอดคล้องกับการแข่งขันในปัจจุบันอยู่หรือไม่ รวมถึงการปรับกลยุทธ์ภายในองค์กรให้มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับสถานการณ์ มีการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ในการบริหารจัดการ เพื่อให้สามารถแข่งขันและปรับตัวเข้ากับโลกปัจจุบัน

 

นอกจากนี้ การมองหาโอกาสด้านการค้า การลงทุนในตลาดใหม่ ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ยังมีความจำเป็นเพื่อสร้างการเติบโต ส่วนนี้จะช่วยกระจายความเสี่ยงจากประเทศคู่ค้าเดิมที่ต่างมีเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ตลอดจนควรเพิ่มผลิตภาพ ผลิตสินค้าที่ตรงตามความต้องการตลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุน และการใช้เครื่องมือประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน

 

อีกประการคือการเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งกลุ่ม SMEs มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนให้สามารถแข่งขันได้ ภาคเอกชนในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ผนึกกำลังกับ TMA สร้าง Pilot Project นำร่องในปี 2566 เพื่อยกระดับ SMEs ไทย โดยได้จัดตั้ง สถาบัน Competitiveness ภายใต้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวให้เป็นต้นแบบที่สามารถขยายผลใน SMEs กลุ่มต่าง ๆ ได้

 

นายวิศิษฐ์  ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป

 

  • เสนอราคาสินค้ารายไตรมาส

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า คำแนะนำภาคธุรกิจ เฉพาะอย่างยิ่งผู้ส่งออกในการรับมือเศรษฐกิจโลกถดถอย ต้นทุนการผลิตพุ่ง มี 5 ข้อคือ 1.ต้องรับคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) อย่างเป็นทางการก่อนทำการผลิตจริง 2.ควรวางแผนการผลิต ตามสถานการณ์ทางการค้าในยุคการค้าที่มีความผันผวน ควรผลิตตามคำสั่งซื้อและทำการผลิตสินค้าสต๊อกตามสมควร ไม่มากจนเกินไป

 

3.จากค่าเงินบาท ณ ปัจจุบันที่ทิศทางยังผันผวน ควรเสนอราคาสินค้ารายไตรมาส เพื่อป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน โดยตัวอย่างวิธีบริหารจัดการกับความเสี่ยงด้านความผันผวนทางการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน เช่น การซื้อหรือขายสกุลต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract), การซื้อสิทธิ์ที่จะซื้อหรือขายเงินสกุลต่างประเทศล่วงหน้า และการฝากเงินตราต่างประเทศไว้ในประเทศไทย (FCD) 4.ให้ความสำคัญกับตลาดที่มีกำลังซื้อ เช่น กลุ่มตลาดตะวันออกกลาง และ 5.จำเป็นต้องมองในวงกว้างและความยืดหยุ่น มีการบริหารจัดการเรื่องการเงินและต้นทุนการผลิต รวมถึงประสิทธิภาพการผลิตให้พร้อมรับมือกับความเสี่ยงอย่างสมํ่าเสมอ

 

ดร.เศรษฐพุฒิ  สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

 

  • ธปท.เร่งหาจุดสมดุลปรับนโยบาย

 

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย  (ธปท.) กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องทั่วถึงขึ้น โดยประมาณการเติบโตไว้ที่ 3.7% จากแรงส่งหลักของการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มเป็น 22 ล้านคนและรายได้แรงงานปรับดีขึ้น

 

สำหรับเงินเฟ้อทั่วไปได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในไตรมาส 3 ปี 2565 ที่ขยายตัวเฉลี่ยราว 7% และปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5.55% ในเดือนพฤศจิกายน และคาดว่า จะลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังปี 2566 ที่ระดับ 3.0% แต่ยังต้องติดตามการส่งผ่านต้นทุนและการปรับราคาพลังงานในประเทศ

 

ด้านการดำเนินนโยบายการเงินของธปท.ในปี 2566 นั้น ต้องหาจุดสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ , เสถียรภาพของราคาหรือเงินเฟ้อและเสถียรภาพระบบการเงิน หากสมดุลความเสี่ยงเปลี่ยนไปพร้อมปรับขนาดหรือเงื่อนเวลาการปรับนโยบายให้เหมาะสม

 

อย่างไรก็ตาม ธปท.จะให้ความสำคัญและเร่งขับเคลื่อนให้เห็นผลมี 4 เรื่องหลักคือ 1.การปรับนโยบายหรือมาตรการทางการเงินกลับสู่ภาวะปกติ และถอนมาตรการทางการเงินที่มีผลเป็นวงกว้าง 2. การแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน 3. การยกระดับภาคการเงิน เพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เรื่อง Green 4. การวางฐานรากการเงินดิจิทัลนั้น ธปท. จะออกเกณฑ์โดยยึดหลักสมดุลระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรมและการบริหารความเสี่ยงใหม่ๆที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี

 

นายมีศักดิ์  ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย

 

  • อสังหาฯ เน้นลดแลกแจกแถมต่อ

 

ด้าน นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า จากของขวัญปีใหม่จากรัฐบาล คือดอกเบี้ยปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง รวมถึง ธปท.ไม่ต่อมาตรการ LTV ( อัตราส่วนการให้สินเชื่อโดยเทียบกับมูลค่าหลักประกัน ) โดยวัดจากอสังหาฯฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งอาจเป็นภาพลวงตา

 

สำหรับภาพรวมตลาดอสังหา ริมทรัพย์ปี 2566 มองว่า เข้าสู่ปีที่ยากลำบากรอบด้าน ทั้งความเปราะบางของกำลังซื้อในประเทศ เห็นได้จากการปฏิเสธสินเชื่อของสถาบันการเงินกว่า 40% ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากหนี้ครัวเรือนทำให้การเติบโตของอสังหาฯเป็นไปได้ช้า แต่ยังมีปัจจัยบวกหากการยกเลิก ผ่อนคลาย LTV พบว่ากำลังซื้อไม่กลับมา ธปท.อาจพิจารณาผ่อนคลายต่อได้

 

เอกชนต้องการเครื่องมือจากรัฐเพื่อช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาฯ ต่อเนื่องจากปี 2565 เพราะของขวัญปีใหม่ที่ได้รับจากรัฐบาล ทั้งการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ จาก 2% เหลือ 1% แต่เพิ่มขึ้น 100 เท่า เมื่อเทียบกับมาตรการลดค่าโอนฯปี 2565 อยู่ที่ 0.01% ส่วนค่าจดจำนองยังลดหย่อนเท่าเดิมที่ 0.01 % โดยสรุปภาพรวมต่อการกระตุ้นอสังหาฯไม่มีปัจจัยเป็นบวก คงมีแต่ผลกระทบ ที่ผู้ประกอบการต้องใช้กลยุทธ์เอาตัวรอดลดแลกแจกแถมต่อไป

 

นอกจากนี้ต้องเปิดโครงการให้ตรงความต้องการ เร่งระบายสต๊อกในมือให้มากที่สุด ไม่ลดปริมาณการเปิดตัวโครงการใหม่ลง ที่สำคัญต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ต่าง ๆที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝันได้ ส่วนปัจจัยบวกคือกำลังซื้อจากต่างชาติ โดยเฉพาะจีนที่เริ่มเดินทางออกนอกประเทศ จะช่วยเรื่องภาคท่องเที่ยว รวมถึงการกลับมาโอนฯ อสังหาฯในไทยและซื้อต่อเนื่อง

 

นายญนน์  โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น

 

  • บริการ-ค้าปลีกชงรัฐฟื้นเศรษฐกิจ

 

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรก จะเป็นการฟื้นตัวอย่างไม่ทั่วถึง จากการเติบโตเชิงบวกของภาคท่องเที่ยว ที่จะสร้างเม็ดเงินมหาศาลให้กับระบบเศรษฐกิจไทยให้โตต่อเนื่อง แต่การท่องเที่ยวจะเติบโตได้ รัฐบาลต้องช่วยยกระดับภาคบริการและค้าปลีกของไทย เพราะส่วนนี้ถือเป็น Back Bones ของการท่องเที่ยว เนื่องจากมี SMEs ในระบบกว่า 2.4 ล้านราย และมีการสร้างการจ้างงานกว่า 13 ล้านคน

 

เพราะฉะนั้นหากภาคบริการและค้าปลีกแข็งแรง เครื่องยนต์ตัวเดียวของประเทศไทยคือภาคท่องเที่ยวก็จะแข็งแรงตามไปด้วย และจะส่งต่อโมเมนตัมที่ดีไปยังเศรษฐกิจโดยรวมของไทยในครึ่งปีหลัง ทั้งนี้เซ็นทรัล รีเทล มองว่าปี 2566 จะเป็นปีแห่งโอกาสที่มาพร้อมกับความไม่แน่นอน ดังนั้นต้องถือโอกาสนี้ในการต่อยอดการขยายธุรกิจ และมองหาโอกาสในการสร้างการเติบโตในธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในทุก Segment ต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเร่งด่วน มี 4 เรื่อง ได้แก่ 1. การเร่งฟื้นกำลังซื้อ สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนไทยและต่างชาติ 2. ขอให้รัฐบาลช่วยยกระดับและออกมาตรการกระตุ้นภาคบริการและค้าปลีกของไทย ให้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

 

3. ขอให้รัฐบาลใหม่ยังคงความต่อเนื่องและสานต่อโครงการต่าง ๆ ที่ดีอยู่แล้วให้เกิดขึ้นต่อไป 4. ขอให้ภาครัฐพิจารณาสิทธิพิเศษทางด้านภาษีสำหรับภาคเอกชน ที่ทำเรื่อง Green Transition เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระต้นทุนที่สูง และเอกชนสามารถลงทุนเพิ่มในการพัฒนา BCG ต่อไป

 

นายอัศวิน  เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ และ บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์

 

  • บิ๊กซีจี้รัฐกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง

 

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2566 ตลาดค้าปลีกน่าจะเติบโตต่อเนื่องจากช่วงเทศกาล คริสต์มาส ปีใหม่ และตรุษจีนที่ปีนี้มาเร็วขึ้น ประกอบกับมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐ ช้อปดีมีคืน น่าจะช่วยทำให้ตลาดเติบโตได้ต่อไป

 

รวมถึงจากการที่จีน จะเปิดประเทศในวันที่ 8 ม.ค. 66 นี้จะส่งผลบวกต่อการท่องเที่ยวไทย จากก่อนหน้าหนี้นักท่องเที่ยวจีนคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติไทยทั้งหมด ในส่วนของบิ๊กซี จะได้รับผลบวกค่อนข้างชัดเจน ซึ่งจะมาเสริมนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินเดีย ซึ่งปัจจุบันยอดขายของสาขาสำหรับนักท่องท่องฟื้นตัวกว่า 80% หากมีนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มเข้ามาอีกคาดว่ายอดขายน่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

 “มาตรการภาครัฐต่าง ๆในการช่วยเพิ่มกำลังซื้อ ควรยังคงมีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป สำหรับห้างค้าปลีก ยังคงได้รับผลกระทบอย่างมากจากค่าพลังงาน โดยเฉพาะค่าไฟที่ปรับขึ้นมาก จึงอยากให้ภาครัฐพิจารณาเรื่องนี้เป็นพิเศษ”

 

นางศุภจี  สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดุสิตธานี

 

  • ดุสิตธานีชง 5 ข้อเที่ยวยั่งยืน

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้คนกลับมาใช้ชีวิตปกติและนักท่องเที่ยวกลับมาเดินทางอีกครั้ง แต่รูปแบบการเดินทางอาจจะเปลี่ยนไปในลักษณะของการเที่ยวแบบพักนานมากขึ้น (long stay) เพื่อให้การเดินทางคุ้มค่า เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงขึ้น

 

ในส่วนของปัจจัยลบที่อาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจโดยตรง คือปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมบริการ ปัญหาต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นทั้งค่าไฟฟ้า พลังงาน และเรื่องสุขอนามัยและความปลอดภัย และปัญหาจากการแข่งขันในด้านราคา เพื่อดึงดูดลูกค้าให้กลับเข้ามา ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของธุรกิจท่องเที่ยวทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพของนักท่องเที่ยวในระยะยาว

 

ทั้งนี้สิ่งที่ควรส่งเสริมเพิ่มเติมในภาวะที่อุตสาหกรรมต้องเปลี่ยนแปลงและปรับตัว ควรจะครอบคลุมในเรื่องต่าง ๆ เช่น

Less is more : ทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวไทย “ทำน้อยได้แต่มาก” (Less is more) เน้นการท่องเที่ยวที่เป็นอัตลักษณ์แบบไทยที่เรียบง่าย แต่สัมผัสได้ถึงความลุ่มลึกของเสน่ห์แห่งการท่องเที่ยว

 

Quality VS Quantity : ต้องสร้างสรรค์การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ควบคู่ไปกับปริมาณนักท่องเที่ยว  ซึ่งจะเป็นการยกระดับการท่องเที่ยวไทยอย่างมีนัยสำคัญ

 

STORY come first : ในหลายๆ ประเทศใช้ “เรื่องราว” ที่เกิดขึ้นในชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวเล่าเรื่อง และดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว เป็นโจทย์ที่เราต้องคิดว่า STORY come first จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

Sustainability is a MUST and it comes with high investment : การสร้างความยั่งยืนเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญ และเป็นโจทย์ที่เราต้องคิด เพื่อเดินหน้าสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างแท้จริง

 

Travel with PURPOSE : ต้องสร้างความหมายให้กับทุกการเดินทางของนักท่องเที่ยวและผู้คนทั่วโลก ซึ่งหมายรวมถึงสถานที่ท่องเที่ยว การบริการ จะต้องตอบโจทย์ความต้องการหรือเป้าหมายในการเดินทางของผู้คนได้อย่างน่าประทับใจ เป็นต้น

 

นายระเฑียร  ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บัตรกรุงไทย หรือ "เคทีซี"

 

  • จีนคัมแบ็ก-เลือกตั้งส่งผลดี

 

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ "เคทีซี" ระบุว่า ส่วนตัวมองว่าประเทศไทยวางกลยุทธ์ไว้ดีมาก โดยไทยเป็นมิตรกับทุกประเทศ เศรษฐกิจไทยมีโอกาสจะเติบโตต่อเนื่อง และปีนี้จะมีการเลือกตั้งจะเป็นปัจจัยช่วยทำให้เกิดการกระจายเงินในระบบ

 

“ไทยวางกลยุทธ์ปี 2566 ไว้ดีมาก คือ เรารู้แล้วว่าปีหน้าเศรษฐกิจสหรัฐฯและยุโรปจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ส่วนจีนประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจ(จีดีพี) จะขยายตัวได้กว่า 3% แต่ส่วนตัวคิดว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตมากกว่าที่คาดแนวโน้มเศรษฐกิจจีนจะเติบโตหลังจากเปิดประเทศ ส่วนหนึ่งเกิดจากอึดอั้นมานานม ต้องเที่ยวล้างแค้น ต้องกินล้างแค้น ซึ่งทุกอย่างเป็นธรรมชาติของมนุษย์”

 

นายวิสิทธิ์  พี่งพรสวรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีไอเอ็มบีไทย ออโต้ จำกัด และประธานสมาคมเช่าซื้อไทย

 

  • เช่าซื้อรถเล็งสินเชื่อใหม่ 2 หมื่นล้าน

 

นายวิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ จำกัด ในฐานะประธานสมาคมเช่าซื้อไทย (THPA) ระบุว่า ปี2566 แนวโน้มภาพรวมธุรกิจเช่าซื้อยังขยายตัวได้โดยคาดว่ายอดขายรถยนต์ในระบบจะอยู่ที่ประมาณ 8.8 แสนคันซึ่งเติบโตประมาณ 10% จากสิ้นปี 2565 อยู่ที่ 8 แสนคัน ในแง่ของภาพรวมสินเชื่อเช่าซื้อไม่ว่ารถเก่าหรือรถใหม่เติบโตได้ 10% ขึ้นไป

 

ปัจจัยบวกมาจากเศรษฐกิจฟื้นตัวในแง่ของโควิดที่ผ่านคลายลง ประกอบกับคนกลับเข้ามาทำงานและรถยนต์ยังเป็นปัจจัยที่ 5 ส่วนปัจจัยลบยังเป็นห่วงกำลังซื้อซึ่งอาจจะส่งผลต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในส่วนของการดำเนินธุรกิจซีไอเอ็มบีไทยตั้งเป้าสินเชื่อใหม่ 2 หมื่นล้านบาทคิดเป็นการเติบโตประมาณ  20% จากปี 2565 พอร์ตสินเชื่อเช่าซื้ออยู่ที่  32,000 ล้านบาท ส่วนเอ็นพีแอลตํ่ากว่า 2% แม้จะมีความเป็นห่วงเรื่องเอ็นพีแอลอาจจะสูงขึ้นแต่คงจะควบคุมได้

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3850 วันที่ 5 – 7 มกราคม พ.ศ. 2566