เศรษฐกิจโลกปี 66 จ่อทรุดตัวหนักสุดรอบ 40 ปี

04 ม.ค. 2566 | 11:12 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ม.ค. 2566 | 19:15 น.
772

นักวิเคราะห์คาดหมายเศรษฐกิจโลกปีนี้ (2566) ทรุดตัวรุนแรง โดยบาร์เคลย์ แคปิตอล อิงค์ ระบุว่า ปี 2566 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกทรุดตัวแรงที่สุดในรอบ 4 ทศวรรษ

 

ในการเปิดศักราชใหม่ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ได้ทำการรวบรวมความคิดเห็นจากกองทัพ นักกลยุทธ์ของวอลล์สตรีท กว่า 500 ราย เพื่อประเมิน ทิศทางการลงทุนในอนาคต ผลการสำรวจพบว่า แทบไม่มีคาดการณ์ในเชิงบวก เท่ากับว่านักลงทุนกำลังเผชิญความเสี่ยงระลอกใหม่ หลังจากเพิ่งผ่านพ้น สถานการณ์ลงทุน ที่ย่ำแย่มาในปี 2565

 

และต่อไปนี้เป็น ไฮไลท์คาดการณ์เศรษฐกิจ บางส่วนที่บลูมเบิร์กนำเสนอ

  • บาร์เคลย์ แคปิตอล อิงค์ ระบุว่า ปี 2566 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกทรุดตัวรุนแรงที่สุดในรอบ 4 ทศวรรษ
  • บริษัทเน็ด เดวิส รีเสิร์ช อิงค์ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกมีโอกาสเผชิญกับการชะลอตัวลงอย่างรุนแรงถึง 65%
  • ฟิเดลลิตี้ อินเตอร์เนชันแนลมองว่า เศรษฐกิจโลกจะทรุดตัวลงแบบหนักหน่วงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
  • ดาริโอ เพอร์กิน นักวิเคราะห์จากทีเอส ลอมบาร์ด ระบุ เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอน ส่วนใหญ่มองว่า เศรษฐกิจปีนี้แทบจะไม่มีการเติบโตหรืออาจไม่เติบโตเลย และในทางกลับกันอาจจะถดถอยลงเล็กน้อย เงินเฟ้อยังคงอยู่ และนโยบายควบคุมทางการเงินก็จะเข้มงวดมากขึ้น กินเวลายาวนานมากขึ้น
  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยนางคริสตาลินา กอร์เกียวา กรรมการผู้จัดการกองทุน คาดการณ์ว่า ในปีนี้ อย่างน้อย 1 ใน 3 ของประเทศในโลก จะพบกับภาวะเศรษฐกิจหดตัว

 

เศรษฐกิจสหรัฐ

ในปีนี้ คาดการณ์ว่าสหรัฐจะเผชิญกับเศรษฐกิจถดถอย โดยการสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์โดยบลูมเบิร์กพบว่า 65% เห็นว่ามีโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ ส่วนสูตรวิเคราะห์ของ  Bloomberg Economics ชี้ความเสี่ยงของเศรษฐกิจถดถอยจะเริ่มเห็นในเดือนกันยายน และหากนำปัจจัยอื่นๆมาคำนวณร่วมด้วย โอกาสความเสี่ยงก็ยังคงสูงอยู่ที่ระดับ 80%

 

นักวิเคราะห์มองว่า เป็นเรื่องยากที่สหรัฐจะหลีกเลี่ยงเศรษฐกิจที่มีการเติบโตน้อยลง เมื่อพิจารณาจากเงินเฟ้อที่ขยายตัวรวดเร็วที่สุดในรอบ2ชั่วอายุคน และอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลาง (เฟด) ปรับสูงขึ้น และคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์นี้

 

เป็นที่คาดหมายว่าเฟดจะยังเดินหน้าคุมเข้มนโยบายการเงินเชิงรุกที่สุดในรอบหลายทศวรรษ นักวิเคราะห์ต่างคิดเห็นตรงกันว่า ประเทศที่อยู่ในทั้งสองฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย แม้จะเป็นการถดถอยเพียงเล็กน้อยก็ตาม นอกจากนี้ ยังยากที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้นโยบายการเงินเชิงผ่อนคลาย แม้แต่ในกรณีที่เงินเฟ้อแตะจุดสูงสุดไปแล้วก็ตาม

 

มุมมองในเชิงบวกยังคงมีอยู่

อย่างไรก็ตาม โกลด์แมน แซคส์ เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค และยูบีเอส แอสแซท แมเนจเมนท์ ยังคงมีมุมมองเชิงบวก โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะรอดพ้นจากปัญหาได้ ซึ่งแตกต่างจากคาดการณ์ส่วนใหญ่ ทั้งนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อเริ่มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ซึ่งเป็นสัญญาณว่านักลงทุนจะทำกำไรก้อนใหญ่ได้หากลงทุนอย่างถูกต้อง

 

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าตลาดหุ้นสหรัฐจะเผชิญภาวะผันผวน โดยดอยซ์แบงก์ เอจีมองว่าดัชนี S&P500 จะปรับตัวขึ้นแตะระดับ 4,500 จุดในช่วงครึ่งปีแรก แต่จะทรุดตัวลง 25% ในไตรมาส 3/2566 หลังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจขาลง แต่จะฟื้นตัวกลับมาแตะระดับ 4,500 จุดอีกครั้งภายในช่วงสิ้นปี 2566 จากแรงกระตุ้นของนักลงทุน

 

นักวิเคราะห์ยังระบุด้วยว่า เงินเย็น (easy money) มีแนวโน้มที่จะแช่อยู่ในตราสารหนี้แบบระยะยาว หลังสินทรัพย์ชนิดดังกล่าวเผชิญภาวะสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดในปีที่แล้ว (2565) โดยยูบีเอส กรุ๊ป เอจีคาดการณ์ว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของสหรัฐจะลดลงแตะระดับต่ำสุดที่ 2.65% ภายในสิ้นปีนี้ (2566) จากความสนใจซื้อพันธบัตรรัฐบาล และอุปสงค์สินทรัพย์ปลอดภัยระลอกใหม่

 

ข้อมูลอ้างอิง

The Most-Anticipated Downturn Ever