แบงค์แมน-ฟรีด จากมหาเศรษฐีคริปโต สู่ผู้ต้องหาคดี FTX

13 ธ.ค. 2565 | 14:53 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ธ.ค. 2565 | 22:09 น.
714

ย้อนรอย เส้นทาง แบงค์แมน-ฟรีด จากมหาเศรษฐีคริปโต ร่ำรวยติดอันดับ2 ของโลก ผู้ก่อตั้ง FTX สู่การเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา

นับเป็นข่าวสะเทือนวงการ คริปโตฯอีกครั้ง เมื่อ นายแซม แบงค์แมน-ฟรีด (Sam Bankman-Fried) หรือที่รู้จักกันในวงการคริปโตในนาม SBF ผู้ก่อตั้ง เอฟทีเอ็กซ์ (FTX) มหาเศรษฐีคริปโตโลก ที่นิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) เคยจัดอันดับให้เขา รวยที่สุดในอันดับ 2 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน ณ ขณะนั้น ที่ 24,000 ล้านดอลลาร์ สุดท้ายถูกกลายเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา ที่ถูกจับกุมตัว

 

เส้นทางขาขึ้นสู่มหาเศรษฐี ของ นายแซม แบงค์แมน-ฟรีด

นายแซม แบงค์แมน-ฟรีด (Sam Bankman-Fried) หรือที่รู้จักกันในวงการคริปโตในนาม SBF เป็นผู้ก่อตั้ง เอฟทีเอ็กซ์ (FTX) เมื่อปี 2019 (พ.ศ.2562) ร่วมกับนายแกรี หวัง (Gary Wang) เพื่อนนักศึกษาที่มหาวิทยาลัย MIT

นายแซม แบงค์แมน-ฟรีด (Sam Bankman-Fried)

นิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) เคยจัดอันดับให้เขา รวยที่สุดในอันดับ 2 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน ณ ขณะนั้น ที่ 24,000 ล้านดอลลาร์ ในฐานะมหาเศรษฐีคริปโตโลก โดยเวลานั้นเขามีอายุเพียง 30 ปี ส่วนบริษัท FTX เคยมีมูลค่าสูงกว่า 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยลูกค้าหลักของบริษัทเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่ซื้อขายในจำนวนมาก ๆ

 

วันขาลง เป็นผู้ต้องหาคดี FTX

เค้าลางความล่มสลายของ FTX เริ่มชัดเจน เมื่อฉางเผิง จ้าว หรือ CZ เจ้าของ Binance แพลตฟอร์มเทรดคริปโตอันดับ 1 ได้ทวีตข้อความระบุว่า เขาจะขาย FTT ซึ่งเป็นเหรียญของ Exchange FTX ทั้งหมด เนื่องจากตรวจพบพฤติกรรมบางอย่างของ Alameda Research ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ FTX ที่อาจจะส่งผลเสียต่อตัว Binance เอง 

 

และยังมีเหตุการณ์ ที่เปรียบเสมือนการนำอัฐยายไปซื้อขนมยาย เมื่อแซม แบงก์แมน-ฟรายด์ หรือ SBF ผู้ก่อตั้ง FTX และ Alameda Research ได้นำ FTT หรือเหรียญที่ออกโดยตัวเองไปค้ำประกัน เพื่อกู้เงินจาก FTX ออกมาใช้ ซึ่งเว็บไซต์ข่าว CoinDesk ได้เปิดเผยว่า สินทรัพย์ภายใต้การดูแลของ Alameda Research กว่า 80% นั้นเป็น FTT

ข่าวนี้ทำให้ นักลงทุนจึงแห่กันเทขาย FTT จนราคาร่วงลงเกือบ 10 เท่าอย่างรวดเร็ว พร้อมถอนเงินออกจากแพลตฟอร์มมากถึง 6 พันล้านดอลลาร์ ซึ่ง SBF เองได้พยายามแก้ไขปัญหาด้วยการขอความช่วยเหลือจากนักลงทุนรายอื่นเพิ่ม หนึ่งในนั้นคือ CZ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากผลการเข้าตรวจสอบกิจการหรือ Due Diligence ออกมาย่ำแย่

 

FTX ยื่นขอล้มละลาย


เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน FTX พร้อมบริษัทในเครืออีกราว 130 แห่ง ซึ่งรวมถึง Alameda Research และ FTX.US ได้ยื่นขอล้มละลายต่อศาลเดลาแวร์ในสหรัฐฯ ขณะที่ SBF ก็ได้ประกาศลงจากตำแหน่งซีอีโอ 

ในเอกสารยื่นขอล้มละลายจำนวน 23 หน้าของ FTX ระบุว่า ปัจจุบันบริษัทมีเจ้าหนี้อยู่มากกว่า 1 แสนราย มีสินทรัพย์อยู่ระหว่าง 1-5 หมื่นล้านดอลลาร์ และมีหนี้สินอยู่ราว 1-5 หมื่นล้านดอลลาร์เช่นกัน การล่มสลายของ FTX ส่งผลให้ความมั่งคั่งของ Bankman-Fried ลดลงจาก 1.52 หมื่นล้านดอลลาร์ เหลือเพียง 991.5 ล้านดอลลาร์ หรือลดลงราว 94% ภายในเวลาอันรวดเร็ว

 

การล้มละลายของ FTX มีผู้ที่ได้รับผลกระทบได้แก่ นักลงทุนรายย่อยที่ซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มของ FTX และส่งผลกระทบต่อไปยังนักลงทุนของสถาบันการเงินและกองทุนต่าง ๆ ทั้ง SoftBank ของญี่ปุ่น Temasek ของสิงคโปร์ และอีกหลายกองทุนในทวีปอเมริกาเหนือ

ผลจากการล้มละลาย


การล้มละลายดังกล่าวส่งผลให้ทั้ง FTX และนายแบงค์แมน-ฟรีดเผชิญกับการสอบสวนจากทั้งหน่วยงานของสหรัฐและบาฮามาส ซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ FTX

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานอ้างอิงแหล่งข่าวว่า สำนักงานอัยการเขตใต้ของรัฐนิวยอร์กซึ่งนำโดยนายเดเมียน วิลเลียมส์ ได้ใช้เวลานานหลายเดือนในการตรวจสอบFTX ซึ่งมีบริษัทลูกหลายแห่งที่ให้บริการซื้อขายคริปโตทั้งในสหรัฐและต่างประเทศ การตรวจสอบมุ่งเน้นไปยังประเด็นที่ว่า เอฟทีเอ็กซ์ดำเนินการตามข้อกฎหมาย Bank Secrecy Act ของสหรัฐหรือไม่ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวใช้เพื่อกำหนดให้สถาบันการเงิน มีมาตรการป้องกันการฟอกเงิน และการระดมเงินเพื่อการก่อการร้าย และเพื่อทำการตรวจสอบแพลตฟอร์มคริปโตฯ ที่กล่าวอ้างอย่างผิด ๆ ว่า ไม่ได้ให้บริการแก่ลูกค้าในสหรัฐ

 

12 พ.ย. มีข่าวร้ายตามมาว่า FTX ถูกแฮก โดยคนร้ายฝังมัลแวร์และโทรจันไวรัส ที่จะแอบเปิดให้ไวรัสตัวอื่น ๆ เข้ามาจู่โจมระบบได้ โดยมีการยืนยัน านบัญชี FTX Official บน Telegram ว่าทางแพลตฟอร์มโดนแฮ็ก หลังพบการโอนเงินกว่า 1.8 หมื่นล้านบาทออกจากแพลตฟอร์มโดยไม่ทราบที่มาที่ไป ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 11 พ.ย. หลังจากนั้น ผู้ใช้ FTX หลายคนพบว่าเงินในบัญชีของตัวเองกลายเป็น 0 ทั้งในเว็บและในแอปพลิเคชัน ทำให้เว็บไซต์ FTX ต้องแจ้งปิดการฝาก-ถอนเงินชั่วคราว ในวันที่ 13 พ.ย.
 

แบงค์แมน-ฟรีด ถูกจับกุม

12 ธ.ค. 2565 แบงค์แมน-ฟรีด ถูกจับกุมตัวในบาฮามาส ตามคำขอของทางการสหรัฐ ในคดีอาญา โดยหน่วยงานสหรัฐและบาฮามาสกำลังทำการตรวจสอบว่า นายแบงค์แมน-ฟรีดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการล้มละลายของ FTX หรือไม่

ในอีกด้านหนึ่ง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (SEC) หรือ ก.ล.ต.ของฝั่งสหรัฐเอง ก็เตรียมที่จะยื่นฟ้องแบงก์แมน-ฟรีดด้วย ในข้อหาเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายหลักทรัพย์ โดยคาดว่าจะมีการยื่นฟ้องที่ศาลในนิวยอร์กด้วย