ไม่รอด! ‘แซม แบงค์แมน-ฟรีด’ ผู้ก่อตั้ง FTX ถูกจับแล้วในบาฮามาส

13 ธ.ค. 2565 | 10:50 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ธ.ค. 2565 | 17:51 น.
1.1 k

‘แซม แบงค์แมน-ฟรีด’ ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอของเอฟทีเอ็กซ์ (FTX) บริษัทซื้อขายคริปโตที่ล้มละลาย ถูกจับกุมตัวแล้วในบาฮามาสวานนี้ (12 ธ.ค.) ตามคำขอของสหรัฐ

 

นายแซม แบงค์แมน-ฟรีด ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอของ เอฟทีเอ็กซ์ (FTX) ซึ่งเป็น บริษัทซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีรายใหญ่ ที่ประสบปัญหาจนล้มละลาย ได้ถูกจับกุมตัวแล้วในบาฮามาสเมื่อวันจันทร์ (12 ธ.ค.) ตามคำขอของทางการสหรัฐ

 

อัยการสูงสุดของบาฮามาสออกแถลงการณ์ระบุว่า การจับกุมตัวนายแบงค์แมน-ฟรีด เกิดขึ้นหลังจากทางการสหรัฐแจ้งว่าได้ยื่นฟ้องนายแบงค์แมน-ฟรีดในคดีอาญา โดยขณะนี้หน่วยงานสหรัฐและบาฮามาสกำลังทำการตรวจสอบว่า นายแบงค์แมน-ฟรีดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการล้มละลายของ FTX หรือไม่

 

แซม แบงค์แมน-ฟรีด ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอของ เอฟทีเอ็กซ์ (FTX) ถูกจับกุมตัยที่บาฮามาสเมื่อวันจันทร์ (12 ธ.ค.2565)

ทางด้านนายเดเมียน วิลเลียมส์ อัยการประจำศาลแขวงใต้ของรัฐนิวยอร์กในสหรัฐกล่าวยืนยันว่า การจับกุมตัวนายแบงค์แมน-ฟรีดเป็นไปตามคำร้องขอของรัฐบาลสหรัฐ

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา FTX ได้ยื่นเรื่องต่อศาลสหรัฐตามมาตรา 11 เพื่อขอการพิทักษ์ทรัพย์จากภาวะล้มละลาย โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นไม่นาน หลังจากไบแนนซ์ (Binance) ซึ่งเป็นบริษัทซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีรายใหญ่ที่สุดของโลก ประกาศยกเลิกข้อตกลงซื้อกิจการเอฟทีเอ็กซ์

 

อ่านเพิ่มเติม: "ไบแนนซ์" คว่ำข้อตกลงซื้อ FTX ขณะบิตคอยน์ดิ่งทะลุ 15,000 ดอลล์!

"ไบแนนซ์" คว่ำข้อตกลงซื้อเอฟทีเอ็กซ์ (FTX) เหตุหวั่นวิกฤตสภาพคล่องฝ่ายหลังรุนแรงเกินรับมือ

 

การล้มละลายดังกล่าวส่งผลให้ทั้ง FTX และนายแบงค์แมน-ฟรีดเผชิญกับการสอบสวนจากทั้งหน่วยงานของสหรัฐและบาฮามาสซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ FTX

 

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างอิงแหล่งข่าวว่า FTX ได้ถูกเจ้าหน้าที่อัยการของเมืองแมนฮัตตันทำการตรวจสอบมาเป็นเวลานานหลายเดือนแล้วก่อนที่บริษัทจะประกาศล้มละลาย โดยแหล่งข่าวระบุ สำนักงานอัยการเขตใต้ของรัฐนิวยอร์กซึ่งนำโดยนายเดเมียน วิลเลียมส์ ได้ใช้เวลานานหลายเดือนในการตรวจสอบเอฟทีเอ็กซ์ซึ่งมีบริษัทลูกหลายแห่งที่ให้บริการซื้อขายคริปโตทั้งในสหรัฐและต่างประเทศ การตรวจสอบมุ่งเน้นไปยังประเด็นที่ว่า เอฟทีเอ็กซ์ดำเนินการตามข้อกฎหมาย Bank Secrecy Act ของสหรัฐหรือไม่

 

ที่ผ่านมานั้น ทางการสหรัฐใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อกำหนดให้สถาบันการเงินใช้มาตรการป้องกันการฟอกเงินและการระดมเงินเพื่อการก่อการร้าย และเพื่อทำการตรวจสอบแพลตฟอร์มคริปโทฯ ที่กล่าวอ้างอย่างผิด ๆ ว่า ไม่ได้ให้บริการแก่ลูกค้าในสหรัฐ

 

ก่อนหน้านี้ไม่นาน นายแบงค์แมน-ฟรีด เจ้าของฉายา SBF และผู้เป็นอดีต “มหาเศรษฐีคริปโต” ในวัย 30 ปี ได้เชิญสำนักข่าวบีบีซี สื่อใหญ่ของอังกฤษ ไปที่พักของเขาในคอมเพล็กซ์สุดหรูที่บาฮามาส และส่วนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ เขาระบุว่า หวังว่าจะหาทางคืนความเสียหายให้กับผู้ใช้บริการ FTX และก็ยอมรับด้วยว่ามีความวิตกกังวลตลอดทั้งคืนเกี่ยวกับการถูกจับกุมตัว “ผมหวังที่จะเริ่มต้นธุรกิจใหม่เพื่อสร้างรายได้มากพอที่จะจ่ายคืนผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการล่มสลายของ FTX”

นอกจากนี้ เขายังเพิ่งทวีตเมื่อช่วงเช้าวันศุกร์ที่ผ่านมา (9 ธ.ค.) ระบุว่า เขาตกลงใจที่จะเข้าให้การกับคณะกรรมการด้านบริการการเงินของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐในวันอังคารที่ 13 ธ.ค. แต่สุดท้ายก็มาถูกจับกุมตัวเสียก่อน

 

จาก "รุ่งเรือง" สู่ "รุ่งริ่ง" 

ทั้งนี้  เอฟทีเอ็กซ์ (FTX) ก่อตั้งเมื่อปี 2019 (พ.ศ.2562) โดย นายแซม แบงค์แมน-ฟรีด (Sam Bankman-Fried) หรือที่รู้จักกันในวงการคริปโตในนาม SBF ร่วมกับนายแกรี หวัง (Gary Wang) เพื่อนนักศึกษาที่มหาวิทยาลัย MIT

 

นิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) เคยจัดอันดับให้ SBF รวยที่สุดในอันดับ 2 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน ณ ขณะนั้น ที่ 24,000 ล้านดอลลาร์ ในฐานะมหาเศรษฐีคริปโตโลก โดยเวลานั้นเขามีอายุเพียง 30 ปี ส่วนบริษัท FTX เคยมีมูลค่าสูงกว่า 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลูกค้าหลักของบริษัทเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่ซื้อขายในจำนวนมาก ๆ

 

ต่อมามาภายหลังเกิดปัญหาขึ้น โดยจุดเริ่มต้นการล้มละลายของ FTX เกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ

  • ความตื่นตัวด้านสกุลเงินดิจิทัลของโลกที่ลดลง สะท้อนจากราคาบิตคอยน์ (BTC) ที่หดหายไปเกินกว่าครึ่งในรอบ 1 ปีที่ผานมา
  • และการที่ FTX นำเหรียญดิจิทัลที่ตัวเองสร้างขึ้นภายใต้ชื่อ FTT ไปค้ำบริษัทในเครือของตัวเองที่ชื่อAlameda Research ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำรายได้ในการกินส่วนต่างการเทรดคริปโต ทำให้นักลงทุนเริ่มไม่มั่นใจ

 

FTX ยื่นล้มละลายและขอฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา เคราะห์กรรมไม่จบเพียงเท่านั้น ขณะที่นายแบงค์แมน-ฟรีด หรือ SBF ประกาศลาออก มีข่าวร้ายตามมา (12 พ.ย.) ว่า FTX ถูกแฮกโดยคนร้ายฝังมัลแวร์และโทรจันไวรัสที่จะเข้ามาแบบไม่มีพิษภัย แต่จะแอบเปิดให้ไวรัสตัวอื่น ๆ เข้ามาจู่โจมระบบได้ด้วย หลังจากนั้น ผู้ใช้ FTX หลายคนพบว่าเงินในบัญชีของตัวเองกลายเป็น 0 ทั้งในเว็บและในแอปพลิเคชัน ทำให้เว็บไซต์ FTX ต้องแจ้งปิดการฝาก-ถอนเงินชั่วคราว (13 พ.ย.)

 

การล้มละลายของ FTX ผู้ที่ได้รับผลกระทบได้แก่ นักลงทุนรายย่อยที่ซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มของ FTX และส่งผลกระทบต่อไปยังนักลงทุนของสถาบันการเงินและกองทุนต่าง ๆ ทั้ง SoftBank ของญี่ปุ่น Temasek ของสิงคโปร์ และอีกหลายกองทุนในทวีปอเมริกาเหนือ