WHO เตือนขยะจากโควิด-19 ล้นโลก มหันตภัยด้านสาธารณสุข-สิ่งแวดล้อม

02 ก.พ. 2565 | 08:23 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.พ. 2565 | 15:30 น.

WHO เตือนถึงความเสี่ยงด้านสาธารณสุขที่มาพร้อมกับอุปกรณ์และขยะทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับโควิด-19 พร้อมเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ช่วยกันควบคุมจัดการระบบการทิ้งและกำจัดขยะอันตรายเหล่านั้น ซึ่งรวมถึง ชุดป้องกันเชื้อโรคแบบพีพีอี (PPE) ขวดวัคซีน ชุดตรวจ ATK และเข็มฉีดยา

รายงานวิเคราะห์ของ องค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (1 ก.พ.) พบว่า ปริมาณขยะทางการแพทย์ ที่เกิดจากความพยายามควบคุมการแพร่ระบาดของ โควิด-19 กำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลกและก่ออันตรายอย่างมาก

 

แมกกี มอนต์โกเมอรี เจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมของ WHO เปิดเผยว่า โควิด-19 ได้ทำให้เกิดขยะทางการแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างมาก และสร้างความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าจากระดับก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่ระบบการกำจัดอุปกรณ์ใช้แล้วทางการแพทย์เหล่านี้ยังไม่มีประสิทธิภาพ

 

โดยอันตรายที่เกิดจากขยะเหล่านี้ รวมถึงอันตรายต่อสุขภาพของบุคลากร การบาดเจ็บจากเข็มฉีดยา การถูกเผาไหม้ การสัมผัสกับเชื้อไวรัส มลพิษทางอากาศ ตลอดจนอันตรายจากการบริหารจัดการที่กลบฝังขยะแบบไร้ประสิทธิภาพ

WHO เตือนขยะจากโควิด-19 ล้นโลก มหันตภัยด้านสาธารณสุข-สิ่งแวดล้อม

WHO ประเมินว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2564 มีการจัดหาชุดพีพีอีขนส่งไปยังประเทศต่าง ๆผ่านทางระบบของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แล้วราว 87,000 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อใช้แล้วก็จะกลายเป็นขยะทางการแพทย์

 

นอกจากนี้ ยังมีชุดตรวจเชื้อโควิด (ชุดตรวจ ATK) อีกมากกว่า 140 ล้านชุด ที่เมื่อใช้แล้วก็กลายเป็นขยะพลาสติกส่วนใหญ่มากถึง 2,600 ตัน ก่อเป็นขยะไม่ติดเชื้อและขยะเคมีมากถึง 731,000 ลิตร ส่วนวัคซีนโควิด-19 ใน 8,000 ล้านโดสแรกที่มีการกระจายฉีดทั่วโลกนั้น ได้ทำให้เกิดขยะเพิ่มเติมทั้งจากกระบอกฉีดยา เข็มฉีดยา และกล่องนิรภัยอีกมากถึง 144,000 ตัน

WHO เตือนขยะจากโควิด-19 ล้นโลก มหันตภัยด้านสาธารณสุข-สิ่งแวดล้อม ผลกระทบเบื้องต้นที่เห็นได้ชัดคือ ขยะทางการแพทย์เหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นขยะติดเชื้อ โดยเชื้อไวรัสยังสามารถอยู่รอดบนพื้นผิวซึ่งทำให้บุคลากรทางการแพทย์เสี่ยงจะได้รับเชื้อโรค ขณะเดียวกันชุมชนที่อยู่ใกล้พื้นที่ฝังกลบขยะที่มีการบริหารจัดการไม่ดีพอ ก็สามารถได้รับผลกระทบได้ผ่านอากาศที่ปนเปื้อนจากการเผาขยะและผ่านน้ำที่คุณภาพไม่ดีพอหรือแมลงที่เป็นพาหะนำโรค

WHO แนะนำให้ประเทศต่าง ๆ ใช้แนวทางกำจัดขยะทางการแพทย์เหล่านี้อย่างปลอดภัยและไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพิ่มปริมาณการใช้ถุงมือและหน้ากากแบบที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ตลอดจนเพิ่มการลงทุนในเทคโนโลยีการกำจัดขยะแบบไม่ต้องเผา เป็นต้น