ทำความรู้จัก “ออราแวกซ์” วัคซีนโควิดชนิดแคปซูล ผลงานโบแดงจากอิสราเอล

24 ก.ค. 2564 | 01:00 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ค. 2564 | 14:59 น.
3.5 k

บริษัท ออราแวกซ์ เมดิคัล (Oravax Medical) จากประเทศอิสราเอล ผู้ร่วมพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดแคปซูลซึ่งใช้วิธีการบริโภคเข้าปากแทนการฉีดวัคซีนเข้าทางกระแสเลือด กำลังจะเริ่มการทดลองทางคลินิกวัคซีนดังกล่าวในกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอลในเร็วๆ นี้

ออราแวกซ์ เมดิคัล เป็นบริษัทในเครือ ออราเมด ฟาร์มาซูติคอลส์ (Oramed Pharmaceuticals) ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชภัณฑ์จากประเทศ อิสราเอล ที่จับมือร่วมทุนกับ พรีมาส ไบโอเทค (Premas Biotech) จากประเทศอินเดียซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านวัคซีน ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา บริษัทใช้เทคโนโลยีที่เป็นผลงานการวิจัยของศูนย์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาดาสซาห์ในกรุงเยรูซาเล็มในการผลิตวัคซีนที่เป็นนวัตกรรมที่แตกต่างไปจากรูปแบบวัคซีนเดิมๆ ที่ใช้การฉีดเข้าสู่ร่างกาย แต่เทคโนโลยีวัคซีนของออราแวกซ์ใช้วิธีกินเข้าทางปาก (oral vaccine) 

 

ขณะนี้ บริษัทได้ทำการผลิตวัคซีน “ออราแวกซ์” (Oravax) รุ่นตัวอย่างจำนวนหลานพันแคปซูลเพื่อส่งให้หน่วยงานตรวจสอบก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการทดลองทางคลินิกแล้ว โดยโรงงานของบริษัทได้รับมาตรฐาน GMP และตั้งอยู่ในทวีปยุโรป

 

เดอะ เยรูซาเล็ม โพสต์ สื่อท้องถิ่นของอิสราเอลรายงานเมื่อวันพฤหัสฯ (22 ก.ค.) อ้างอิงการให้สัมภาษณ์ของนายนาดาฟ คิดรอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออราเมด ฯ ว่า การทดลองทางคลินิกวัคซีนออราแวกซ์ จะมีขึ้นที่ศูนย์การแพทย์โซราสกี (Sourasky Medical Center)ในกรุงเทลอาวีฟ ขณะนี้กำลังรอการอนุมัติจากกระทรวงสาธารณสุขอิสราเอล คาดว่าจะได้รับไฟเขียวให้เดินหน้าการทดลองภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า และนั่นจะทำให้อิสราเอลเป็นประเทศแรกในโลกที่ทำการทดลองทางคลินิกวัคซีนชนิดนำเข้าร่างกายทางปาก หรือ oral vaccine

นาดาฟ คิดรอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออราเมด ฯ

ผลงานลักษณะคล้ายกันก่อนหน้านี้ของบริษัท คือการทดลองทางคลินิกอินซูลินในรูปแบบแคปซูลสำหรับผู้ป่วยเบาหวานประเภท 1 และ 2  ซึ่งได้รับการอนุมัติการทดลองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ FDA ของสหรัฐอเมริกาและขณะนี้อยู่ในการทดลองขั้นที่สามซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายแล้ว

 

บริษัท พรีมาส ไบโอเทค  ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนฝ่ายอินเดียนั้น เป็นหุ้นส่วนที่ลงตัวเพราะมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาวัคซีนและได้เริ่มพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาตั้งแต่เดือนมี.ค. ผู้บริหารของบริษัทเปิดเผยว่า ขณะที่วัคซีนแบบฉีดของบริษัทไฟเซอร์และโมเดอร์นา พุ่งเป้าไปที่ปุ่มหนามโปรตีนของไวรัสโควิดเพียงจุดเดียว วัคซีนแคปซูลของบริษัทจะพุ่งเข้าจับถึง 3 จุด จึงตั้งสมมุติฐานว่าจะป้องกันไวรัสโควิดได้มากขึ้น ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์ใหม่อย่างโควิดเดลตาด้วย

 

ในการทดลองก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นการทดลองนำร่องกับสัตว์ทดลอง พบว่าวัคซีนดังกล่าวทำให้เกิดการสร้างแอนติบอดีหรือภูมิต้านทาน ทั้งแบบอิมมูโนโกลบูลิน G (Immunoglobulin G หรือ IgG) และอิมมูโนโกลบูลิน A (IgA) ที่มีความจำเป็นสำหรับภูมิต้านทานในระยะยาว


ปุ่มหนามโปรตีนของไวรัสโคโรนา

คิดรอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออราเมด ฯ กล่าวว่า ข้อดีของวัคซีนแบบกินหรือการนำวัคซีนเข้าสู่ร่างกายทางปากนี้ จะเป็นการปฏิวัติรูปแบบการรับวัคซีนและก่อให้เกิดประโยชน์หลายอย่าง โดยผู้คนจะสามารถรับวัคซีนได้เองที่บ้าน เป็นการทลายกำแพงอุปสรรคในการกระจายวัคซีน ทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างรวดเร็วและกระจายได้เป็นวงกว้าง  

 

ความง่ายและสะดวกในการรับวัคซีนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มจำนวนผู้ได้รับวัคซีนในเวลาอันรวดเร็ว ยิ่งถ้าหากในอนาคต ประชากรโลกต้องได้รับวัคซีนโควิดทุกปีเหมือนกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ รูปแบบวัคซีนแคปซูลก็จะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นและจูงใจให้ผู้คนอยากรับวัคซีนมากขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องอาศัยบุคลากรทางการแพทย์ฉีดให้เหมือนกับวัคซีนแบบฉีด นอกจากนั้น วัคซีนแคปซูลยังสามารถเก็บรักษาในอุณหภูมิห้อง จึงเพิ่มความสะดวกในการขนส่งไปยังสถานที่ต่าง ๆทั่วโลก

 

ทั้งนี้ คาดว่าการทดลองทางคลินิกขั้นที่ 1 และ 2 จะใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์  

 

ข้อมูลอ้างอิง