อังค์ถัดเตือนรัฐบาลทั่วโลก อย่าผ่อนคันเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

19 มี.ค. 2564 | 17:02 น.

รายงานฉบับใหม่ของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่ผ่านมา คาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่แข็งแรงมากขึ้นในปีนี้ (2564) แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงอีกนานัปการที่อาจฉุดรั้งการฟื้นตัวอย่างมั่นคงในอนาคต

การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด เผยแพร่รายงานฉบับใหม่เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่ผ่านมา คาดการณ์ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ที่แข็งแรงมากขึ้นในปี 2564 แต่เตือนว่า ยังมี ปัจจัยเสี่ยง อีกมากที่อาจฉุดรั้งและเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวอย่างมั่นคงในอนาคต ได้แก่ การพัฒนาที่ไม่เท่าเที่ยมกัน ปัญหาหนี้ท่วม และการลงทุนใหม่ที่ยังแผ่วบาง จึงควรที่รัฐบาลนานาประเทศจะยังคงให้ความสนับสนุนงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

อังค์ถัด คาดหมายว่า เศรษฐกิจโลก โดยรวมจะเติบโตในอัตรา 4.7% ในปีนี้ ซึ่งมากกว่าตัวเลขคาดการณ์เมื่อเดือน ก.ย.ที่คาดไว้เพียง 4.3% เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาซึ่งมีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซ้ำยังได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงินถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่อังค์ถัดคาดการณ์ ณ สิ้นปี 2564 นี้ถือว่ายังต่ำกว่าที่ควรจะเป็นอยู่ถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์หากประเมินจากทิศทางก่อนที่โลกจะพบกับโรคโควิด-19 “สิ่งที่จะเป็นความเสี่ยงสำคัญยิ่งต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกก็คือ ถ้าหากว่ามีการเข้าใจผิดไปและรัฐบาลทั่วโลกหันหน้ากลับสู่การใช้นโยบายรัดเข็มขัดหลังจากที่เศรษฐกิจโลกดำดิ่งและเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงที่โควิดแพร่ระบาดหนัก” นั่นหมายความว่า รัฐบาลทั่วโลกไม่ควรชะลอการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

อังค์ถัดเตือนรัฐบาลทั่วโลก อย่าผ่อนคันเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

รายงานของอังค์ถัดชี้ว่า ประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นพิเศษเนื่องจากมีเครื่องมือทางการคลังที่จำกัด ดุลการชำระเงินที่ตึงตัวมากขึ้น และไม่ได้รับความสนับสนุนอย่างเพียงพอจากต่างประเทศ แม้จะคาดว่าเศรษฐกิจทุกภูมิภาคจะสามารถฟื้นตัวในปีนี้ แต่ความเสี่ยงทั้งทางด้านสาธารณสุขและทางเศรษฐกิจก็ยังคงมีอยู่และยังคงเป็นอุปสรรคสำหรับการฟื้นตัว

ถ้าไม่ปรับเปลี่ยน อาจป่วนหนักกว่านี้ 

“แม้ว่าปี 2563 จะเป็นปีแห่งหายนะและภาวะเศรษฐกิจที่เลวร้าย แต่สถานการณ์ก็อาจเลวร้ายกว่านั้นได้อีก” ส่วนหนึ่งของรายงานระบุ

ปัญหาที่อาจจะซ้ำเติมให้ทุกอย่างยิ่งลำบากมากขึ้นท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงอยู่ คือนโยบายเศรษฐกิจที่ล้าหลัง ความร่วมมือในระดับพหุภาคีที่ขาดพลัง และการที่หลายประเทศไม่เอาจริงเอาจังกับการขจัดปัญหาที่เรื้อรังมานานไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมระหว่างคนรวย-คนจน ปัญหาหนี้ท่วม และภาวะขาดแคลนการลงทุนใหม่

“ถ้าหากแนวโน้มยังเป็นไปเช่นนี้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง การปรับตัวสู่มาตรฐานใหม่ (new normal) ก็จะกลายเป็นการฟื้นตัวที่ขาดความสมดุล เป็นจุดเปราะบางที่จะนำไปสู่ภาวะชะงักงันและการขาดสเถียรภาพทางเศรษฐกิจอย่างเรื้อรัง”

รายงานของอังค์ถัดระบุว่า สิ่งที่จะช่วยให้โลกหลีกเลี่ยงภาวะเงินฝืด (deflation)ที่เริ่มตั้งเค้าขึ้นแล้วคือการอาศัยเครื่องมือหรือมาตรการหลายอย่างรวม ๆกัน เช่นธนาคารกลางที่เข้ามาใช้มาตรการเชิงป้องกันเพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตการเงิน การใช้มาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจที่มากพอและเบิกจ่ายไวในประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้ว กระแสการลงทุนที่กลับคืนมา รวมทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งการเดินหน้าโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้ขยายวงกว้าง-ทั่วถึงและรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม อังค์ถัดระบุว่า การฟื้นตัวของแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไป บางประเทศอาจจะฟื้นตัวเป็นกราฟรูปตัว K  บางประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนาอาจพบกับหลากปัญหาระหว่างทาง รวมทั้งรายได้เฉลี่ยประชากรที่ดำดิ่ง โดยเฉพาะในประเทศที่ยากจนมากอยู่แล้ว และแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในตลาดแรงงานประเภทงานชั่วคราว ประเทศเหล่านี้แม้เศรษฐกิจได้รับแรงกระทบเพียงเล็กน้อย ก็อาจเจ็บหนักหรือเกิดความเสียหายรุนแรง ทั้งนี้ ธนาคารโลกประมาณการว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจจะทำให้ประชากรโลกราว 250 ล้านคนเข้าไปอยู่ในหมวด “คนยากจน” (โดยนิยามมีรายได้ต่อวันที่ 3.20 ดอลลาร์สหรัฐ)

ดังนั้น โลกจึงต้องร่วมมือกันมากขึ้น และยังไม่ควรผ่อนคันเร่งการอัดฉีดงบกระตุ้นและเยียวยาเศรษฐกิจ รัฐบาลทั่วโลกยังคงต้องนำมาตรการทางการคลังมาใช้ เพราะโลกอาจจะต้องใช้ระยะเวลามากกว่า 1 ปี ในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการผลิตและการจ้างงานให้กลับมาสู่ระดับปกติ นอกจากนี้ การที่โควิด-19 มีแนวโน้มส่งผลกระทบระยะยาวทั้งด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจ ทำให้นานาประเทศทั่วโลกยังจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง