“กูเกิล” ร่วมรำลึกกำเนิดถนน “เจริญกรุง”

17 มี.ค. 2564 | 23:52 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มี.ค. 2564 | 19:05 น.

ก่อนนอนวันนี้ลองคลิกเข้าไปดูหน้าโฮมเพจของกูเกิล (Google) เห็นภาพวาดลายเส้นตรงโลโกกูเกิล ที่เรียกว่า กูเกิล ดูเดิล (Google Doodle) แล้วรู้สึกคุ้น ๆ ตาบ้างไหม? ถนนเส้นยาวมีรถรางฝั่งหนึ่ง รถลากเทียมม้าฝั่งหนึ่ง ถนนที่ได้ชื่อว่า “เจริญกรุง” สะท้อนความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองในยุคนั้น

“กูเกิล ดูเดิล” หรือภาพวาดบนหน้าหลักของกูเกิลวันนี้ วันที่ 17 มีนาคม เป็นภาพวาด ถนนเจริญกรุง ยุคเก่า ภาพเป็นสีซีเปียให้ความรู้สึกย้อนยุค แต่หากคลิกตรงภาพเพื่อเข้าไปดูที่มา ก็จะพบป้ายชื่อถนนแบบที่เราคุ้นตาในเขตกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งลิ้งค์ข่าวและบทความต่าง ๆที่เกี่ยวข้องกับ “ถนนเจริญกรุง”

“กูเกิล” ร่วมรำลึกกำเนิดถนน “เจริญกรุง”

นั่นเป็นเพราะวันนี้ (17 มี.ค.) เมื่อปี พ.ศ. 2407 หรือเมื่อ 157 ปีที่แล้ว เป็นวันเปิดใช้ถนนเจริญกรุง (ชื่อภาษาอังกฤษเขียนว่า Thanon Charoen Krung ) เป็นวันแรก ถนนเส้นนี้เป็นถนนที่มีความสำคัญในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2407 มีความยาวจากถนนสนามไชยถึงดาวคะนอง 8,575 เมตร

การก่อสร้างถนนเจริญกรุงนั้นเนื่องจากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีชาวต่างชาติเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ มากขึ้น และมีพวกกงสุลได้เข้าชื่อกันขอให้สร้างถนนสายยาวสำหรับขี่ม้าหรือนั่งรถม้าตากอากาศโดยอ้างว่า เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพมหานครไม่มีถนนหนทางที่จะขี่รถม้าไปเที่ยว พากันเจ็บไข้เนือง ๆ

ดังนั้น ในปีระกา พ.ศ. 2404 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค ต่อมาคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กอง พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองเป็นนายงาน รับผิดชอบในการก่อสร้างถนนช่วงตั้งแต่คูเมืองชั้นในถึงถนนตกริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลบางคอแหลม เรียกว่าถนนเจริญกรุงตอนใต้ (แต่ชาวบ้านมักเรียกว่าเจริญกรุงตอนล่าง) กว้าง 5 วา 4 ศอก (ประมาณ 10 เมตร หรือเทียบได้กับถนน 4 เลน) โดยมีนายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ (ต้นสกุลเศวตศิลา) เป็นผู้สำรวจแนวถนนและเขียนแผนผังถนน

“กูเกิล” ร่วมรำลึกกำเนิดถนน “เจริญกรุง”

ต่อมาในปีจอ พ.ศ. 2405 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ครุฑ) เป็นแม่กอง พระยาบรรหารบริรักษ์ (สุ่น) เป็นนายงาน รับผิดชอบการก่อสร้างถนนเจริญกรุงตอนใน คือช่วงระยะทางตั้งแต่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ถึงสะพานดำรงสถิต (สะพานเหล็กบน) กว้าง 4 วา โดยสร้างเป็นถนนดินอัด เอาอิฐเรียงตะแคงปูให้ชิดกัน ตรงกลางนูนสูง เมื่อถูกฝนไม่กี่ปีก็ชำรุด การก่อสร้างถนนเจริญกรุงตอนในนี้ เดิมกำหนดให้ตัดตรงจากสะพานดำรงสถิต ถึงกำแพงเมืองด้านถนนสนามไชย แต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทักท้วงว่าการสร้างถนนตรงมาสู่พระบรมมหาราชวังอาจเป็นชัยภูมิให้ข้าศึกใช้ตั้งปืนใหญ่ยิงทำลายกำแพงเมืองได้ จึงต้องเปลี่ยนแนวถนนมาหักมุมเลี้ยวตรงเชิงสะพานดำรงสถิต

เมื่อสร้างถนนเจริญกรุงเสร็จใหม่ ๆ นั้น ยังไม่ได้พระราชทานนาม จึงเรียกกันทั่วไปว่า ถนนใหม่ และชาวยุโรปเรียกว่า นิวโรด (New Road) ชาวจีนเรียกตามสำเนียงแต้จิ๋วว่า ซิงพะโล่ว แปลว่าถนนตัดใหม่ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถนนว่า "ถนนเจริญกรุง" ซึ่งมีความหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง เช่นเดียวกับชื่อถนนบำรุงเมืองและถนนเฟื่องนคร ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในคราวเดียวกัน

ถนนเจริญกรุงนั้นเริ่มต้นตั้งแต่ถนนสนามไชยบริเวณวงเวียน รด. หน้าหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน และหลังจากตัดกับถนนพระรามที่ 3 แล้ว ถนนเจริญกรุงจะมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ถนนตก” จนไปสิ้นสุดที่แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และการไฟฟ้านครหลวงเขตยานนาวา โดยเป็นถนนรุ่นแรกที่ใช้เทคนิคการสร้างแบบตะวันตก ผ่านพื้นที่เขตพระนคร, เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย, เขตสัมพันธวงศ์, เขตบางรัก, เขตสาทร และเขตบางคอแหลม และเป็นเส้นแบ่งของเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย (ด้านซ้าย) กับเขตสัมพันธวงศ์ (ด้านขวา) ตั้งแต่ช่วงสะพานเหล็กบนไปจนถึงบริเวณแยกหมอมี

ขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง