อนาคตของ 'เจฟฟ์ เบซอส'หลังพ้นตำแหน่งซีอีโอแอมะซอน ยังมีงานที่ท้าทายรออยู่อีกเพียบ  

04 ก.พ. 2564 | 17:05 น.
823

 “ผมยังจะทำความฝันอื่นๆที่อยากทำ จะทุ่มเวลาและพลังที่มีให้กับงานอีกหลายอย่าง” เจฟฟ์ เบซอส เปิดใจในวันแถลงอำลาตำแหน่งซีอีโอ “แอมะซอน” และย้ำว่า นี่ยังไม่ใช่เวลาเกษียณตัวเองอย่างแน่นอน

เจฟฟ์ เบซอส มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ด้วยวัย 57 ปีและมูลค่าทรัพย์สินในครอบครอง 196,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.8 ล้านล้านบาท) ประกาศวางมือจากตำแหน่งประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ "แอมะซอน" ยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซสัญชาติอเมริกัน ที่เขาปลุกปั้นมากับมือเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่ถึงแม้จะสละตำแหน่งซีอีโอโดยจะเริ่มมีผลในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ เขายังจะคงตำแหน่งเป็นประธานบริหาร หรือ executive chairman ของบริษัท ส่วนบุคคลที่จะเข้ามาสานต่อภารกิจในตำแหน่งซีอีโอคนใหม่คือ นายแอนดี แจสซี ที่ปัจจุบันเป็นหัวเรือใหญ่ในธุรกิจด้านคลาวด์คอมพิวติ้งของแอมะซอน ภายใต้ชื่อบริษัท แอมะซอน เว็บ เซอร์วิสเซส หรือ เอดับเบิลยูเอส

 

เจฟฟ์ เบซอส

เบซอสระบุในจดหมายที่เวียนถึงพนักงานว่า แม้จะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งซีอีโอแล้ว แต่ก็ยังจะทำงานเกี่ยวข้องกับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของบริษัทซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ นอกจากนี้ เขาหวังว่าจะมีเวลาให้การความคิดริเริ่มด้านการกุศลและการช่วยเหลือสังคมมากขึ้น เช่นการบริหารงานกองทุน"เดย์วันฟันด์" และ "เบซอสเอิร์ธฟันด์" ซึ่งก็ดูจะเป็นเส้นทางเดียวกับที่มหาเศรษฐีนักธุรกิจรุ่นใหญ่ระดับโลกทั้งหลายเลือกที่จะเดินหลังวางมือจากตำแหน่งซีอีโอของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นบิล เกตส์ หรือแจ๊ค หม่า ที่ต่างก็ประกาศเดินหน้าในโครงการเพื่อสังคมรวมทั้งงานสาธารณกุศลต่าง ๆ

 

ขอไปทุ่มพลังปั้นฝันด้านอื่น ๆ

แต่สำหรับเจฟฟ์ เบซอสที่ยังมีธุรกิจอีกมากมายในมือที่ไปบุกเบิกเอาไว้ แต่ไม่มีเวลาจะทุ่มเทปลุกปั้นให้เต็มที่ เช่น บริษัทสำรวจอวกาศ “บลู ออริจิน” (Blue Origin) รวมทั้งงานหนังสือพิมพ์ “วอชิงตัน โพสต์”  และสื่อในเครือ หลังจากนี้จึงน่าจะเป็นเวลาที่เขาจะได้เข้าไปผลักดันธุรกิจใหม่ ๆ ให้แจ้งเกิดอย่างจริง ๆจัง ๆ ตัวเขาเองยืนยันว่า ยังไม่หมดไฟและจะยังไม่เกษียณจากการทำงานอย่างแน่นอน

 

ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ ๆ 30 ปีก่อน เขาก่อตั้งบริษัท แอมะซอน ในปี 2537 โดยใช้โรงรถที่บ้านเช่าของตัวเองในเมืองซีแอตเทิลเป็นสำนักงาน เริ่มจากการเปิดขายหนังสือออนไลน์ บริษัทเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นยักษ์ใหญ่ในธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ไม่ใช่แต่เพียงในสหรัฐ แต่เป็นระดับโลก แอมะซอนกลายเป็นยักษ์ใหญ่มูลค่า 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ในทุกวันนี้ไม่ใช่โชคช่วย เบซอสขยายไลน์ธุรกิจออกนอกคอมฟอร์ทโซนที่เป็นธุรกิจแกนหลักของบริษัท ครอบคลุมหลากหลายสาขาไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสตรีมมิงเพลงและรายการโทรทัศน์ ร้านขายของชำ คลาวด์คอมพิวติ้ง หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจโฆษณา รวมทั้งธุรกิจเก่าแก่อย่างหนังสือพิมพ์ (วอชิงตันโพสต์) และธุรกิจล้ำยุคหลุดโลกอย่างการให้บริการสำรวจอวกาศสำหรับภาคเอกชน (บลู ออริจิน)

 

ร็อบ เมเยอร์สัน อดีตผู้บริหารของบลู ออริจิน ซึ่งเป็นบริษัทที่เบซอสเป็นผู้ก่อตั้งในปี 2543 ให้ความเห็นว่า ถ้าเบซอสวางมือจากงานซีอีโอเพื่อมาทุ่มเทให้กับธุรกิจสำรวจอวกาศของบลู ออริจินจริง ๆ ก็เชื่อได้เลยว่านั่นเป็นข่าวดีสำหรับบริษัท และในช่วงปีสองปีนับจากนี้ ก็คงได้เห็นบลู ออริจิน พานักท่องเที่ยวบุกอวกาศในวงโคจรสั้น ๆได้อีกหลายเที่ยวบิน ,ยิงจรวดนำดาวเทียมออกไปโคจรนอกโลกอีกหลายดวง รวมทั้งร่วมมือกับนาซ่าในการนำยานอวกาศของเอกชนไปลงบนดวงจันทร์

 

ไม่เคยหมดไฟ ทำงานเหมือนเป็นวันแรกเสมอ

“เขามีความคิดที่ล้ำเลิศ มีความเชี่ยวชาญขั้นสุดในเชิงปฏิบัติ และมีวิสัยทัศน์ที่ยิ่งใหญ่สำหรับธุรกิจ” เมเยอร์สันเชื่อว่า “อวกาศ” จะเป็นพื้นที่ทำงานที่สำคัญสำหรับฉากชีวิตบทต่อไปของเจฟฟ์ เบซอส ก่อนหน้านี้เขาบุกถางทางไว้บ้างแล้วแม้ยังไม่มากนัก ในปีที่ผ่านมา (2563) กองทุนเบซอสเอิร์ธฟันด์ (Bezos Earth Fund) มอบเงินทุนสนับสนุน 100 ล้านดอลลาร์ให้กองทุนพิทักษ์สิ่งแวดล้อมจัดสร้างดาวเทียมสำรวจอวกาศที่สามารถตรวจจับก๊าซมีเธนในชั้นบรรยากาศ นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าเบซอสจะเข้ามามีบทบาทในการผลักดันโครงการคุยเพอร์ (Kuiper) ซึ่งเป็นโครงการส่งดาวเทียมหลายดวงขึ้นไปในอวกาศเพื่อให้ส่งสัญญาณบริการอินเทอร์เน็ตมายังพื้นโลก มากยิ่งขึ้น     

 

ความตั้งใจของเบซอสคือ การเข้าไปสร้างความแปลกใหม่ในอุตสาหกรรมสาขาต่าง ๆที่เขาสนใจ ขณะเดียวกันก็ไม่เคยหยุดยั้งที่จะนำเสนอสิ่งที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มหลัก ด้วยความมุ่งมั่นทำทั้งสองภารกิจควบคู่กันไปและทำได้สำเร็จ ทำให้เบซอสได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารมือหนึ่งของโลกทัดเทียมกับแอนดริว คาร์เนกี, เฮนรี ฟอร์ด, จอห์น ดี. ร็อคกีเฟลเลอร์, บิล เกตส์ และสตีฟ จ็อบส์ ได้อย่างภาคภูมิ ปรัชญาการทำงานของเบซอสที่ว่า ทำงานให้เหมือนกับว่าเป็นวันแรกที่เข้าทำงานเสมอ ๆ หรือ “always Day One” เป็นแนวคิดที่ช่วยเติมไฟและปลุกเร้าให้เขาอยากลุกขึ้นมาทำงานในทุก ๆวัน และเชื่อว่า นี่ยังคงเป็นเข็มทิศสำหรับการทำงานของเบซอสต่อไปแม้ในวันอำลาตำแหน่งซีอีโอของแอมะซอนแล้วก็ตาม      

 

อย่างน้อยการที่เบซอสยังดำรงตำแหน่งประธานบริหารของแอมะซอน ทำให้เชื่อได้ว่าเขายังไม่ได้ทิ้งบริษัทไปไหนไกลนัก  
 

ส่งไม้ต่อให้ “แอนดี แจสซี”

แอนดี แจสซี ว่าที่ซีอีโอแอมะซอน เป็นลูกหม้อที่ร่วมทำงานกับบริษัทมา 20 กว่าปี เขาเข้าทำงานในบริษัทเมื่อปี 2540 ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาด และเป็นผู้ก่อตั้งแผนกเอดับเบิลยูเอสในปี 2546 ปลุกปั้นธุรกิจบริการประมวลผลระบบคลาวน์ให้กลายเป็นดาวรุ่ง และทำกำไรอย่างงดงามให้กับบริษัท

 

แอนดี แจสซี ว่าที่ซีอีโอแอมะซอน

เบซอสให้การรับรองว่า แจสซีจะเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยมของบริษัท โดยตัวเขาเองมีความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่า ขณะนี้ แอมะซอนได้ถูกผลักดันมาอยู่ในจุดที่เขาวางใจได้มากที่สุดแล้ว นั่นคือการเป็นองค์กรธุรกิจที่มีความคิดค้นสร้างสรรค์มากที่สุด จึงถึงเวลาเหมาะสมแล้วที่จะส่งต่อตำแหน่งบริหารของบริษัทให้กับคนที่เขาไว้วางใจ และแอนดี แจสซี ก็คือคนๆ นั้น

 

กระบวนการถ่ายโอนอำนาจบริหารจะเริ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ไบรอัน โอลาฟสกี รองประธานบริหารของแอมะซอน เชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นจะเป็นเพียงการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง และเบซอสเอง ก็คงไม่ได้ไปไหนไกล  

 

ทั้งนี้ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (2 ก.พ.) ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่เบซอสประกาศวางมือจากตำแหน่งซีอีโอ  แอมะซอนได้เปิดเผยยอดขายประจำไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 ที่ 119,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.59 ล้านล้านบาท) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของบริษัท ที่สามารถสร้างยอดขายรายไตรมาสเกินกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3 ล้านล้านบาท)

 

นับเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่สุดที่เบซอสสามารถวางมือได้อย่างสบายใจ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยิ่งชัตดาวน์ยิ่งรวย 5 วันบิ๊ก “แอมะซอน”โกยเพิ่ม 7.8 แสนล้าน

"เจฟฟ์ เบซอส" เจ้าพ่อแอมะซอน จ่ายค่าหย่าเมียทุบสถิติโลก 1.12 ล้านล้านบาท

รวยสุดแล้ว‘อีลอน มัสก์’ ขึ้นแท่นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก

รวยไม่เลิก “เจ้าพ่อแอมะซอน” ทำสถิติใช้เวลาวันเดียว รวยเพิ่มกว่า 4 แสนล้าน

ชาวเน็ตข้องใจ “เจ้าพ่ออเมซอน” บริจาคเงินช่วยไฟป่า ไม่สมฐานะเศรษฐีโลกเบอร์1