อ่วมแล้ว โควิดทำอุตสาหกรรมยานยนต์โลกชะงัก

17 เม.ย. 2563 | 15:07 น.
5.1 k

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในภูมิภาคอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์โลกจนถึงขณะนี้ยังไม่อาจประเมินผลความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้ แต่มีตัวเลขประมาณการในเบื้องต้นน่าจะไม่ต่ำกว่า 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 115,200 ล้านบาท

 

ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขประมาณการเฉพาะความเสียหายของอุตสาหกรรมยานยนต์ในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีมาตรการฉุกเฉิน “ล็อกดาวน์” ซึ่งครอบคลุมมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม กักตัวเองอยู่กับบ้านของผู้คน และงดเว้นการจับกลุ่มชุมนุม เพื่อสกัดกั้นการแพร่กระจายของโรคระบาดโควิด-19 ทำให้จำเป็นต้องปิดร้านอาหาร สถานบันเทิง และธุรกิจบริการจำนวนมาก เป็นการชั่วคราว โรงงานผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ หลายแห่งถูกปิดชั่วคราวเป็นเวลาหลายสัปดาห์ แม้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะต้องการให้เปิดเศรษฐกิจในบางพื้นที่อีกครั้งในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ (โดยเฉพาะในพื้นที่ที่การแพร่ระบาดและการติดเชื้อใหม่มีอัตราลดลง) แต่ก็ยังไม่แน่ว่าสำหรับอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ในดีทรอยต์ จะสามารถเปิดดำเนินการได้ตามเป้าหมายนั้นหรือไม่ ผู้บริหารของบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ ยอมรับว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้คาดว่า รายได้ของบริษัทในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จะลดลง 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 19,200 ล้านบาท

อ่วมแล้ว โควิดทำอุตสาหกรรมยานยนต์โลกชะงัก

เจดี พาวเวอร์ บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาอุตสาหกรรมยานยนต์ในสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมยานยนต์และซัพพลายเชน เป็นแหล่งจ้างงานในสหรัฐฯอยู่ถึง 10 ล้านคน หากไม่สามารถกลับมาดำเนินการตามปกติในเร็ววันก็จะยิ่งส่งผลกระทบสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ มาตรการล็อกดาวน์อุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐฯ ในปัจจุบันซึ่งส่งผลให้มีการปิดสายการผลิตเป็นการชั่วคราว กินเวลา 47 วัน ยาวนานกว่าเมื่อครั้งการปิดโรงงานเพราะมีการประท้วงบริษัท เจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) ของสหภาพแรงงานยานยนต์ในสหรัฐฯเมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยครั้งนั้นมีการปิดการผลิตเพียง 40 วัน สูญเสียทางเศรษฐกิจ 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 115,200 ล้านบาท
 

มาตรการล็อกดาวน์ทำซัพพลายเชนป่วน 

ในสหรัฐฯมีโรงงานผลิตรถยนต์ 53 แห่ง มีกำลังการผลิตรถยนต์คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 11,000 ล้านดอลลาร์/สัปดาห์ (ข้อมูลเจดี พาวเวอร์) นายจิม กลินน์ รองประธานบริษัท เจเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ยอมรับว่าการเปิดโรงงานผลิตอีกครั้งมีเรื่องต้องพิจารณามากมาย ทั้งกฎระเบียบในระดับรัฐบาลกลาง ระดับมลรัฐและระดับท้องถิ่น เพื่อความปลอดภัยของคนงาน แต่บริษัทก็กำลังเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดโรงงานเพื่อเริ่มการผลิตอีกครั้ง ทั้งจีเอ็มและฟอร์ด ประกาศปิดโรงงานผลิตในภูมิภาคอเมริกาเหนือเป็นการชั่วคราวโดยไม่มีกำหนดเปิดมาตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่ไครสเลอร์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเครือเฟี้ยต ไครสเลอร์ ออโตโมบิลส์ ของอิตาลี คาดหวังว่าเมื่อรัฐบาลท้องถิ่นยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ บริษัทก็จะเปิดโรงงานเริ่มการผลิตอีกครั้งในวันที่ 4 พฤษภาคม แต่ถ้าหากโรงงานของซัพพลายเออร์ที่ตั้งอยู่ในรัฐอื่นและยังไม่มีการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ นั่นก็อาจจะสร้างปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนประกอบ ทำให้การดำเนินงานของโรงงานที่เปิดแล้ว ชะงักงันได้อยู่ดี

ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนประกอบ ทำให้การดำเนินงานของโรงงานที่เปิดแล้ว ชะงักงันได้อยู่ดี

เดอะ ดีทรอยต์ นิวส์ สื่อท้องถิ่นของสหรัฐฯรายงานว่า นอกจากบริษัทรถยนต์ของฟอร์ด จีเอ็ม และไครสเลอร์แล้ว ในสหรัฐฯยังมีโรงงานผลิตรถยนต์ต่างชาติอีกเป็นจำนวนมากซึ่งประสบปัญหาต้องปิดโรงงานชั่วคราวเพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่นกัน ซึ่งรวมถึงโรงงานฮอนด้า 12 แห่ง โตโยต้า 10 แห่ง ฮุนได 1 แห่ง นิสสัน 3 แห่ง ซาบารุ 1 แห่ง และโฟล์คสวาเก้น 1 แห่งในเทนเนสซีซึ่งปิดมา 4 สัปดาห์แล้ว

ขณะเดียวกัน นิคเคอิ เอเชียน รีวิว ระบุว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ในภูมิภาคก็ใช้กำลังการผลิตเพียง 30% เท่านั้นเนื่องจากยอดขายในตลาดแผ่วลงมากหลังไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด โตโยต้า มอเตอร์ ปิดการผลิตของ 3 โรงงานในไทยตั้งแต่วันที่ 10-17 เมษายน ขณะที่มิตซูบิชิ มอเตอร์ และอิซูซุ มอเตอร์ ผู้ผลิตอันดับ 2 และ 3 ก็ระงับการผลิตชั่วคราวเช่นกัน ขณะที่ฮอนด้า อินโดนีเซีย ประกาศปิดโรงงานถึงวันที่ 24 เมษายน สถานการณ์ไม่ได้ดีไปกว่ากันในเวียดนาม ซึ่งที่นั่นโตโยต้า ฮอนด้า และฟอร์ด ระงับการผลิตแล้วเช่นกัน