"พิธา ลิ้มเจริญรัตน์"ถือหุ้นไอทีวี ส่อซ้ำรอย "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ"

10 พ.ค. 2566 | 06:14 น.
903

ผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย ชี้ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถือหุ้นไอทีวี ส่อซ้ำรอย "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถือหุ้น "วี-ลัค มีเดีย" มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.

จากกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ออกมาเปิดเผยว่า เตรียมยื่นร้องให้ กกต.ตรวจสอบกรณีการตรวจสอบพบข้อมูลที่น่าเชื่อได้ว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้นว่า อาจเข้าข่ายส่อขาดคุณสมบัติ ลงสมัคร ส.ส.หรือไม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3) บัญญัติห้ามมิให้บุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.

หลังจากมีการตั้งข้อสังเกตุว่า นายพิธา เป็นผู้จัดการมรดกของบิดาที่เสียชีวิตมานานนับสิบปี ในจำนวนนี้มีหุ้นสื่อรวมอยู่ด้วย โดยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1732 กำหนดให้ "ผู้จัดการมรดก" ต้องจัดการตามหน้าที่และทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการและแบ่งมรดกให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรม หรือทายาทเสียงข้างมาก หรือศาลจะได้กำหนดเวลาให้ไว้เป็นอย่างอื่น ทำให้เกิดคำถามว่า การถือครองหุ้นไอทีวีของนายพิธา ซึ่งเป็นนักการเมือง เป็นอดีต ส.ส. และกำลังเป็นแคนดิเดตนายกฯนั้น ถูกต้องตามกฎหมาย หรือเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามการเป็น ส.ส.และการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.หรือไม่ 

เนื่อจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 ระบุว่า บุคคลผู้มีลักษณะ ดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ซึ่งเรื่องนี้สำคัญเพราะหากนายพิธาถือหุ้นมาก่อนหน้านี้ช่วงที่ยังเป็น ส.ส.อยู่ ก็น่าจะถูกร้องให้หมดสมาชิกภาพได้ และจะกลายเป็นปัญหาต่อการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยหรือไม่ 

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจ กรณีดังกล่าวว่า ประเด็นนี้หลักกฎหมายระบุชัดเจนว่า หากหุ้นของผู้ตายยังไม่ถูกแบ่งโดยผู้จัดการมรดก หุ้นนั้นก็ยังอยู่ในชื่อของผู้ตาย แต่ถ้าหากอยู่ในชื่อของผู้อื่นแสดงว่าหุ้นนั้นถูกแบ่งไปให้ผู้มีชื่อแล้ว หุ้นนั้นก็เป็นหุ้นของผู้มีชื่อนั้นไม่ใช่หุ้นของกองมรดก

ถ้าหากมีการแก้ไขในบัญชีผู้ถือหุ้นว่าเป็นของกองมรดก ก็ต้องระบุว่าเป็นหุ้นของกองมรดกใด ถือไว้ในนามของผู้จัดการมรดกชื่ออะไร ซึ่งไม่มีความจำเป็นที่ต้องไปแก้ให้เป็นเช่นนั้น

สอดคล้องกับการรายงานข่าวของเนชั่นทีวี ที่ระบุว่า ได้สอบถามไปยังผู้พิพากษารายหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวได้ข้อมูลว่า ถ้าทายาทคนอื่นเห็นว่า ผู้จัดการมรดกแบ่งมรดกล่าช้าก็สามารถยื่นคำร้องต่อศาลให้ศาลไต่สวนเพื่อขอเปลี่ยนผู้จัดการมรดกได้ และถ้าหากผู้จัดการมรดกทำการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินมรดกเป็นของตนเองโดยไม่ชอบ ก็จะมีความผิดในคดีอาญาอีกด้วย

แต่ถ้าไม่มีทายาทคนใดยื่นคำร้องต่อศาลว่า ผู้จัดการมรดกจัดการมรดกล่าช้า บุคคลนั้นก็อาจเป็นผู้จัดการมรดกได้เป็นสิบ ๆ ปี อย่างเช่นในกรณีนายพิธา ก็อาจเป็นได้ เนื่องจากพี่น้องทายาททุกคนทราบอยู่แล้วว่า ทรัพย์สินใด เป็นของใคร เพียงแต่ยังไม่มีการโอนเปลี่ยนชื่อเท่านั้นเอง

ส่วนกรณีที่ปรากฏชื่อนายพิธา ปรากฎอยู่ในเอกสาร บมจ.006 คือ บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทมหาชนจำกัด ที่ต้องนำส่งกรมธุรกิจการค้าและตลาดหลักทรัพย์ โดยไม่มีคำว่า "ผู้จัดการมรดก" ในวงเล็บตามหลัง หมายถึง นายพิธา เป็นผู้ถือหุ้นเองหรือไม่นั้น  

แหล่งข่าวผู้พิพากษารายนี้ ยังกล่าวด้วยว่า ตามกฎหมายถ้าถือหุ้นในฐานะผู้จัดการมรดก ผู้นั้นมีสิทธิแค่ไปโหวตเลือกกรรมการบริหารเท่านั้น แต่ไม่ถือว่า เป็นเจ้าของหุ้น เพราะไม่ใช้ทรัพย์สินของตนเอง แต่ถ้าไม่มีสลักคำว่า "ในฐานะผู้จัดการมรดก" ตามหลังชื่อผู้ถือหุ้นก็อาจทำให้เชื่อได้ว่า "หุ้นในบริษัทนั้น ๆ" เป็นของผู้ที่มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นเอง ถ้าไม่ใช่เป็นการพิมพ์เอกสารตกหล่น

ดังนั้น ถ้าหากหุ้นบริษัทสื่อตามเอกสารนั้นเป็นของนายพิธาจริงก็อาจจะซ้ำรอยเดิม เช่นเดียวกับกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เวลานั้นเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 ให้สิ้นสุดความเป็น ส.ส.เพราะถือหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด