ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางสำคัญในยุค AI ตามรายงาน Decoding Global Talent 2024: AI Edition จาก Jobsdb by SEEK ซึ่งร่วมกับ BCG, The Network และ Stepstone เผยให้เห็นว่าแรงงานไทยถึง 62% ใช้ Generative AI อยู่แล้ว ทั้งในการทำงาน และ ชีวิตประจำวัน โดยหลายอุตสาหกรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเร่งปรับตัวและนำเทคโนโลยีนี้มาใช้เพื่อขับเคลื่อนอนาคตการทำงานร่วมกับ AI
โดยการสำรวจแรงงานจาก 190 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย รายงานนี้ชี้ให้เห็นว่า การนำ AI มาใช้อย่างแพร่หลายกำลังเปลี่ยนแปลงลำดับความสำคัญในการทำงาน ความต้องการทักษะใหม่ และกลยุทธ์การจ้างงานในอนาคต โดยมุ่งเน้นไปที่บทบาทของ AI ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การพัฒนาทักษะใหม่ที่สำคัญ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของตลาดงานที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมีส่วนช่วยให้เล็งเห็นถึงอิทธิพลของ AI ต่ออนาคตการทำงาน
รายงานระบุว่า 62% ของแรงงานไทย ใช้ Generative AI (Gen AI) ในชีวิตประจำวัน ซึ่งทำให้ประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการนำ AI มาใช้มากที่สุดในโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม การตลาด ไอที และครีเอทีฟ ที่กำลังก้าวหน้าในด้านการนำ AI มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและขับเคลื่อนนวัตกรรมต่างๆ
นอกจากนี้ 83% ของแรงงานไทย เชื่อว่า AI จะทำให้งานบางอย่างมีความเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแรงงานไทยมีความพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แม้ว่าจะยังมีความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงในการทำงาน โดย 27% ของแรงงานไทย กังวลว่าผลกระทบจาก AI อาจทำให้บทบาทการทำงานของพวกเขาถูกแทนที่ได้
โดยรายงาน Decoding Global Talent 2024: AI Edition ยังเน้นย้ำถึงศักยภาพความเป็นผู้นำของไทยในการปฏิวัติด้าน AI ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยจำนวนแรงงานไทยที่ใช้บริการ Generative AI เป็นรายเดือนที่สูงถึง 48% ซึ่งนับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึง 4% ทำให้ประเทศไทยเหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมและการพัฒนาแรงงานที่ทำงานร่วมกับ AI ในอนาคตอันใกล้
อีกหนึ่งประเด็นที่รายงาน Decoding Global Talent 2024: AI Edition ได้ให้ความสำคัญก็คือ การพัฒนาทักษะใหม่ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคที่ AI กำลังเปลี่ยนแปลงการทำงานของคนทั่วโลก โดย 57% ของแรงงานทั่วโลก พร้อมที่จะพัฒนาทักษะใหม่เพื่อตอบรับกับความต้องการในตลาดแรงงานภายใต้สภาพแวดล้อมที่ขับเคลื่อนด้วย AI อีกทั้งแรงงานไทยมากถึง 70% ยังแสดงความสนใจที่จะพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ให้กับตนเอง โดยผู้ที่ทํางานในสายงานบริหารธุรกิจ งานขาย และงานบริการลูกค้า เป็นกลุ่มที่กระตือรือร้นอย่างยิ่งในการเรียนรู้ทักษะใหม่เพื่อให้ตนเองแข่งขันได้ในตลาดแรงงาน โดยกลุ่มที่ทํางานสายบริหารธุรกิจตระหนักถึงความเป็นไปได้ที่ AI อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในงานของตนมากเป็นพิเศษ
และเมื่อพูดถึงลําดับความสําคัญของการพัฒนาทักษะในปัจจุบัน คนไทยส่วนใหญ่ให้ความสําคัญกับทักษะการวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์เป็นอันดับต้น ๆ ตามด้วยทักษะด้านภาษา ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่ทั้งนายจ้างและแรงงานจะต้องเตรียมตัวเพื่อก้าวสู่อนาคตของการทำงานในยุค AI
การเรียนรู้ของคนไทยส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ผ่านการรับชมวิดีโอการศึกษาด้วยตนเอง และแอปพลิเคชันบนมือถือดังนั้น การฝึกอบรมแบบวีดีโอ การสอนออนไลน์ หรือการเรียนรู้แบบ Microlearning จึงเป็นที่นิยม โดยเฉพาะในรูปแบบที่สามารถเข้าถึงได้ผ่านอุปกรณ์พกพา นอกจากนั้นคนไทยยังมีแนวโน้มที่จะชอบพอดแคสต์และการเรียนรู้ผ่านเสียง ซึ่งแตกต่างจากคนในภูมิภาคเดียวกัน
สำหรับผู้หางาน การพัฒนาทักษะในเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วย AI ถือเป็นกุญแจสำคัญของการแข่งขันในตลาดการหางาน และด้านนายจ้างเองก็ควรเริ่มใช้ AI อย่างมีกลยุทธ์พร้อมกับการลงทุนในโครงการเสริมสร้างทักษะใหม่ ๆ และนำ Gen AI มาใช้เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานและการจ้างงาน
ธุรกิจในไทยจำนวนมากกำลังนำ AI มาใช้มากขึ้นในการพัฒนากระบวนสรรหาบุคลากรและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานเช่นเดียวกัน จากรายงาน Decoding Global Talent 2024: AI Edition พบว่า องค์กรต่าง ๆ กำลังมุ่งเน้นการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้าน AI เพื่อรักษาประสิทธิภาพในการแข่งขันท่ามกลางเศรษฐกิจดิจิทัลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยผนวกการใช้ Generative AI (Gen AI) เพื่อปรับปรุงการจ้างงานและ ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการลงทุนในโครงการฝึกทักษะใหม่สำหรับพนักงานเพื่อส่งเสริมความสามารถในด้านการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ และเพิ่มความชำนาญทางด้านเทคโนโลยี พัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรให้ตอบสนองกับความต้องการของตลาดในอนาคตมากขึ้น โดยการดำเนินการเหล่านี้จะช่วยเสริมบทบาทของไทยในเศรษฐกิจดิจิทัลโลกให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น