จุฬาฯ ผนึก Google Cloud เปิดตัว 'ChulaGENIE' ระบบ AI เพื่อการศึกษา

28 พ.ย. 2567 | 16:59 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ย. 2567 | 17:11 น.

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประกาศความสำเร็จครั้งสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี AI เพื่อการศึกษา ด้วยการจับมือ Google Cloud เปิดตัว 'ChulaGENIE' Generative AI อัจฉริยะเพื่อการศึกษามุ่งยกระดับการเรียนการสอนและการวิจัยในระดับอุดมศึกษา พร้อมให้บริการแก่ประชาคมจุฬาฯ ต้นปี 68

ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า "เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้าน AI ของประเทศไทย วันนี้จุฬาฯ ได้จับมือกับ Google Cloud  พันธมิตรระดับโลกเพื่อเร่งรัดการพัฒนา Responsible AI เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคมไทยในระยะยาว

จุฬาฯ ผนึก Google Cloud เปิดตัว \'ChulaGENIE\' ระบบ AI เพื่อการศึกษา

โดยการใช้แพลตฟอร์ม Vertex AI ของ Google Cloud ซึ่งรวมเอาความสามารถที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวไว้ในที่เดียว รวมถึงความยืดหยุ่นในการเลือกโมเดลผ่าน Model Garden และความสามารถในการปรับแต่งโมเดลพื้นฐานที่ทรงพลังให้เหมาะกับความต้องการที่หลากหลายและการตอบสนองได้แม่นยำ

ด้วยความสามารถเหล่านี้ ทำให้จุฬาฯ สามารถพัฒนา ChulaGENIE (Chula's Generative AI Environment for Nurturing Intelligence and Education)  ได้ภายในเวลาไม่ถึงสามเดือน

ระบบ AI อัจฉริยะเพื่อการศึกษา

ChulaGENIE ถูกพัฒนาขึ้นบนแพลตฟอร์ม Vertex AI ของ Google Cloud โดยในระยะแรกจะรองรับการใช้งานโมเดล Gemini 1.5 Flash และ Gemini 1.5 Pro ของ Google และมีแผนที่จะเพิ่มโมเดล Claude จาก Anthropic และ Llama จาก Meta ในอนาคตอันใกล้

จุฬาฯ ผนึก Google Cloud เปิดตัว \'ChulaGENIE\' ระบบ AI เพื่อการศึกษา

ระบบนี้โดดเด่นด้วยความสามารถในการรองรับหลายภาษา (multilinguality) ทำให้สามารถอธิบายหัวข้อที่ซับซ้อนให้เข้าใจได้ง่าย รวมถึงสร้างเนื้อหาในภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาอื่น ๆ ด้วยความรวดเร็วและความแม่นยำ นอกจากนี้ ด้วยความสามารถในการรองรับข้อมูลหลายประเภท (multimodality) และขอบเขตการประมวลผลช่วงบริบทที่ยาว ทำให้ผู้ใช้สามารถอัปโหลดเอกสารที่มีความยาวถึง 1.4 ล้านคำ พร้อมตาราง แผนภูมิ และภาพประกอบ ซึ่งระบบสามารถประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กำหนดการให้บริการและแผนพัฒนา

ตามแผนการดำเนินงาน ChulaGENIE จะเริ่มให้บริการแก่คณาจารย์และบุคลากร จุฬาฯ ในเดือนมกราคม 2568 และจะขยายการให้บริการครอบคลุมนิสิตของจุฬาฯ ทุกคนภายในเดือนมีนาคม 2568 โดยผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงบริการได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

จุฬาฯ มีแผนเพิ่มฟังก์ชันใหม่บน ChulaGENIE โดยประชาคมจุฬาฯ จะสามารถสร้างตัวช่วยเฉพาะทางที่ปรับแต่งได้สำหรับงานเฉพาะด้าน ประกอบด้วย:

ตัวช่วยด้านการวิจัย: ปรับแต่งสำหรับประเด็นเฉพาะ เช่น ประสิทธิภาพของเทคนิคการกักเก็บคาร์บอนในวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม หรือการปรับปรุงการจราจรในเขตเมืองในด้านวิศวกรรมโยธา ช่วยให้อาจารย์และนิสิตสามารถเชื่อมโยงงานวิจัย และเสนอคำถามหรือสมมติฐานใหม่ ๆ

ตัวช่วยด้านการศึกษา: พัฒนาจากตำราและฐานข้อมูลด้านการศึกษาและอาชีพ พร้อมข้อมูลแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศและข้อพิจารณาด้านจริยธรรม เพื่อให้คำแนะนำที่เหมาะสมและเป็นรายบุคคลในการเลือกหลักสูตรและวางแผนเส้นทางอาชีพ

ตัวช่วยด้านการบริหารและธุรการ: ให้บริการตอบคำถามในประเด็นต่าง ๆ เช่น การสมัครเรียน การลงทะเบียน ทุนการศึกษา การจัดการอาคารสถานที่ และการสนับสนุนด้าน IT

ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวระดับสูง

จุฬาฯ ให้ความสำคัญสูงสุดกับการใช้งาน AI อย่างมีความรับผิดชอบ โดยได้นำระบบกรองเนื้อหาของ Vertex AI และนโยบาย AI ของจุฬาฯ มาใช้ในการออกแบบ ChulaGENIE เพื่อป้องกันการตอบหรือสร้างเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมหรือเป็นอันตราย นอกจากนี้ ยังเตรียมเพิ่มความแม่นยำในการตอบคำถามด้วยการเปิดใช้งานการ Grounding ด้วย Google Search

ระบบยังใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัสข้อมูลและการควบคุมการเข้าถึงระดับองค์กรของ Google Cloud เพื่อรับประกันความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย โดยคำสั่งหรือข้อมูลที่ผู้ใช้งานป้อนรวมถึงคำตอบของ AI จะไม่ถูกผู้พัฒนาโมเดลภายนอกจุฬาฯ นำไปใช้ในการฝึกโมเดล พร้อมทั้งมีระบบป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลงานวิจัยที่เป็นความลับหรือทรัพย์สินทางปัญญา

การพัฒนาบุคลากรและอนาคต

ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบ จุฬาฯ ได้จัดการอบรมหลักสูตร Google AI Essentials ให้กับบุคลากร คณาจารย์ และนักศึกษา โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ภายใต้โครงการ Samart Skills ของ Google ซึ่งปัจจุบันมีผู้สำเร็จหลักสูตรแล้วกว่า 800 คน โดยกำลังปรับหลักสูตรให้เรียบง่ายขึ้นสำหรับผู้เรียนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก

จุฬาฯ ผนึก Google Cloud เปิดตัว \'ChulaGENIE\' ระบบ AI เพื่อการศึกษา

นายอรรณพ ศิริติกุล Country Director, Google Cloud ประเทศไทย กล่าวว่า "ที่ Google Cloud เราเชื่อมั่นว่าประโยชน์ของ AI ขึ้นอยู่กับความแม่นยำและการนำไปใช้อย่างรับผิดชอบ แพลตฟอร์ม Vertex AI ของเราช่วยให้องค์กรต่าง ๆ อย่างเช่น จุฬาฯ สามารถนำ Responsible AI ไปใช้ได้จริงผ่านฟีเจอร์ต่าง ๆ เช่น Grounding บริการประเมินโมเดล และเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์มาตรฐานที่เข้มงวดในด้านการกำกับดูแลข้อมูล ความเป็นส่วนตัว และการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา"

ในอนาคต จุฬาฯ มีแผนขยายความร่วมมือกับ Google Cloud เพื่อพัฒนาโมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่แบบโอเพ่นซอร์สที่เน้นเฉพาะด้านสำหรับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งจะช่วยในการพัฒนาแอปพลิเคชันที่ปรับให้เหมาะกับความเร็วและรูปแบบการเรียนรู้ของนิสิตแต่ละคน รวมถึงสนับสนุนการวิเคราะห์และปรับปรุงหลักสูตรโดยอ้างอิงจากงานวิจัยและแนวโน้มด้านการศึกษาล่าสุด