เปิดคลิป“กะเพราอวกาศ” ลอยเหนือชั้นบรรยากาศโลก

22 ก.พ. 2565 | 10:06 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.พ. 2565 | 18:19 น.
6.7 k

GISTDA เผยคลิปเต็ม “กะเพราอวกาศ” ลอยเหนือชั้นบรรยากาศโลก สูงกว่า 35 กิโลเมตรจากพื้นดิน We Sent Thai Food Into Space จากช่อง Retired Working For You สร้างแรงบันดาลใจ เด็กไทยจงอย่าหยุดฝัน

จากกิจกรรมที่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ในฐานะผู้ให้คำปรึกษา  Youtuber และทีมงานรายการ Retired working for you ได้ร่วมกันทดลอง  ส่ง "ผัดกะเพรา" ขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศด้วย บอลลูน High-altitude ซึ่งเป็นบอลลูนขนาดใหญ่ที่จะลอยไปถึงระดับความสูงที่มีบรรยากาศรอบข้างใกล้เคียงกับสภาวะอวกาศ เพื่อทดสอบและศึกษาว่า “ผัดกะเพรา” จะมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพหรือไม่ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 

 

 

เปิดคลิป“กะเพราอวกาศ” ลอยเหนือชั้นบรรยากาศโลก

 

ล่าสุด GISTDA ได้โพสต์ VDO ภารกิจ “กะเพราอวกาศ” ที่ได้ส่งเมนูเด็ดของไทย “ผัดกะเพรา” ขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศด้วย บอลลูน High-altitude ผ่านรายการ "Retired working for you" เมื่อ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนไทย และจุดประกายความคิดในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศในอนาคตที่ทุกคนจะเข้ามามีส่วนร่วมได้ และประสบการณ์และความเชี่ยวชาญจะพาไปสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย

คริส พาร์คเกอร์ Youtuber ชาวแคนาดา เจ้าของช่อง "Retired working for you" อธิบายถึงเหตุผลที่ทำคลิปนี้ ว่า เขามาเมืองไทยครั้งแต่ตอนปี 1994 เขารักประเทศไทยมาก ในทุกๆ วันที่เขาอยู่ที่ประเทศไทยนั้น เขาซาบซึ้งใจมาก คนไทยเป็นคนใจดีมากๆ จากนั้น เขาจึงตัดสินใจมาอยู่ประเทศไทยอย่างถาวรเมื่อ 3 ปีที่แล้ว

 

เปิดคลิป“กะเพราอวกาศ” ลอยเหนือชั้นบรรยากาศโลก

 

ผมคิดว่าอนาคตของประเทศนี้จะต้องสุดยอดมากๆ และบางครั้งเราไม่ได้หยุดเพื่อที่จะชื่นชมประเทศของเรา ผมคิดว่าพวกคุณควรภูมิใจในการเป็นคนไทย เพราะขนาดผมเป็นชาวต่างชาติผมยังภูมิใจในประเทศไทย ผมจึงอยากให้นักเรียนทุกคนเข้าใจ ว่าคุณควรฝันถึงอนาคตของคุณ เพราะว่าคุณสามารถทำอะไรก็ได้ที่ต้องการ

 

โดยการทดลองจะแยกเป็น โมดูลซ้ายและขวา ซ้ายเป็นข้าวกะเพราหมูสับไข่ดาว บรรจุใส่จานโฟมหุ้มด้วยฟิล์มห่อหุ้มอาหาร และขวา เป็นข้าวกะเพราหมูสับไข่ดาวที่บรรจุอยู่ในกล่องพลาสติกใส่อาหาร พร้อมติดตั้งเครื่องระบุพิกัด GPS จากดาวเทียม โดยตั้งฐานปล่อยกะเพราหมูสับไข่ดาว ณ สนามบอล บึงบอระเพ็ด อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ปล่อยให้ขึ้นสู่ชั้นอวกาศ ซึ่งจะอยู่ห่างจากพื้นดินราว 30-35 กิโลเมตร

 

ข้าวกะเพราหมูสับไข่ดาวทั้ง 2 ภาชนะบรรจุ จะลอยขึ้นสู่ขอบอวกาศที่มีอุณหภูมิต่ำสุด -20 ถึง -40 องศาเซลเซียส เพื่อทดสอบเรื่อง การเปลี่ยนแปลงของอาหาร หลังจากขึ้นไปบนอวกาศว่าคงเดิมหรือไม่ และเพื่อพัฒนาศักยภาพไปเป็นอาหาร

 

 

เปิดคลิป“กะเพราอวกาศ” ลอยเหนือชั้นบรรยากาศโลก

 

สำหรับนักบินอวกาศ เนื่องจากข้าวผัดกะเพราเป็นเมนูยอดฮิตของคนไทย และเป็นเมนูที่รู้จักกันไปทั่วโลกสำหรับการเดินทางของข้าวผัดกะเพราหมูสับไข่ดาวนี้ จะใช้เวลาเดินทางถึงชั้นบรรยากาศประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง และจะใช้เวลาตกสู่พื้นโลกราวๆ 1 ชั่วโมงครึ่ง โดยการคำนวณรัศมีจุดตกจะอยู่ห่างจากฐานปล่อยเป็นระยะทางไม่เกิน 30 กิโลเมตร หรืออาจจะตกในแนวทุ่งนาและในบึงบอระเพ็ด

 

GISTDA เผยในเพจว่า การใช้บอลลูนขนาดใหญ่ครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีการตั้งฐานวิจัยหรือฐานส่งจรวดในห้วงอากาศสูงให้กับประเทศได้ และที่สำคัญจะทำให้ประเทศเกิดการพัฒนาทั้งในด้านการสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อวกาศที่ประเทศเรายังไม่เคยมี จากนี้เราจะพัฒนาและทดลองได้เองในสภาวะที่ใกล้เคียงอวกาศมากขึ้นเรื่อยๆ อันจะเป็นการพัฒนาชิ้นงานและทดสอบแบบ space grade จริงๆ

 

ดูคลิป“กะเพราอวกาศ” ลอยเหนือชั้นบรรยากาศโลก คลิ๊กที่นี่

 

ยังจำเรื่องราวของกะเพราจานนั้นที่ GISTDA ร่วมกับบริษัท ช่องยูทูป Retired Working for You (RW4U) ส่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศด้วยบอลลูน ปล่อยจากแหล่งท่องเที่ยวบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ได้หรือไม่?

 

เขาติดต่อทีม GISTDA จนได้ร่วมส่งผัดกะเพราขึ้นไปทดสอบดูว่า หลังจากที่ลงมาได้ผัดกะเพราจะเปลี่ยนแปลงทางกายภาพหรือไม่

 

โดยได้ส่งขึ้นไปพร้อมบอลลูน มีแบบที่อยู่ในจานห่อด้วยที่แรปอาหาร และแบบในกล่อง ส่งออกไปที่ความสูง 30-100 กิโลเมตรจากพื้นโลก เลยเพดานบินขึ้นไป แต่ไม่ถึงอวกาศ ก่อนที่จะออกไปสู่อวกาศจริง ๆ แบบ 100%

 

ผัดกะเพราที่เขาเลือกก็จากร้านโปรดของเขาในตลาดรวมทรัพย์ จังหวัดนครสวรรค์นี่เอง

 

ผลที่ออกมาก็อย่างที่เป็นข่าวเลย 1 วันหลังจากปล่อย เวลา 13.00 น. กะเพราตกลงมา ทาง GISTDA พบห่างจากจุดที่ GPS จับได้ประมาณ 200 เมตร ที่ ต.หนองกรด อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์

 

กะเพราที่อยู่ด้านขวาในจานได้หายเกลี้ยง แต่ส่วนที่ในกล่องด้านซ้ายที่ปิดไว้ยังอยู่เหมือนเดิม แต่ก่อนที่มันจะหายเกลี้ยงไป มันก็ไปหยุดที่ความสูง 35 กิโลเมตรจากพื้นโลกแล้ว สูงกว่าอาหารไทยอื่นๆ ในประวัติศาสตร์ที่เคยส่งขึ้นไป

 

GISTDA เผยในเพจว่า “การใช้บอลลูนขนาดใหญ่ครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีการตั้งฐานวิจัยหรือฐานส่งจรวดในห้วงอากาศสูงให้กับประเทศได้ และที่สำคัญจะทำให้ประเทศเกิดการพัฒนาทั้งในด้านการสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อวกาศที่ประเทศเรายังไม่เคยมี จากนี้เราจะพัฒนาและทดลองได้เองในสภาวะที่ใกล้เคียงอวกาศมากขึ้นเรื่อยๆ อันจะเป็นการพัฒนาชิ้นงานและทดสอบแบบ space grade จริงๆ”

 

เปิดคลิป“กะเพราอวกาศ” ลอยเหนือชั้นบรรยากาศโลก

 

ภาพและเสียงมาแล้วกับกิจกรรม “การสร้าง Awareness และแรงบันดาลใจให้คนไทย”

 

  • กิจกรรมนี้สร้างโอกาสในการคิด การทำ และการแก้ไขปัญหาทุกระดับ

 

  • กิจกรรมนี้สร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนไทย เพื่อจุดประกายความคิดในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศในอนาคตที่ทุกคนจะเข้ามามีส่วนร่วมได้ โดยเริ่มต้นจากการเรียนรู้ เมื่อนำความสำเร็จเล็กๆ มารวมกัน ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญจะพาไปสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย

 

  • กิจกรรมนี้ทำให้ได้แนวทางการทดลอง ซึ่งสำหรับภาคการศึกษาในระดับโรงเรียน ระดับมหาวิทยาลัย สามารถดำเนินการทดลองเองได้ ไม่ใช่แค่เมนูอาหารเท่านั้น แต่อาจจะเป็นวัสดุอื่นๆ หรืออุปกรณ์ต่างๆที่เป็นชิ้นเล็กๆ ที่สามารถส่งไปทดลองได้ รวมทั้งการวางแผนวิธีการติดตามในการเก็บอุปกรณ์ที่รวดเร็วขึ้น

 

ผัดกะเพราอาหารไทยขึ้นชื่อแม้ชาวต่างชาติยังรู้จัก มาวันนี้กลายเป็นเมนูอาหารไทยแรกๆที่ขึ้นไปแตะเกือบถึงขอบอวกาศเป็นที่เรียบร้อย แต่สิ่งที่เราได้มากกว่านั้นก็คือโอกาสของนักวิจัยไทยและการริเริ่มสู่ความเท่าเทียมในการทดลองห้วงอากาศสูง เติมเต็มแพลตฟอร์มการทดลองงานวิจัยในอวกาศของประเทศไทยให้ครอบคลุมทั้งภาคพื้นดิน ภาคอากาศ และภาคอวกาศหรือบนสถานีอวกาศนานาชาติให้เป็นรูปธรรมขึ้นมาแล้วในวันนี้ อีกทั้งให้ความสำคัญสำหรับการต่อยอดให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมอวกาศไทยในอนาคต

 

การส่งบอลลูนขนาดใหญ่น้ำหนักประมาณ 1,600 กรัม เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การเรียนรู้ทางธรรมชาติบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ได้นำอาหารเมนูคุ้นเคยของคนไทยทะยานขึ้นสู่ห้วงอากาศจนไปถึงความสูงประมาณ 35 กิโลเมตรเหนือพื้นโลกหรือชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ตามที่ตั้งเป้าไว้ (เครื่องบินพานิชย์บินที่ความสูงประมาณ 10-12 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก) หลังจากนั้นบอลลูนได้เกิดการระเบิดเพราะทนรับสภาพความแตกต่างของแรงดันไม่ไหวและได้ร่วงลงสู่พื้นโลกในเวลาต่อมา

 

แม้ทุกอย่างดูเหมือนจะเกิดขึ้นและจบลงอย่างรวดเร็ว แต่ทว่าประสบการณ์ของทีมงานในการเตรียมงานในรายละเอียดมาแรมปี นับตั้งแต่เริ่มต้นเจรจา ออกแบบ สรรหาและตั้งค่าอุปกรณ์ที่จะทำให้ภารกิจบรรลุตามวัตถุประสงค์ การคัดสรรสถานที่ปล่อย รวมถึงการปฎิบัติตามกฎหมายเพื่อป้องกันอันตรายต่ออากาศยานอื่นๆ รายละเอียดเหล่านี้จะถูกนำมาหลอมรวมก่อให้เกิดต้นแบบของการสนับสนุนการทดลองและวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์อวกาศโดยภาครัฐในอนาคตเพื่อโอกาสในการเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หรือที่เรียกว่า แพลตฟอร์มการทดลองงานวิจัยบนห้วงอากาศสูงด้วยบอลลูน (High-Altitude Experiment Platform)

 

เปิดคลิป“กะเพราอวกาศ” ลอยเหนือชั้นบรรยากาศโลก

 

#แพลตฟอร์มการทดลองงานวิจัยบนห้วงอากาศสูงสำคัญอย่างไร

 

แพลตฟอร์มดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มการทดลองงานวิจัยในอวกาศ (Space Experiment Platform) ของประเทศไทยที่ริเริ่มโดย GISTDA ภายใต้โครงการ National Space Exploration (NSE) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 เพื่อสนับสนุนการทดลองวิทยาศาสตร์อวกาศให้แก่นักวิจัยไทย อาทิ การทดลองวิทยาศาสตร์อวกาศบนภาคพื้นดิน มีห้องปฏิบัติการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Micro-X) คอยให้บริการ ซึ่งตั้งอยู่ในอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และสำหรับการทดลองในภาคอวกาศจะเป็นการบริการส่งงานวิจัยไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ

 

 

เปิดคลิป“กะเพราอวกาศ” ลอยเหนือชั้นบรรยากาศโลก

 

หนึ่งในความสำเร็จของการพัฒนาแพลตฟอร์มการทดลองงานวิจัยในอวกาศสำหรับประเทศไทยนั้นก็คือ การบริการส่งการทดลองปลูกผลึกโปรตีนในอวกาศเพื่อพัฒนายาต้านโรคมาลาเรียขึ้นไปบนสถานีอวกาศนานาชาติเพื่อให้เกิดการตกผลึกบนอวกาศและนำกลับลงมาวิจัยพัฒนาบนโลกเพื่อเป็นยาต้านมาลาเรีย ซึ่งเป็นโครงการร่วมกันระหว่าง GISTDA สวทช. ไบโอเทค และองค์กรอวกาศแห่งญี่ปุ่น (JAXA) ปัจจุบันประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ซึ่งต้องผ่านการเตรียมการ ประสานงาน และสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญแพลตฟอร์มเหล่านี้จะช่วยลดขั้นตอนการเตรียมงานให้กับทางกลุ่มนักวิจัยได้มาก

 

จะเห็นว่าที่ผ่านมาประเทศไทยโดย GISTDA ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับงานวิจัยในอนาคตทั้งการทดลองวิทยาศาสตร์อวกาศบนภาคพื้นดินและภาคอวกาศไว้เรียบร้อย แต่ทว่าในชั้นบรรยากาศโลกชั้นสตราโตสเฟียร์ก็มีสภาวะใกล้เคียงกับสภาพความเป็นอวกาศ ประกอบกับการส่งการทดลองขึ้นไปบริเวณชั้นนี้ด้วยบอลลูนมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าส่งไปยังสถานีอวกาศฯหลายเท่า จึงนับว่าเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากอวกาศในข้อนี้เพื่อการพัฒนาประเทศในอนาคต

 

การสร้างแพลตฟอร์มการทดลองงานวิจัยบนห้วงอากาศสูงด้วยบอลลูนเป็นแนวคิดที่ประเทศไทยสามารถสร้างได้ด้วยตัวเองและต่อยอดสู่การนำงานวิจัยด้านชีวะและฟิสิกส์มาทดลองเพื่อพัฒนาเป็นนวัตกรรมอวกาศ อาทิ การทดลองทำฟาร์มลอยฟ้าในอวกาศด้วยบอลลูนเพื่อรับบรรยากาศที่สะอาดกว่าบนพื้นโลก เป็นต้น เมื่อองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์อวกาศในไทยมีมากเพียงพอก็จะนำไปสู่แนวความคิดใหม่ๆของการวิจัยและการทดลองทางเทคโนโลยีที่ไม่ใช่เฉพาะดาวเทียมเท่านั้น เช่น การทดลองรับส่งสัญญาณของระบบนำทาง การติดตามหรือขับเคลื่อนรถยนต์จากชั้นบรรยากาศอวกาศ ซึ่งเราอาจเรียกรวมๆ ได้ว่าเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน high altitude platform ของประเทศ ทั้งหมดนี้เริ่มต้นที่การสร้างโอกาสการทดลองให้นักวิจัยไทย

 

ดังนั้นการทดลองงานวิจัยบนห้วงอากาศสูงด้วยบอลลูนจะเป็นทั้งจุดเริ่มต้นและส่วนสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศไทยในอนาคต ช่วยเพิ่มทั้งโอกาสและพื้นที่การทำงานของนักวิจัยไทย สร้างแรงจูงใจให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีไอเดียด้านวิทยาศาสตร์อวกาศมาช่วยพัฒนางานวิจัย เสริมสร้างองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์อวกาศของประเทศไทย และต่อยอดสู่การประยุกต์ใช้งานจริงในอนาคต

 

#เมื่อแพลตฟอร์มพร้อม #การพัฒนาคนก็ต้องพร้อม

 

เป็นที่น่าสังเกตว่าระหว่างการปล่อยบอลลูนนั้นได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งจากน้องนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบ นครสวรรค์ โดยได้ซักถามทีมงานตลอดการเตรียมการไปจนถึงการนับถอยหลังร่วมกันเพื่อปล่อยบอลลูนขึ้นสู่ห้วงอากาศ แถมน้องๆยังได้รับความรู้เกี่ยวกับแนวทางการทดลองวิทยาศาสตร์อวกาศจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง นับว่าเป็นบรรยากาศของการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่มีแต่ความสนุกสนานและตื่นเต้นท่ามกลางแรงบันดาลใจอันเปี่ยมล้น

 

เพื่อให้บรรยากาศของการเรียนรู้เช่นนี้ยังคงดำเนินต่อไปและกระจายไปทั่วประเทศ การเรียนรู้วิทยาศาสตร์อวกาศด้วยบอลลูนควรได้รับการพัฒนาเป็นหลักสูตรเรียนรู้ระยะสั้น ในระดับมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียน โดยอาศัยประสบการณ์จากการทดลองในครั้งนี้เป็นต้นแบบ เพื่อต่อยอดผลความสำเร็จของกิจกรรมไปสู่เยาวชนทั่วประเทศและสร้างโอกาสในการเรียนรู้ด้านอวกาศให้เข้าถึงเยาวชนทั่วประเทศ อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์อวกาศในประเทศไทยอย่างก้าวกระโดด และส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอวกาศไทยในอนาคต 

 

กลไลการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศในระดับเยาวชนของประเทศเป็นอีกสิ่งสำคัญที่ GISTDA ได้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด เพราะทิศทางของประเทศไทยจะถูกกำหนดด้วยทักษะที่พวกเขามี ดังนั้น การสร้างโอกาสในการเรียนรู้และเสริมสร้างทักษะด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศหรือวิทยาศาสตร์อวกาศเป็นสิ่งที่ควรได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนเพื่อผลประโยชน์ของประเทศในอนาคต  

 

ความสำเร็จของการปล่อยบอลลูนในครั้งนี้นับว่าเป็นหนึ่งในความสำเร็จเล็กๆ ทั้งทางด้านการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการนักวิจัยในอนาคตให้เกิดขึ้นในประเทศไทยแล้ว อีกทั้งการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนเพื่อจุดประกายความคิดเกี่ยวกับโอกาสของการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศในอนาคตที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้เริ่มต้นจากการเรียนรู้ เมื่อนำความสำเร็จเล็กๆมารวมกัน ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญจะพาไปสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ขอเพียงเราไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค มุ่งมั่นสู่เป้าหมาย เพื่ออนาคตที่ดีของคนไทยทุกคนร่วมกัน 

 

อ้างอิง ดร.อัมรินทร์ พิมพ์หนู วิศวกรชำนาญการ หัวหน้าโครงการ National Space Exploration (NSE), GISTDA