“ฐานเศรษฐกิจ” สื่อกระแสหลักในเครือเนชั่น ให้ความสำคัญต่อประเด็นวิกฤตสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ของโลก
เปิดตัว เว็บไซต์ใหม่ www.climatecenterthailand.co เพิ่มอีกช่องทาง และเตรียมจัดงาน Soft Opening เปิดตัว "Climate Center" ในเร็วๆนี้ เพื่อเป็นศูนย์กลางคอนเทนต์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อบรรลุ Net Zero
มหาเศรษฐีแค่ร้อยละ 1 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึงร้อยละ 16 ของทั้งหมดทั่วโลก ปริมาณก๊าซที่ปล่อยจำนวนนี้เทียบเท่ากับกลุ่มคนจนมากถึง 5,000 ล้านคน หรือร้อยละ 66 ของประชากรโลกถึงจะมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซที่เท่ากัน
แต่กลุ่มคนจนกลับมีความเสี่ยงเสียชีวิตจากสภาพอากาศสุดขั้วมากที่สุด (ปล่อยน้อยกว่าแต่กลับแบกรับความเสี่ยงมากสุด)
จากข้อตกลงปารีสในการประชุม COP21 (ล่าสุด COP28) กำหนดให้ประเทศสมาชิกจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 2°C และพยายามควบคุมไม่ให้เกิน 1.5°C เหนือระดับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมภายในปี 2643 หรือ ค.ศ. 2100
ทว่าแค่ปี 2566 อุณหภูมิโลกกลับทะยานสูงขึ้นทะลุ 1.4°C ไปแล้ว และปี 2566 ก็เป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ สูงกว่าสถิติเดิมที่บันทึกได้ในปี 2559
ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่ามีโอกาส 1 ใน 3 ที่ปี 2567 จะเป็นปีทุบสถิติร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์
นั่นหมายถึงโลกกำลังเดินไปสู่วิกฤตมากขึ้น และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนจกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
คำถามก็คือ เมื่อโลกถูกเผาจนเดือดเกินการควบคุม มนุษยชาติจะมีชีวิตอยู่รอดกันได้อย่างไร
นี่เป็นที่มาที่ “ฐานเศรษฐกิจ” ในฐานะสื่อกระแสหลักที่ให้ความสำคัญต่อประเด็นวิกฤตสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ของโลกที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
จึงได้มีการก่อตั้ง Climate Center ขึ้นเป็นศูนย์กลางคอนเทนต์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อบรรลุ Net Zero
มีวัตถุประสงค์เพื่อทำหน้าที่สื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจต่อวิกฤตโลกร้อน, สื่อความสร้างความตระหนักต่อประชาชนในการรับมือ และร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ขับเคลื่อนนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมิติต่างๆ เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
Climate Center เป็นสื่อออนไลน์นำเสนอข่าวสารผ่านช่องทางเว็บไซต์ที่เพิ่งเปิดตัวคือ climatecenterthailand.co
และ Online Program ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียทั้ง facebook, Youtube, Tiktok, X, และ Spotify อาทิ รายการเขียวรักษ์โลก, รายการ Earth Tone
รวมทั้งผลิตคลิปวิดีโอสั้นย่อยสาระในประเด็นที่ยาก ให้ง่ายต่อความเข้าใจตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย ทั้งประชาชนทั่วไป เยาวชนคนรุ่นใหม่ และยังจัดกิจกรรมร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อน
นอกจากนั้น จะมีการขับเคลื่อนนโยบายการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับภาครัฐและเอกชน เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065