zero-carbon

เปิดเผลวิจัย มข. ปี 2593 ไทยปลูกข้าวลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 43 ล้านไร่

    โครงการ TEEB ที่ได้รับทุนจาก UNEP และ EUPI หนุนไทยนำร่องที่แรกของเอเชีย วิจัยการปลูกข้าวยั่งยืน มอบ มข.ศึกษา พบดีกว่าปลูกแบบเดิมทุกมิติ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดต้นทุนการผลิต ระบุ พ.ศ.2593 ไทยมีพื้นที่ผลิตข้าวสูงถึง 43.7 ล้านไร่

เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2566 ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ United Nations Environment Programme และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดงานประชุมเสวนาพร้อมเผยผลการศึกษา เรื่อง “ข้าวยั่งยืน เพื่อชีวิตและธรรมชาติ” ภายใต้โครงการ The Economics of Ecosystems and Biodiversity (TEEB)  

โดยมี นายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย Prof. Salman Hussain ผู้แทนจาก United Nations Environment Programme แนะนำโครงการ TEEB Agri Food

เปิดเผลวิจัย มข. ปี 2593 ไทยปลูกข้าวลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 43 ล้านไร่

และปาฐกถาเรื่อง แนวโน้มมาตรฐานข้าวโลก สู่ทิศทางมาตรฐานข้าวไทย การผลิตข้าวเพื่อให้เราดูแลโลก โดย นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ร่วมด้วย การนำเสนอผลการศึกษา "Measuring what matters in sustainable rice production" โดย รศ.ดร.ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย มหาวิทยาลัยขอนแก่นและคณะ  

 

พร้อมทั้งการเสวนาหัวข้อ “ข้าวยั่งยืน จะยั่งยืนได้ต้องทำอย่างไร” โดย ดร.วัลลภ มานะธัญญา อุปนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ดร.อรรถวิชช์ วัชรพงศ์ชัย ผู้อำนวยการปฎิบัติการโครงการข้าว (GIZ) นายวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ นางสวณีย์ โพธิ์รัง ผู้แทนเกษตรกรปลูกข้าวยั่งยืน ร่วมเสวนา ณ ห้องประชุม Le Lotus1 โรงแรม Swissotel Bangkok Ratchada กรุงเทพมหานคร

รศ.ดร.ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)

รศ.ดร.ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) และ หัวหน้าคณะศึกษาโครงการประเมินค่าของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในการพัฒนาระบบผลิตข้าวในประเทศไทย กล่าวว่า งานวิจัยดังกล่าว อยู่ภายใต้การขับคลื่อนโครงการ The Economics of Ecosystems and Biodiversity (TEEB) For Agriculture and food หรือ TEEB AgriFood ประเทศไทย  ได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และ EU Partnership Instrument (EUPI)

โดยพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และผลกระทบที่มีต่อทุนมนุษย์ละทุนทางสังคม ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่คุณค่าของข้าวไทย โดยอาศัยกรอบการประเมินตามแนวทางของ TEEBAgriFood ซึ่งมีตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับแนวคิดเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืน และผลการศึกษายังสามารถช่วยเป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจเชิงนโยบายในการส่งเสริมรูปแบบเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio Circular Green economy model)

ซึ่งเป็นกรอบสำคัญในการพัฒนาประเทศ  และเนื่องจากประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารด้านการเกษตรของโลก จึงได้รับเลือกเป็นประเทศนำร่อง โดยเป็นตัวแทนของทวีปเอเชียในการศึกษาเรื่องดังกล่าว คณะผู้จัดทำคาดหวังผลการศึกษาจะนำไปสู่การผลักดันนโยบายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคการผลิตด้านการเกษตร โดยเฉพาะเปลี่ยนจากการผลิตข้าวแบบทั่วไปสู่การผลิตข้าวแบบยั่งยืน

เปิดเผลวิจัย มข. ปี 2593 ไทยปลูกข้าวลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 43 ล้านไร่

รศ.ดร.ภูมิสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการผลิตข้าวแบบยั่งยืนนั้น ข้าวต้องมีคุณภาพมีความปลอดภัยในอาหาร ปกป้องสุขภาพและคุ้มครองความปลอดภัยของเกษตรกรผู้ปลูก ผู้ปฏิบัติรวมถึงชุมชน และต้องเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ จากการใช้เทคโนโลยีการผลิตและการจัดการที่เพิ่มประสิทธิภาพ ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า  

ทั้งนี้ ในการศึกษาวิจัย ใช้การสร้างฉากทัศน์จำลองการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนพื้นที่ปลูกข้าวแบบทั่วไปและการปลูกข้าวแบบยั่งยืน ระยะเวลา 28 ปี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 - พ.ศ.2593 โดยจะเพิ่มสัดส่วนพื้นที่ปลูกข้าวแบบยั่งยืน ใน 4 กรณี  คือ  1.) ปกติ  2.)  ปานกลาง  3.) ค่อนข้างสูง  และ 4.) อัตราสูง

จากการศึกษาทั้ง 4 กรณีสันนิษฐานได้ว่า ในปี พ.ศ.2593 พื้นที่ผลิตข้าวทั้งหมดของประเทศ จะมีพื้นที่ปลูกข้าวแบบยั่งยืนเพิ่มสูงถึง 4 ล้านไร่ 9,600,000 ไร่  29,200,000 ไร่ และ 43,700,000 ไร่ ตามลำดับ 

เปิดเผลวิจัย มข. ปี 2593 ไทยปลูกข้าวลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 43 ล้านไร่

นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยได้เลือกสุ่มสำรวจครัวเรือนเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง เนื่องจากเป็นพื้นที่ปลูกข้าวรวมมากกว่า 80% ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ และมีผลผลิตรวมกันมากกว่า 80% โดยเป็นพื้นที่รับน้ำฝนและพื้นที่ในเขตชลประทาน

ผลการศึกษาพบว่า การปลูกข้าวแบบยั่งยืน ให้ผลที่ดีกว่าในทุกมิติ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม  ด้านเศรษฐกิจ และผลกระทบที่มีต่อทุนมนุษย์ละทุนทางสังคม ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่คุณค่าของข้าวไทย โดยผลที่คาดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทุนมนุษย์ ได้แก่ การมีสุขภาพดีขึ้น เนื่องจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรลดลง ทำให้ต้นทุนลดลงไปด้วย

ขณะเดียวกันผลผลิตกลับเพิ่มขึ้น จึงสร้างผลกำไรต่อไร่เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนั้นการไม่เผาหลังการเก็บเกี่ยวช่วยลด PM2.5 ทำให้ความเสี่ยงด้านสุขภาพของคนไทยลดลงด้วย ส่วนการเปลี่ยนแปลงในทุนธรรมชาติ อาทิ การส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากมลพิษทางอากาศซึ่งเกิดจากการเผาหลังการเก็บเกี่ยว การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและส่งเสริมคุณภาพน้ำ เป็นต้น  

รศ.ดร.ภูมิสิทธิ์ กล่าวในตอนท้ายว่า การปลูกข้าวยั่งยืนไม่เพียงสร้างประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก แต่ยังมีส่วนช่วยกระจายผลประโยชน์ในระดับสูงให้กับเกษตรกร โดยหลักๆ ผ่านการปรับปรุงผลผลิตข้าว ลดต้นทุนการเพาะปลูกส่งผลให้มีกำไรมากขึ้น ซึ่งกำไรจากการปลูกข้าวจะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่อาจจูงใจให้เกษตรหันมาใช้วิธีการปลูกข้าวยั่งยืนได้ 

“การปลูกข้าวแบบยั่งยืน ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับเกษตรกรไทย ซึ่งหลังจากนี้ ผลที่ได้จากการวิจัยจะนำไปสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวแบบยั่งยืนมากขึ้น โดยแนวทางจากการรับประกันความเสี่ยงเรื่องรายได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น รวมไปถึงการส่งเสริมเจ้าหน้าที่ให้เข้าไปแนะนำเกษตรกร เราต้องสร้าง ecosystem ให้ดี โดยหน่วยงานรัฐเข้ามาร่วมกันบูรณาการ เช่น กรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดิน ธกส. และอื่น ๆ มาร่วมสร้างเป็น prototype 

เบื้องต้นในฤดูกาลเพาะปลูกปีหน้า มีแผนจะให้มีการปลูกข้าวแบบยั่งยืน ใน 2 จังหวัด คือ ขอนแก่นและร้อยเอ็ด จังหวัดละ  20 หมู่บ้าน และจะขยายให้ถึง 50 หมู่บ้าน ภายใน 1 ปี พร้อมเพิ่มจำนวนเกษตรกรปลูกข้าวยั่งยืนในแต่ละหมู่บ้านด้วย โดยให้หน่วยงานรัฐสามารถมา Plug-in ได้ เมื่อทุกอย่างสมบูรณ์แล้วเราจะขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวยั่งยืนให้ได้ทั้งจังหวัด ภายใน 5 ปี หลังจากนั้น โมเดลนี้จะสามารถนำไปใช้ได้กับทุกจังหวัดในประเทศไทย โดยปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทของแต่ละพื้นที่

"ดังนั้น ถ้าสร้างตรงนี้ให้เห็นได้ชัด มันจะเกิดโมเมนตัมได้เร็วขึ้น” รศ.ดร.ภูมิสิทธิ์ กล่าว