ทีดีอาร์ไอชี้ 4 ความท้าทาย ลด CO2 ภาคขนส่ง 48 ล้านตัน

08 พ.ย. 2566 | 08:30 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ย. 2566 | 08:43 น.

ทีดีอาร์ไอ จี้รัฐเร่งขับเคลื่อน Net Zero ภาคขนส่ง ลดคาร์บอน 48 ล้านตัน ชี้ 4 ความท้าทาย ที่ต้องเร่งส่งเสริม ทั้ง ยานยนต์ไฟฟ้า ระบบขนส่งสาธารณะ การลงทุนรถไฟทางคู่ การขนส่งระหว่างเมือง และใช้เชื้อเพลิง สำหรับการเดินทางทางอากาศ

ประเทศไทยได้ประกาศบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งการเป้าหมายดังกล่าวกำลังเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคคมนาคมขนส่ง ที่คิดเป็นสัดส่วนราว 30 % ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดว่า จะสามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายได้หรือไม่ โดยเฉพาะการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่งทางถนนนั้น ได้กำหนดตามเป้าหมายต้องลดปล่อยคาร์บอนอย่างน้อย 40% ภายในปี ค.ศ. 2030

ดร.สุเมธ องกิตติกุล รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวในงานสัมมนานโยบายสาธารณะประจำปี 2566 ของทีดีอาร์ไอว่า ภาคขนส่งปล่อยคาร์บอนเป็นอันดับ 2 รองจากภาคพลังงาน และปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 30 % หรือราว 48 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศ ส่วนใหญ่มาจากการขนส่งทางถนนราว 72% รองลงมาจากการขนส่งทางราง นํ้า และอากาศราว 28% หากไม่มีมาตรการใด ๆ ออกมาเลย ในปี ค.ศ. 2050 ภาคขนส่งจะปล่อยคาร์บอนอยู่ที่ 202 ล้านตัน หรือประมาณ 2.5 เท่าของปัจจุบัน

ทั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคขนส่งไปสู่เป้าหมายได้นั้น เห็นว่ามี 4 ความท้าทายที่ภาครัฐจะต้องเร่งดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็น 1.การเร่งส่งเสริมใช้ยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี ตามนโยบาย 30@30 ยังมีความล่าช้า โดยเฉพาะการส่งเสริมรถโดยสาร รถบรรทุก และรถกระบะยังไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร เห็นได้จากยอดการจดทะเบียนรถอีวีสะสม ณ เดือนสิงหาคม 2566 รถจักรยานยนต์ 30,401 คัน คิดเป็นสัดส่วน 5% จากเป้า 650,000 คัน รถโดยสาร 2,347 คันและรถบรรทุก 251 คัน คิดเป็นสัดส่วน 8% จากเป้า 33,000 คัน ขณะที่รถยนต์นั่ง 56,587คัน และรถกระบะ 151 คัน คิดเป็นสัดส่วน 13% จากเป้า 440,000 คัน

ทีดีอาร์ไอชี้ 4 ความท้าทาย ลด CO2 ภาคขนส่ง 48 ล้านตัน

2.ระบบขนส่งสาธารณะในเมืองไม่พร้อม ทำให้ประชาชนยังใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเป็นหลัก โดยจะเห็นว่า รถโดยสารและรถไฟฟ้าครอบคลุมพื้นที่เพียง 73% ของกรุงเทพฯ เป็นในส่วนรถไฟฟ้า 6 เส้นทางยาว 189 กม. ครอบคลุมพื้นที่ 28% ของกรุงเทพฯ และรถโดยสาร 269 เส้นทางยาว 4,982 กม.ครอบคลุมพื้นที่ 57% ของกรุงเทพฯ ซึ่งปัญหาหลัก ๆ มาจากต้นทุนการเดินทางและ อัตราค่าโดยสารค่อนข้างสูง สิ่งอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้ายังไม่เพียงพอ

3.การลงทุนรถไฟทางคู่ยังไม่ตอบโจทย์การขนส่งระหว่างเมือง เนื่องจากโครงข่ายของรถไฟไม่ครอบคลุมเพียงพอ ขบวนรถไฟและความถี่ในการให้บริการขนส่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ และการเดินทางใช้เวลามากและคุณภาพการบริการไม่ดี เป็นต้น ขณะที่การพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟมีความล่าช้ารถไฟทางคู่คืบหน้าเพียง 70%

รวมถึงการขนส่งสินค้าทางรางมีน้อยมาก การขนส่งสินค้าทางรางไม่ตอบโจทย์การขนส่งสินค้าทางรถไฟยังมีข้อจากัด หัวรถจักรไม่เพียงพอมีเพียง 164 หัวที ใช้การได้ ไม่มีลานขนถ่ายสินค้าส่าหรับรถไฟ ต้นทุนสูงเนื่องจากต้องยกขนหลายรอบ

4.การเดินทางทางอากาศที่เพิ่มขึ้นทำให้การปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งก่อนวิกฤต Covid-19 การเดินทางทางอากาศเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% แต่คาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ. 2050 การเดินทางจะเพิ่มขึ้นจากปี ค.ศ. 2019 ถึง 60-90%

ดร.สุเมธ กล่าวอีกว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินงาน เพื่อให้ภาคขนส่งบรรลุเป้าหมายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะต้องส่งเสริม EV bus, bike และ truck ลดการใช้รถยนต์ในเขตเมือง ยกเลิกอุดหนุนนํ้ามันเชื้อเพลิง และเก็บภาษีนํ้ามันตามปริมาณคาร์บอน เปลี่ยนการเดินทางสู่ระบบราง โดยเพิ่มขบวนรถและบริหารเที่ยวการเดินรถไฟ พัฒนาความสามารถในการรองรับการขนส่งทางรางและปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของรถไฟและเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงสะอาด

ขณะที่ภาคการขนส่งทางอากาศ ต้องเสริมด้วยนํ้ามันอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) และให้สายการบินใช้เครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงลดการเดินทางทางอากาศระยะทางสั้น