ปตท. ดันธุรกิจใหม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เดินหน้าฮับ LNG อาเซียน

05 ก.ย. 2566 | 12:56 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ย. 2566 | 13:02 น.

ปตท. กางวิสัยทัศน์ สร้างจุดเปลี่ยนสำคัญจากธุรกิจพลังงานไปสู่ธุรกิจใหม่ สร้างกำไร 30% ในปี 2030 พร้อมมุ่งความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รับ Net Zero พร้อมเดินหน้าฮับ LNG อาเซียน

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้การดำเนินการตามวิสัยทัศน์ของปตท. ในการสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญจากธุรกิจพลังงานไปสู่ธุรกิจใหม่ หรือ “Powering Life with future energy and beyond” ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง 

โดยในปี 2030 หรือ พ.ศ.2573 ปตท. ตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวในภูมิภาคอาเซียน (Regional LNG Hub) ให้ได้ 9 ล้านตันต่อปี ส่วนธุรกิจไฟฟ้า จะต้องมีพลังงานทดแทน 15,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่ 3,629 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ มีการกำหนดแนวทางการสร้างกำไรจากธุรกิจใหม่ 30% ในปี 2030 พร้อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ปี 2040 และเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ปี 2050 ส่วนบริษัทในกลุ่มปตท. ทุกบริษัทจะต้องตั้งเป้าหมาย Net Zero ให้เร็วกว่าที่ประเทศตั้งเป้าไว้ในปี 2065

นายอรรถพล กล่าวว่า การตั้งวิสัยทัศน์ใหม่ในช่วง 2 ปี ปตท.จะดูแลธุรกิจเดิม พร้อมสร้างธุรกิจใหม่ ตามภารกิจสร้างความมั่นคง โดยธุรกิจเดิมที่เป็นฟอสซิลกว่า 70-80% จะยังคงมีอยู่ แต่จะค่อย ๆ เพิ่มพลังงานทดแทน เพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขันในธุรกิจเดิมและจุดประกายธุรกิจใหม่ให้เกิดขึ้น

รุกพลังงานสะอาด EV

สำหรับการผลักดันธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะเรื่องของพลังงานหมุนเวียน และพลังงานสะอาดนั้น ปตท. ตั้งเป้าหมายการส่งเสริมพลังงานสะอาดจาก 12,000 เมกะวัตต์ เป็น 15,000 เมกะวัตต์ ปี 2030 ส่วนธุรกิจกักเก็บพลังงาน ปตท.ได้ศึกษางานวิจัยทั่วโลก ทั้งอเมริกาและจีน ดำเนินการผ่าน บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC จะร่วมกับพาร์ทเนอร์ดึงเทคโนโลยีเข้ามาในประเทศ 

เช่นเดียวกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ซึ่ง ปตท. พร้อมส่งเสริมตามนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมายประเทศ โดยเริ่มเข้าไปลงทุนเกือบทั้ง Value Chain เพื่อให้เกิดการลงทุนในธุรกิจใหม่ในประเทศ เช่น จัดทั้งตั้งโรงงานแบตเตอรี่, โรงงานผลิตและประกอบรถอีวีแบบครบวงจรรูปแบบใหม่, บริการ EV Charger, บริการสวอพ แอนด์ โก 

รวมทั้ง บริการสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบบไม่ต้องรอชาร์จ และบริการเช่ารถ EVme ที่ปีจุบันมีรถอีวีบริการราว 800 คัน อัตราการเช่า 80% การส่งเสริมเทคโนโลยีการประกอบแบตเตอรี่แพ็ค โดยการนำแบตเตอรี่มาจัดเรียง การวางระบบการจ่ายพลังงานถือเป็นเทคโนโลยี ซึ่งกลุ่ม ปตท.ร่วมมือกับ Gotion บริษัทชั้นนำในจีนที่เชี่ยวชาญแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน

นอกจากนี้ ยังมือกับ บริษัท Contemporary Amperex Technology Co., Ltd (CATL) ตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบ Cell-To-Pack (CTP) ในประเทศไทย เพื่อผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อเสริมศักยภาพด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ซึ่งโรงงานผลิตรถอีวีต้องใช้แบตเตอรี่ โดยลูกค้าที่ผลิตส่วนใหญ่เป็นลูกค้าของ CATL อยู่แล้ว ซึ่งทั้งหมดนี้ ปตท. พยายามผลักดันธุรกิจให้ไปได้ในประเทศ

นายอรรถพล กล่าวว่า ปตท.ยังผลักดันเทคโนโลยีไฮโดรเจน ซึ่งจะเป็น Next Gen ของการใช้พลังงาน จากการที่ปัจจุบันต้นทุนยังคงสูง ปตท.จึงร่วมมือกับ OR, โตโยต้า และ BIG เปิดสถานีนำร่องทดลองใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงแห่งแรกของไทย ที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยการนำรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง รุ่นมิไร (Mirai) ของโตโยต้า มาทดสอบการใช้งานด้วย

ธุรกิจด้านสุขภาพ-การแพทย์

นอกเหนือจากนั้น ยังมีธุรกิจกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต โดยร่วมมือกับหลายองค์กร ช่วยพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ และระบบสาธารณสุข เช่น การขับเคลื่อนธุรกิจยา อาหารเพื่อสุขภาพ วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ผ่านบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด หรือ การ ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยวิจัย ผลิตนวัตกรรมโมเลกุลมณีแดง หรือ RED-GEMs ถือเป็นนวัตกรรมต้านเซลล์ชรา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเริ่มทดลองกับคน และหากสำเร็จแล้วจะเกิดธุรกิจใหม่ในไทย

อีกทั้ง ปตท. ยังได้ลงทุนในบริษัท โลตัส ผู้ผลิตยาที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน ซึ่งประสบความสำเร็จเกี่ยวกับยาต้านมะเร็งที่สหรัฐ เพื่อหาช่องทางสร้างศูนย์วิจัยที่ไทย และก่อตั้งบริษัท นิวทรา รีเจนเนอเรทีฟ โปรตีน (NRPT) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Innobic และ Nove Foods เพื่อผลิตอาหารประเภท Plant-based เพื่อจำหน่ายในไทยและในภูมิภาคเอเชีย พร้อมต่อยอดตัวธุรกิจ LNG โดยใช้ความเย็นที่เหลือมาส่งเสริมกลุ่มธุรกิจอาหารด้วย

นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท.ได้ศึกษาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) ในพื้นที่อ่าวไทย ซึ่งยังต้องอาศัยภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนด้านกฎระเบียบ ร่วมถึงการนำคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์สูงสุด (CCU) เพื่อต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ลดการปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ มี 4 โครงการ ได้แก่ โครงการโซเดียม ไบคาร์บอเนต, โครงการ Animal Protein, โครงการ Methanal และโครงการ Nano Calcium Carbonate

การส่งเสริมงานวิจัย

นายอรรถพล กล่าวว่า งานสำคัญที่พร้อมส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง คือ ด้านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งแผนการพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ของ ปตท.ได้พัฒนาสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) เป็นสถาบันอุดมศึกษาและโรงเรียนวิทยาศาสตร์ กลุ่ม ปตท.ในภาคตะวันออก 

ทั้งนี้เพื่อผลักดันนักศึกษาที่จบออกมาให้มีเวทีที่จะรองรับในประเทศ โดยปตท.ผลักดันผลงานวิจัยจากหิ้งขึ้นสู่ห้าง และพยายามผลักดันธุรกิจและเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยอีกด้วย